เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่า คนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเขาเรียนหนังสือกันอย่างไร เรียนที่ไหน และเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง… กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีอันยาวนานถึง 417 ปี มีความเจริญทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง ระบบเศรษฐกิจและสังคม สำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากชนชาติต่างๆ ในเอเชียที่มีการเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาเพื่อตั้งหลักแหล่งหากินในดินแดนไทย เช่น จีน มอญ ญวน เขมร อินเดีย และอาหรับ เป็นต้น
คนสมัยอยุธยา เขาเรียนอะไรกันบ้าง?
โดยตั้งแต่รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ชาวตะวันตกก็ได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยเหมือนกัน ได้แก่ ชาติโปรตุเกสเข้ามาเป็นชาติแรก และมีชนชาติอื่นๆ ติดตามมา เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น มีผลให้การศึกษาไทยมีความเจริญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาเพื่อนๆ ทุกคนมาไขข้อสงสัยกันว่าคนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเขามีรูปแบบการศึกษาแบบไหนกันบ้าง พร้อมทั้งมารู้จัก “จินดามณี” หนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย
การศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 2310) การศึกษาได้มีการเปลี่ยนรูปต่างไปจากการศึกษาในสมัยกรุงสุโขทัย (ที่มีการเรียนสอนในวิชาภาษาบาลี ภาษาไทย และวิชาสามัญขั้นต้น โดยได้มีการแบ่งสำนักเรียนออกเป็น 2 แห่ง ได้แก่ วัด ที่เปิดสอนนักเรียนของบรรดาบุตรหลานขุนนางและราษฎรทั่วไป และสำนักราชบัณฑิต ที่เปิดสอนแต่เฉพาะเจ้านายและบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น) ส่วนการศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงตอนต้นนั้นจะเป็นการศึกษาทั่วไปที่เปิดสอนในวัด โดยราษฎรจะนิยมพาบุตรหลานไปฝากกับพระ เพื่อเล่าเรียนหนังสือ พระก็จะรับเด็กๆ ที่ผู้ปกครองมาฝากไว้เป็นลูกศิษย์ เพื่อทำการอบรมในทางศาสนา สอนหนังสือภาษาไทย ภาษาบาลี ตามสมควร
เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ชาย) ก็จะต้องทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน (โดยสื่บเนื่องมาจากแผ่นดินในสมัยพระเจ้าบรมโกศ เพราะพระองค์ทรงกวดขันการศึกษาทางพระศาสนามาก บุตรหลานข้าราชการคนใดที่จะถวายตัวทำราชการ ถ้ายังไม่ได้อุปสมบท ก็ไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ และประเพณียังถือได้ว่าเป็นตัวกำหนดที่ทำให้ทุกวัดในสมัยนั้นต้องเป็นโรงเรียน และพระภิกษุทุกรูปจะมีหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนหนังสือเด็กๆ ไปด้วย)
ซึ่งความแตกต่างของคำว่า “โรงเรียน” ในเวลานั้น มีลักษณะที่ต่างไปจากคำว่าโรงเรียนในเวลานี้ กล่าวคือ ไม่อาคารปลูกขึ้นสำหรับใช้เป็นที่เรียนโดยเฉพาะ แต่จะรู้ว่าตนเองเป็นศิษย์ใครเท่านั้น โดยสถานที่ที่ใช้ในการสอนก็คือ กุฎิ ของพระภายในวัดนั่นเอง
ต่อมาในรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช การศึกษาของไทยก็ได้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น เพราะได้มีกาเรียนการสอนทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และจีน ปรากฏตามพงศาวดารว่า สมเด็จเจ้าฟ้าตรัสน้อย โอรสองค์หนึ่งของ สมเด็จพระเพทราชา หรือ สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว (พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 28) ได้ทรงศึกษาภาษาต่างๆ จนชำนาญทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ฝรั่ง เขมร ลาว ญวน พม่า รามัญ และจีน ทั้งยังทรงศึกษาด้านวิชาโหราศาสตร์ และแพทยศาสตร์จากอาจารย์ต่างๆ อีกด้วย
โดยในเวลาต่อมา เมื่อวิชาภาษาไทยได้มีการวางรากฐานที่ดีแล้ว พระโหราธิบดี ก็ได้ประพันธ์หนังสือ “จินดามณี” ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2215 เพื่อถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีเนื้อหาคลอบคลุมในเรื่องของการใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก (การสะกดคำ) การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข และการสะกดการันต์ ฯลฯ และได้ถูกนำมาใช้เป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทยสืบต่อมาเป็นเวลานาน
รูปแบบการจัดการศึกษา มีดังนี้
1. การศึกษาวิชาสามัญ
เน้นการอ่าน เขียน เรียนเลข อันเป็นวิชาพื้นฐาน สำหรับการประกอบสัมมาอาชีพของคนไทย โดยได้มีการใช้หนังสือจินดามณีในการเรียนการสอน
2. การศึกษาทางด้านศาสนา
วัดยังมีบทบาทมากในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ทรงส่งเสริมพุทธศาสนา โดยทรงวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าประชาชนคนใดไม่เคยบวชเรียนเขียนอ่านมาก่อน จะไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา มีนักสอนศาสนาหรือมิชชันนารีได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและวิชาอื่นๆ ขึ้นเรียกโรงเรียนมิชชันนารีนี้ว่า “โรงเรียนสามเณร” เพื่อชักจูงให้ชาวไทยหันไปนับถือศาสนาคริสต์
3. การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี
ปรากฎว่า มีการสอนทั้งภาษาไทยบาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และภาษาจีน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีวรรณคดีหลายเล่ม เช่น เสือโคคำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ และกำสรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น
4. การศึกษาของผู้หญิง
มีการเรียนวิชาชีพ การเรือนการครัว ทอผ้า ตลอดจนกิริยามารยาท เพื่อป้องกันไม่ให้เขียนเพลงยาวโต้ตอบกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงที่อยู่ใน ราชตระกูลเริ่มเรียนภาษาไทยตลอดทั้งการประพันธ์ด้วย ในสมัยนี้โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่นำวิธีการทำขนมหวานที่ใช้ไข่มาเป็นส่วนผสม เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง มาเผยแพร่จนขนมเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ขนมหวานของไทยในปัจจุบัน
5. การศึกษาวิชาการด้านทหาร
มีการจัดระเบียบการปกครองในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแยกราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนออกจากกัน หัวหน้าฝ่ายทหารเรียกว่า “สมุหกลาโหม” ฝ่ายพลเรือนเรียกว่า “สมุหนายก” ในรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงจัดวางระเบียบทางด้านการทหาร มีการทำบัญชีคือการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหาร ผู้ชายอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปถึง 60 ปี เรียกว่าไพร่หลวง เชื่อว่าต้องมีการศึกษาวิชาการทหารเป็นการศึกษาด้านพลศึกษาสำหรับผู้ชาย ฝึกระเบียบวินัยเพื่อฝึกอบรมให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ
สถานศึกษา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ยังคงเหมือนกับสมัยสุโขทัยแต่ที่แตกต่างออกไปก็คือมี “โรงเรียนมิชชันนารี” เป็นโรงเรียนที่ชาวตะวันตกได้เข้ามาสร้างเพื่อเผยแพร่ศาสนาและขณะเดียวกันก็สอนวิชาสามัญด้วย
เนื้อหาวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอน
โดยได้มีการแบ่งออกเป็น วิชาชีพและวิชาสามัญ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. วิชาสามัญ มีการเรียนวิชาการอ่าน เขียน เลข ใช้แบบเรียนภาษาไทยจินดามณี
2. วิชาชีพเรียนรู้กันในวงศ์ตระกูล สำหรับเด็กผู้ชายได้เรียนวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่างๆ ที่พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ ส่วนเด็กผู้หญิงเรียนรู้การบ้านการเรือนจากพ่อแม่สมัยต่อมาหลังชาติตะวันตกเข้ามาแล้วมีการเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การทำน้ำประปา การทำปืน การพาณิชย์ แพทยศาสตร์ ตำรายา การก่อสร้าง ตำราอาหาร เป็นต้น
3. ด้านอักษรศาสตร์ มีการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ มีวรรณคดีหลายเล่มที่เกิดขึ้น เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์และกำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น อีกทั้งมีการสอนภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และจีน
4. วิชาจริยศึกษา เน้นการศึกษาด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น เช่นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงกวดขันในเรื่องการศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาก มีการกำหนดให้ผู้ชายที่เข้ารับราชการทุกคนจะต้องเคยบวชเรียนมาแล้ว เกิดประเพณีการอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี นอกจากนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เสรีภาพไม่กีดกันศาสนา ทรงอุปถัมภ์พวกสอนศาสนา เพราะทรงเห็นว่าศาสนาทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี
5. วิชาพลศึกษา ยังคงเหมือนสมัยสุโขทัย
บทความที่น่าสนใจ
- คณะโบราณคดี เรียนอะไรบ้าง? จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง? | 7 ขั้นตอนการสมัคร SU-TCAS
- ไขข้อสงสัย? เมื่อแม่หญิงการะเกดมีรอบเดือน ทำไมต้อง “ขี่ม้า”
- ไพเราะ งดงาม เปิดความหมายโคลง-กลอน อีกหนึ่งฉากสุดละมุน ในละครบุพเพสันนิวาส
- รวมข้อมูลตัวละครจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ไทย
- รวมรายชื่อหนังสือประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครใน บุพเพสันนิวาส
- ประวัติการศึกษา นักแสดง บุพเพสันนิวาส เรียนจบที่ไหนกันบ้าง?
ข้อมูลและภาพ : www.moe.go.th, www.baanjomyut.com, www.su-usedbook.com, https://mello.me