การแสดง มศว ศิลปวัฒนธรรม ไทยจัน

ชมภาพ มหกรรมการแสดงไทย-จีน สุดยิ่งใหญ่ เพิ่มการเรียนรู้หลักสูตรศิลปกรรมฯ มศว

Home / กิจกรรม / ชมภาพ มหกรรมการแสดงไทย-จีน สุดยิ่งใหญ่ เพิ่มการเรียนรู้หลักสูตรศิลปกรรมฯ มศว

ศิลปะการร่ายรำหรือนาฏศิลป์เป็นการแสดงออกถึงความเป็นอารยะของประเทศ โดยมีมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ อนุรักษ์และถ่ายทอดสืบต่อในรูปแบบตามกาลสมัย เช่นเดียวกับงาน “มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของล่าสุด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์องค์ความรู้ และการพัฒนาการแสดงของไทยกับจีนให้แก่การเรียนการสอนในศิลป์และศาสตร์ด้านนี้ ไม่เฉพาะความเพลิดเพลินที่จะได้รับจากการชมการแสดงซึ่งสวยงามและหาดูหาชมได้ไม่บ่อยนักเช่นนี้

มหกรรมการแสดงไทย-จีน

การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ครั้งนี้ ประกอบด้วย 20 ชุดการแสดงจากไทยและจีนสลับไปมา อาทิ การแสดงจากจีน ประกอบด้วย การแสดงชุดความรื่นเริงในเทศกาลตรุษจีน การแสดงประสานเสียงจากฝ่ายจีนในชุดที่ชื่อว่า คืนหนึ่งในปักกิ่ง , ระบำฮู หลุน เป่ย เอ่อ การขับร้องเดี่ยวในเพลง ‘จิตใจที่งดงาม’ การแสดงชุด ความทรงจำเมืองหางโจว ระบำหงเจี่ยเอ่อ เป็นต้น

ส่วนการแสดงที่นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ได้นำมาแสดงให้ชม ได้แก่ นาฎลีลาล้านนา ลีลาสะบัดชัยมงคล การแสดงดนตรีไทย “เดี่ยวอาหนูสู่สัมพันธ์ไทยจีน” การบรรเลงหมู่กู่เจิ้ง เพลงสากลและเพลงจีน กาแสดงชุด บุหงาการังนารี

รำมาลัยข้าวตอกดอกไม้สวรรค์

การแสดงรำ ‘มาลัยข้าวตอกดอกไม้สวรรค์’ การแสดงชุดหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา เป็นต้น สร้างรอยยิ้มความสุขและเสียงปรบมือแห่งความชื่นชอบประทับใจชุดแล้วชุดเล่า

เพราะกว่าที่การแสดงแต่ละชุดจะสามารถนำมาโชว์ได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนัก อาทิ การแสดงชุด ระบำฮู หลุน เป่ย เอ่อร์ ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้อย่างมากเมื่อนักแสดงสาวจีนร่วม 10 คน ได้หยิบถ้วย 4 ใบที่อยู่บนศรีษะมาถือไว้ที่มือข้างละ 2 ใบพร้อมกับร่ายรำด้วยความพลิ้วไหวตลอดเวลา โดยที่ไม่มีอะไรยึดติดเอาไว้เลยก่อนที่จะเอาถ้วย 4 ใบขึ้นไปไว้ในศรีษะเหมือนเดิม นี่คือระบำพื้นบ้านของชาวมองโกเลียผสมผสานการเต้นแบบใหม่ แสดงลักษณะเฉพาะของชนเผ่ามองโกลว่า สามารถจะเทินสิ่งของไว้บนศรีษะโดยไม่ตกหล่น หรือแม้แต่แก้วเสียงสูงแหลมดังกังวานหวานของนักร้องสาวชาวจีนตัวเล็กๆ คนหนึ่งในบทเพลง จิตใจที่งดงาม ก็สะท้อนให้เห็นความพากเพียรเรียนรู้ทักษะการร้องเพลงในแบบฉบับวัฒนธรรมเพลงจีนที่ไพเราะจับใจ กับเนื้อหาที่สื่อถึงความสุขที่ได้รับจากธรรมชาติจนทำให้มีจิตใจที่เบิกบานได้ทุกวัน

ขณะที่การแสดงของนิสิตไทยก็ยากไม่แพ้กับการฝึกฝนของการแสดงจากจีน เช่น การแสดงดนตรีไทยชุด เดี่ยวอาหนูสู่สัมพันธ์ไทยจีน เป็นเพลงไทยสำเนียงจีนที่มีหลายเพลง เช่น เพลงอาเฮีย เพลงจีนวังหลัง เพลงจีนขิมใหญ่และเพลงอาหนู ซึ่งเพลงอาหนูเป็นเพลงไทยสำเนียงจีน ที่เป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรีไทยมานาน และการบรรเลงหมู่กู่เจิ้ง ในเพลง Take me to your heart เป็นเพลงป๊อบมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้นิสิตไทยได้เล่นกับกู่เจิ้งเครื่องดนตรีของจีน เรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการแสดงดนตรีของไทย-จีนที่ยากอยู่เหมือนกัน

