QS World University Rankings การจัดอันดับ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย อันดับมหาวิทยาลัยของไทย

MIT ครองแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลก ปี 2019 | ส่วน จุฬาฯ-มหิดล-มช. อันดับร่วง

Home / ข่าวการศึกษา / MIT ครองแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลก ปี 2019 | ส่วน จุฬาฯ-มหิดล-มช. อันดับร่วง

เรียกได้ว่าในทุก ๆ ปีจะมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในด้านต่าง ๆ ทั่วโลก และจากรายงานการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก QS World University Rankings โดยสถาบันการจัดอันดับ Quacquarelli Symonds (QS) แห่งสหราชอาณาจักร ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับล่าสุดออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว…

MIT ครองแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลก ปี 2019

โดยในปีนี้ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงครองตำแหน่งมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกเอาไว้ได้อีกหนึ่งปี ในขณะที่มหาวิทยาลัยของไทยอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล อันดับร่วงลงมาจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและในระดับเอเชีย

เกณฑ์การพิจารณาที่นำมาใช้ในการจัดอันดับประกอบด้วย 5 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

1. ชื่อเสียงทางวิชาการจากแบบสำรวจ (40%)
2. ชื่อเสียงจากแบบสำรวจผู้ว่าจ้าง (10%)
3. อัตราส่วนของจำนวนนักเรียนต่ออาจารย์ (20%)
4. จำนวนงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้อ้างถึง (20%)
5. อัตราส่วนบุคลากรและนักเรียนจากนานาชาติ (10%)

MIT ครองแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลก ปี 2019

มหาวิทยาลัย 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่

1. สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานทั้งในเรื่องงานวิจัยและการศึกษาในสาขาเคมี ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการจัดการ

2. มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า มหาวิทยาลัยลีแลนด์สแตนฟอร์ดจูเนียร์ (Leland Stanford Junior University) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ตั้งอยู่ที่เมืองสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลโนเบลอย่างมากมาย ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นคลังข้อมูลและศูนย์เก็บเอกสารทางด้านศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับสากล เช่น US Federal Government Archive ห้องเก็บหนังสือโบราณ ฯลฯ

3. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งอยู่ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงมาในเรื่องคุณภาพทางวิชาการ คุณภาพของอาจารย์ผู้สอนและคุณภาพของนักศึกษา โดยศิษย์เก่าและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับรางวัลโนเบลรวมกัน 75 รางวัล และรางวัลพูลิตเซอร์ 15 รางวัลด้วยกัน

4. สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย

สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ CalTech เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ตั้งอยู่ที่เมืองแพซาดีนา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงด้านงานวิจัยหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และ วิศวกรรมศาสตร์ (โดยเฉพาะสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมอากาศยาน และวิศวกรรมเครื่องกล)

5. มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หรือเรียกอย่างง่าย ๆ ว่า ออกซฟอร์ด ตั้งอยู่ในเมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการวิจัย นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของประเทศอังกฤษ อีกด้วย และถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานหรือประวัติการก่อตั้งที่แน่ชัด มีเพียงหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อปี ค.ศ.1096 ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมในยุคศตวรรษที่ 18 ที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก

MIT ครองแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดของโลก ปี 2019

มหาวิทยาลัยไทยอันดับ 4 อันดับแรก ได้แก่

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในอันดับที่ 271 ของโลกในปีนี้ (ร่วงอันดับลงมาจากเดิมเมื่อปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 245) จุฬาฯ เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทยจากหลายสถาบันจัดอันดับ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัย คุณภาพบัณฑิต คุณภาพด้านการวิจัย ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย คุณภาพด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยในเขตเมือง และคุณภาพแยกตามรายวิชาอีก 27 รายวิชา

2. มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในอันดับที่ 380 ของโลกในปีนี้ (ร่วงอันดับลงมาจากเดิมเมื่อปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 334) และจากการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับหลายสำนักมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2552 และเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN)

3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงอยู่ที่ช่วงอันดับ 601-650 โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของเครือข่าย LAOTSE ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเอเชียและยุโรปตามกรอบความร่วมมืออาเซม  รวมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายสถาบันการศึกษาและวิจัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMSARN)

4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีนี้อยู่ในช่วงอันดับ 651-700 โดยได้ร่วงจากปีก่อน ๆ ที่เคยอยู่ในช่วงอันดับ 551-600 โดยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเอเชียเพียงอย่างเดียว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างก็ไต่อันดับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไต่ขึ้นมาจากอันดับ 50 เป็น 44, มหาวิทยาลัยมหิดล ไต่อันดับจาก 58 เป็น 52 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไต่อันดับจาก 112 เป็น 96 ตามลำดับ

ทั้งนี้ QS World University Rankings ยังได้มีการจัดอันดับแบ่งตามหมวดหมู่วิชาต่าง ๆ อีกด้วย โดยได้มีการแบ่งออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้

1. สาขาศิลปะและมนุษยาศาสตร์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับ 253 มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ช่วงอันดับ 401-450 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ช่วงอันดับ 451-500

2. ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับ 191 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อยู่อันดับ 336 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อยู่ช่วงอันดับ 451-500

3. ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ : มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับ 148 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับ 267

อ้างอิงข้อมูลจาก : www.bbc.comwww.topuniversities.com

บทความที่น่าสนใจ