ความสามารถพิเศษ ทุนการศึกษา รับตรง โควตา

การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแบบ รับตรง หรือ การสอบตรง

Home / ข่าวการศึกษา / การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแบบ รับตรง หรือ การสอบตรง

หากพูดถึงเส้นทางในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบันนี้ ถ้าว่ากันด้วยเส้นทางหลักๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 เส้นทาง 1. แอดมิชชัน 2. การรับตรง วันนี้เราจะพูดถึงการเข้าสู่มหาวิทยาลัยแบบ รับตรง กันค่ะ

การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแบบ รับตรง หรือ การสอบตรง

รับตรงหรือการสอบตรง ก็คือการที่แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาเอง โดยไม่ผ่านใคร ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดข้อสอบ วิธีคัดเลือก วันเวลาในการสอบเอง จุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อต้องคัดนักศึกษาที่ต้องการเรียนที่คณะและมหาวิทยาลัยของตนจริงๆ เพราะการรับนักศึกษาจากระบบกลางหรือแอดมิชชัน ส่วนใหญ่จะได้เด็กที่ไม่ได้มีความต้องการอยากเรียนในคณะนั้นๆ จริงๆ จะเจอปัญหาเรียนได้ไม่เท่าไหร่ ก็ไม่ไหว ขอซิ่ว ลาออก เพราะส่วนใหญ่เด็กที่เข้ามาจากในระบบแอดมิชชั่น จะเลือกมหาวิทยาลัยที่ตัวเองชื่นชอบอยากเข้าเป็นหลัก ไม่ได้เลือกที่คณะที่อยากจะเรียน เพราะอาจคะแนนไม่ถึง ทำให้เด็กก็จะเลือกจากที่คณะที่ตัวเองคะแนนถึง จะคณะอะไรก็ได้ ให้เข้าไปได้ก่อน จะเรียนได้ไม่ได้ ก็ว่ากันอีกที แต่พอเข้ามาแล้วก็เรียนไม่ได้ไม่ไหวจริงๆ ทำให้ต้องซิ่ว ลาออกกัน อีกทั้งการวางสัดส่วนหรือข้อสอบที่ใช้นั้น ก็ไม่ได้เป็นตามจุดประสงค์ที่ทางมหาวิทยาลัยจะรับสักเท่าไหร่

รับตรงมีอะไรบ้าง

น้องๆ หลายคนอาจะงงหรือสงสัยกับคำว่า โควตา ทุน หรือความสามารถพิเศษ ว่าคืออะไร หรือเป็นอีกเส้นทางของการเข้าสู่มหาวิทยาลัยใช่ไหม ซึ่งบอกตรงนี้ว่าคำทั้งหมดนั้นที่จริงแล้วก็รวมอยู่ในการ “รับตรง” นั่นแหละค่ะ โดยแต่ละคำจะมีความหมายดังนี้

– โควตา คือการรับตรงอย่างหนึ่ง แต่จะมีคุณสมบัติพิเศษที่กำหนดไว้ ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการโครงการรับตรงที่จะรับเด็กเฉพาะเขตฟื้นที่ เช่น โควตา 20 จังหวัดภาคอีสานของ ม.ขอนแก่น โควตา 17 จังหวัดภาคเหนือของ ม.เชียงใหม่ เป็นต้น หรือการกำหนดคุณสมบัติพิเศษไว้ที่ตัวบุคคล คือ ความสามารถพิเศษ เช่น มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา เป็นต้น หือความสามารถพิเศษทางด้านภาษา ซึ่งคนที่มีความสามารถพิเศษตรงนี้ก็อาจเอาไปขอ ทุน ได้ด้วย ซึ่ง

– ทุน ก็คือก็คือพวกโครงการรับตรงต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษา แต่มีทุนทรัพย์ให้ ออกค่าเล่าเรียนให้ โดยน้องๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยโครงการเหล่านี้มักจะมีคุณสมบัติพิเศษถึงจะขอทุนได้ เช่น โครงการเรียนดี นักกีฬา นักดนตรี หรือคนที่สร้างชื่อเสียงให้กับทางมหาวิทยาลัย หรือถ้าไม่มีความสามารถพิเศษบางมหาวิทยาลัยก็อาจจะเปิดให้มีการสอบชิงทุน

รูปแบบการรับตรงในปัจจุบัน

รูปแบบการรับตรงที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะใช้ในปี59 โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้ คือ

1.มหาวิทยาลัยจัดสอบเอง

รูปแบบนี้หมายความว่าทางมหาวิทยาลัยที่เปิดรับตรง จะใช้ข้อสอบที่ออกจากทางมหาวิทยาลัยเองเป็นข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกนักศึกษา เช่น ข้อสอบ Smart 1 ของธรรมศาสตร์ ที่จัดสอบเพื่อรับนักศึกษาเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ของธรรมศาสตร์ เป็นต้น

2.มหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบจากทาง สทศ (GAT PAT หรือ 9 วิชาสามัญ)

รูปแบบนี้ก็คือทางมหาวิทยาลัยจะไม่ได้ออกข้อสอบเองแต่จะใช้ข้อสอบที่ทางสทศ เป็นคนออก คือข้อสอบ GAT PAT หรือ ข้อสอบ9วิชาสามัญ ที่ออกมาเพื่อใช้ในการสอบตรงโดยเฉพาะ ซึ่งรูปแบบนี้จะมีใช้กันเยอะมาก โดยมหาวิทยาลัยอาจจะใช้แค่ GAT PAT บางมหาวิทยาลัยอาจจะใช้แค่ 9 วิชาสามัญ บางมหาวิทยาลัย อาจจะใช้ทั้ง GAT PAT บวกกับ 9 วิชาสามัญ(รูปแบบนี้ทางจุฬาจะใช้) ซึ่งตรงนี้น้องๆ ต้องตรวจสอบกับทางระเบียบการของทางมหาวิทยาลัยอย่างละเอียดก่อนการสมัครอีกครั้ง

3.รูปแบบลูกผสม (มหาวิทยาลัยออกข้อสอบเอง+ข้อสอบจากทาง สทศ)

รูปแบบนี้คือทางมหาวิทยาลัยจะออกข้อสอบเองบวกกับผู้สมัครต้องมีคะแนน GAT PAT หรือ 9 วิชาสามัญ ยื่นประกอบกันด้วย เช่น คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ น้องๆ จะต้องสอบข้อเขียนบวกกับมีคะแนนGAT เป็นต้น

4.ไม่ต้องใช้ข้อสอบ

รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นประเภทพวกโควตาต่างๆ เช่นโควตาเรียนดี โครงการพิเศษต่างๆ โควตานักกีฬา โควตานักดนตรี ต่างๆ ซึ่งโควตาหรือโครงการพวกนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะเน้นดูความสามารถต่างๆ ว่าพิเศษตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการกับทางมหาวิทยาลัยหรือไม่

นี่ก็คือ 2 เส้นทางหลักที่น้องๆ ม.6 ทั้งหลายต้องใช้เป็นเส้นทางสู่มหาวิทยาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝัน

ใครชอบทางไหนก็ลองไปหาข้อมูลเพิ่มศึกษา เตรียมตัวกันดีๆ นะคะ

ภาพจาก www.enn.co.th