นาฎลีลาสะบัดชัยมงคล

นาฎลีลาสะบัดชัยมงคล

ดังนั้นการแสดงแต่ละชุดจึงมีความโดดเด่นอลังการที่เหล่านักแสดงเยาวชนนิสิตนักศึกษาไทยและจีน ได้ร่วมกันฝึกซ้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จนสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงาม ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจตรึงตราผู้ชมเป็นอย่างมาก

การแสดงชุดความรื่นเริงในเทศกาลตรุษจีน

การแสดงชุดความรื่นเริงในเทศกาลตรุษจีน

การแสดงระบำ หงเจี๋ยเอ่อ

การแสดงระบำ หงเจี๋ยเอ่อ

นาฎลีลาล้านนา

นาฎลีลาล้านนา

ระบำคลาสสิก เชี่ยวฮวาตั้น

ระบำคลาสสิก เชี่ยวฮวาตั้น

ระบำคลาสสิก เชี่ยวฮวาตั้น

ระบำคลาสสิก เชี่ยวฮวาตั้น

มหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 นี้ได้ช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ไทยและจีน ให้สามารถพัฒนา ผสมผสาน แลกเปลี่ยนทักษะและเทคนิคใหม่ๆ ในการเรียนหลักสูตรด้านการแสดงหรือศิลปกรรมศาสตร์ของทั้งสองชาตินี้ ไปสู่ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพการแสดงนาฎศิลป์แบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิมได้อย่างภูมิใจ ว่าเป็นสิ่งแสดงความเป็นอารยะประเทศและมีคุณค่าอย่างยั่งยืนต่อไป.

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวถึงการได้มาชมการแสดงนาฎศิลป์จีนและไทยนี้ว่า “ผมเป็นคนแรกที่แนะนำให้ศูนย์วัฒนธรรมจีนได้มีโอกาสพบกับเพื่อนใหม่คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อจะได้ทั้งสองฝ่ายได้นำสิ่งที่ดีของตนเอง มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ที่ต่างฝ่ายต่างมีเหมือนกัน คือการเป็นผู้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมให้แก่คนรุ่นใหม่ที่เขากำลังเรียนหรือสนใจในศาสตร์ด้านนี้ ซึ่งผมเห็นว่าจีนยิ่งใหญ่ได้จากบทเรียนความอดอยาก การต่อสู้และความเสียสละของคนในชาติที่ทำเพื่อชาติมากกว่าเพื่อตัวเอง ประวัติศาสตร์ได้ถูกถ่ายทอดลงในรูปแบบของการแสดงและการท่วงท่าการร่ายรำ ทุกอย่างคือวัฒนธรรมที่สั่งสมและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งนี้คือสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้จากคนจีนให้มาก เพราะจีนกับไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและต่างฝ่ายต่างก็มีลักษณะพิเศษของตนเอง เราจะต้องสร้างสำนึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นถึงความทุ่มเท เสียสละ ความรักชาติของคนจีน ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองหรืออยากจะเอาตัวให้รอดเท่านั้นพอ”

ด้าน รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสนับสนุนนิสิตให้ได้เรียนรู้ในศาสตร์ความถนัดของตนเอง โครงการมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 นี้แสดงว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์กำลังทำให้นิสิตไทยกับจีนได้แลกเปลี่ยนศิลปะซึ่งกันและกันอย่างตรงไปตรงมา สวยงามและยิ่งใหญ่ อีกด้านหนึ่งเราก็ได้ทำหน้าที่ของการเป็นผู้รับใช้สังคมเพราเราเอาวิชาการความรู้ไปสู่ชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและเห็นผลว่าสถาบันการศึกษามีบทบาทเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติจีนและไทยให้แน่นแฟ้นด้วยสื่อการแสดงศิลปวัฒนธรรมนี่เอง”

คณะผู้บริหาร มศว และศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทย

คณะผู้บริหาร มศว และศูนย์วัฒนธรรมจีนในไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมสายสัมพันธ์ไทย-จีน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้วโดย มศว ร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพฯ ปีนี้มีนักแสดงที่มีความสามารถจากเมืองหางโจวมาแสดงศิลปวัฒนธรรม 12 ชุดการแสดง และมีนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ของ มศว เรา ร่วมแสดงอีก 6 ชุด แต่ละชุดก็สวยงามและยากด้วย จึงถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างกันและเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อ”