ภาพวันวาน ภาพเก่า

เปิดภาพในอดีต!! จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ ตั้งแต่ยุคก่อน 2500

Home / เรื่องเล่ามหาวิทยาลัย / เปิดภาพในอดีต!! จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ ตั้งแต่ยุคก่อน 2500

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้จัดงาน “จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ” ขึ้นมาเนื่องในโอกาสที่ จุฬาฯ ถูกสถาปนามาครบ 100 ปี นับว่าเป็นงานใหญ่ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว การก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของชาวสยาม มาร่วมกันย้อนภาพอันงดงามของมหาวิทยาลัยแห่งนี้กันดีกว่า สถาบันการศึกษาที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ผ่านภาพถ่ายที่ถูกบันทึกเอาไว้ใน 1 ศตวรรษแห่งความภูมิใจของชาวจุฬาฯ

จุฬาฯ 100 ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ

ห้องนิสิตสัมพันธ์
ห้องนิสิตสัมพันธ์

ซึ่งถือกำเนิดมาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2445 เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” แล้วพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า กว่า 900,000 บาท ให้สร้างอาคารเรียนและตึกบัญชาการบนที่ดินพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ในอำเภอปทุมวัน โดยเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458

จากนั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น กล่าวคือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459

โดยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่

  1. คณะรัฐประศาสนศาสตร์
  2. คณะแพทยศาสตร์
  3. คณะวิศวกรรมศาสตร์
  4. คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

หลังจากนั้น ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2503 เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไปในศาสตร์และศิลปวิทยาการต่างๆ โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น และเริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมและการบริการทางวิชาการให้แก่สังคมสืบต่อมาจนถึงในปัจจุบัน…

อาคารเรียนหนึ่งในคณะวิทยาศาตร์ เมื่อปี 2509
อาคารเรียนหนึ่งในคณะวิทยาศาตร์ เมื่อปี 2509

ภาพนี้เป็นอาคารเรียนหนึ่งในคณะวิทยาศาตร์เมื่อปี 2509 (ถ้าจำไม่ผิดตึกนี้คือตึกเคมีเทคนิคในปัจจุบัน) จะสังเกตเห็นได้ว่าถนนด้านหน้าอาคารยังเป็นทางดินโรยด้วยอิฐหัก ด้านหน้าจะมีศาลเล็กๆ อยู่ด้วย

ถนนหลักด้านหน้าตึกบัญชาการ
ถนนหลักด้านหน้าตึกบัญชาการ

ในภาพจะเห็นถนนหลักด้านหน้าตึกบัญชาการ (ซึ่งก็คืออาคารเทวาลัยฝั่งวิศวะในปัจจุบัน) และดูเหมือนในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีงานสำคัญ เพราะมีอาคารชั่วคราวอยู่ด้านหน้าตึกด้วย

ตึกมหาจุฬาลงกรณ์
ตึกมหาจุฬาลงกรณ์

ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ในอดีต… ปัจจุบันหลายท่านอาจคุ้นตา เนื่องจากบัณฑิตจุฬาฯ จะต้องมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนสำเร็จการศึกษาออกไป สวยงาม เด่นสง่า สมเป็นอาคารบัญชาการหลังแรกของมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว

บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนของนิสิตในช่วงระยะเวลาก่อนปี 2500
บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนของนิสิตในช่วงระยะเวลาก่อนปี 2500
 อาคารหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คือตึกเก่าๆ ข้างคณะวิศวะ) ความสำคัญของอาคารนี้คือ ในสมัยก่อนตึกนี้มีจุดมุ่งหมายให้เป็น “สโมสรสถาน” ขององค์การบริหารนิสิต โดยคนที่ออกเงินให้คือ “พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นใครก็จะบอกว่า ท่านผู้นี้เป็นตาของ “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์” นั่นเอง ซึ่งพระองค์เจ้าพระองค์นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นหน้าบัน (พื้นที่สามเหลี่ยมของหลังคา) จะเป็นรูปตะบองในวงจักร อันเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลจักรพงษ์นั่นเอง

อาคารนี้สร้างเมื่อปี 2473 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในปี 2497 ก็ได้รับพระราชทานเงินจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ให้ขยายต่อด้านหลัง ในภาพจะเห็นว่าเป็นอาคารที่ดูเด่นและเท่มาก มองไปด้านหลังจะเห็นตึกฟิสิกส์ ของคณะวิทยาศาสตร์ได้อย่างชัดเจน เห็นได้ว่า ในสมัยนั้นยังไม่มีอาคารใดๆ มาบดบัง ปัจจุบัน “ตึกจักรพงษ์” ได้กลายเป็นหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จะรวบรวมเอาทุกสิ่งอย่างอันเป็นอดีตของจุฬาฯ มาเก็บไว้ที่นี่

รักบี้ จุฬาฯ
การแข่งขันรักบี้ จุฬาฯ
ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

อาคารสถาปัตยกรรม 1 ออกแบบโดยช่างที่ชื่อว่า ลูเซียง คอปเป้ และนายศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา สร้างเสร็จเมื่อปี 2483 ในรัชสมัย ร.8 โดยลักษณะอาคารเป็นอาคาร 3 ชั้น เน้นความเรียบง่าย ไม่เน้นลวดลายที่หรูหราและรกรุงรัง ตามแบบสมัยนิยมของยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปัจจุบันอาคารนี้คือส่วนหน้าของอาคารในคณะสถาปัตย์ ที่ต่อมามีการต่อเติมส่วนข้างและส่วนหลัง จนใหญ่โตดังที่เห็นในปัจจุบัน และคลองด้านหน้าก็ถูกถมจนหมด เหลือเป็นเพียงแค่สระน้ำเท่านั้น

—————————————–

ข้อมูลและภาพ : www.chula.ac.th, Facebook อภินิหารตำนาน “จุฬาฯ”