มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือที่รู้จักในชื่อ “บางมด” เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ที่มีชื่อเสียงด้าน วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สถาปัตยกรรมศาสตร์ เปิดทำการสอน 8 คณะ 1 สถาบัน 1 บัณฑิตวิทยาลัย 1 โครงการร่วมบริหาร ทั้งในหลักสูตรปกติ สองภาษา และนานาชาติ ในระดับปริญญาตรี โท และเอก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ประวัติ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (King Mongkut’s University of Technology Thonburi) เดิมคือ “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี” ซึ่งเป็นวิทยาลัยในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ที่ถนนประชาอุทิศ (ซอยสุขสวัสดิ์ 48) แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
ในระยะเริ่มแรก วิทยาลัยรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายวิทยาศาสตร์ เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง มีกำหนด 3 ปี ใน 4 สาขาวิชา คือ
1. ช่างก่อสร้าง
2. ช่างไฟฟ้า
3. ช่างยนต์
4. ช่างเทคนิคการผลิต
ในปี พ.ศ. 2506 ยูเนสโก (UNESCO) และกองทุนพิเศษสหประชาชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่วิทยาลัย มีโครงการ 5 ปี โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เปิดสอนอยู่ ให้ทุนการศึกษาอบรมเพิ่มเติมแก่อาจารย์ และจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษาให้แก่วิทยาลัยตามความต้องการ ในปี พ.ศ. 2508 วิทยาลัยโดยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการ และคณะรัฐมนตรี ให้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โดยมีหลักสูตร 2 ปี ต่อจากประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก ยูเนสโก และกองทุนพิเศษสหประชาชาติอีก โดยจัดเป็นโครงการ 4 ปี เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในรูปแบบเดียวกับโครงการแรก คือ ผู้เชี่ยวชาญ ทุนการศึกษา อบรมแก่อาจารย์ และอุปกรณ์การศึกษา
หลังจากนั้น วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ได้รวมกับ วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ได้ยกระดับขึ้นเป็น “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี” เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2514 โดยเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยระดับอุดมศึกษา เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เปลี่ยนสภาพเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2541 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนที่ 11 ก ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2541
ตราประจำมหาวิทยาลัย
ตราสัญลักษณ์พระราชทาน “ตราพระราชลัญจกร หรือตราสัญลักษณ์แบบทางการ” ลักษณะของตราเชิญมาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ (ตราประจำพระองค์) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลักษณะของตรา ประกอบด้วยลายกลางเป็นตราพระมหามงกุฎ ซึ่งนำมาจากพระบรมนามาภิไธยเดิม “มงกุฎ” และเป็นศิราภรณ์สำคัญหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ มีฉัตรบริวารขนาบอยู่บริเวณด้านข้างทั้งสอง โดยสัญลักษณ์ทั้งหมดจะอยู่ภายในวงกลม 2 ชั้น มีอักษรทั้งภาษาไทย และอังกฤษ แสดงนามมหาวิทยาลัย กำกับอยู่ภายในโค้งด้านล่างของวงกลม
สีประจำมหาวิทยาลัย
คือ สีแสด – เหลือง โดยสีแสดเป็นสีประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย พระผู้ทรงริเริ่มแนวคิดสมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย ส่วนสีเหลืองเป็นสีประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระผู้ทรงพระราชทานนามมหาวิทยาลัย และเมื่อรวมกันจึงเป็นสีที่แสดงถึงความจงรักภักดี และเป็นสีที่แสดงถึงความเคลื่อนไหว ความไม่หยุดนิ่ง ความแข็งแรง ทั้งเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นเปรียบเทียบได้กับเครื่องมือเครื่องจักรที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเครื่องมือเครื่องจักรทั้งหลาย ถือเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
คือ ดอกธรรมรักษา เป็นไม้ดอกที่พบมากในบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวิทยาลัย และมีสีของดอกที่คล้องกับสีประจำมหาวิทยาลัยฯ นอกจากนี้ยังมีนามที่เป็นมงคลต่อนักศึกษา และบุคลากรในด้านจริยธรรมกล่าวคือสอดคล้องกับคติธรรมที่ว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
1 .เพลงพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยประพันธ์ โดยนายก่อเกียรติ ชาตะนาวิน ในปี 2542 บทเพลงมีเนื้อร้องที่ครอบคลุมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
2. เพลงมาร์ชห้ามุ่ง บทเพลงนี้ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เป็นบทเพลงที่สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ห้ามุ่ง ประพันธ์โดยนายไกวัล กุลวัฒโนทัย
3. เพลงลูกพระจอม โดยบทเพลงนี้ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ขับร้องสู่สาธารณชนครั้งแรกในกิจกรรมถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหาพิชัยมงกุฎ ขับร้องโดยวงประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ที่ตั้งมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกเป็น 4 วิทยาเขต ดังนี้
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : 126 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140 โทรศัพท์ 0-2427-0039, 0-2470-8000 โทรสาร 0-2427-8412
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) : 49 ซอยเทียนทะเล 25 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150 โทรศัพท์ 0-2452-3456 โทรสาร 0-2452-3455
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) : 209 หมู่ 1 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี 70150 โทรศัพท์ 0-2470-9962
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ศูนย์บริการทางการศึกษาในเมือง) : 110/1 ถนนกรุงธนบุรี แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600 โทรศัพท์ 0-2470-9920 ถึง 1 โทรสาร 0-2673-9433
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : King Mongkut’s University of Technology Thonburi
ชื่อย่อ : มจธ. / KMUTT
คติพจน์ : ทนโต เสฏโฐ มนุสเสสุ (The trained man wins) แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด
สถาปนา : 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 (วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี) และ 24 เมษายน พ.ศ. 2514 (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า)
ประเภท : มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
เว็บไซต์ : www.kmutt.ac.th
Facebook : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี