LearntoEarn ทุนการศึกษา มูลนิธิเอสซีจี รุ่นนี้ต้องรอด เรียนรู้เพื่ออยู่รอด

บทพิสูจน์แนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” กับการ Learn แล้ว Earn ได้จริง

Home / วาไรตี้ / บทพิสูจน์แนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” กับการ Learn แล้ว Earn ได้จริง

จากภารกิจสำคัญในการสร้างอนาคตให้เยาวชนไทย อยู่รอดได้ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มูลนิธิเอสซีจีได้มุ่งเน้นสนับสนุนการเรียนรู้ตาม แนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ด้วยการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทั้งการศึกษาในระบบปกติ และการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเน้นการประกอบอาชีพ (Short course) ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นจากอดีตนักเรียนทุนของมูลนิธิเอสซีจีแล้วว่า เป็นแนวคิดที่ Learn แล้วสามารถ Earn ได้จริง

แนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด”

กีตาร์-ชลธิตา วงษ์แก้ว

เรียนผู้ช่วยพยาบาลจบมามีงานรองรับ

“ที่บ้านมีรายได้ไม่แน่นอน ถ้าตอนนั้นเลือกเรียนต่อปริญญาตรี พ่อแม่ก็คงส่งเรียนต่อไม่ไหว ดูแล้วไม่มีทางเลือกไหนที่ดีไปกว่าการหาหลักสูตรระยะสั้นที่เรียนจบไวๆ จะได้รีบทำงานช่วยทางบ้านหาเงิน ซึ่งก็มารู้จักงานผู้ช่วยพยาบาลจากรุ่นพี่ที่ได้ไปเรียนมาก่อนว่าเป็นหลักสูตรระยะสั้น เรียนแค่ปีเดียว จบไว มีงานรองรับแน่นอน ก็เลยคิดว่าเรียนทางนี้ก่อนดีกว่า”

กีตาร์-ชลธิตา วงษ์แก้ว สาวน้อยจากน่าน ที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ พร้อมด้วยเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ที่ต้องการเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล เธอได้รับทุนหลักสูตรระยะสั้น จากมูลนิธิเอสซีจี ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปัจจุบัน เธอมีอาชีพเป็นผู้ช่วยพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

“พอมาเรียนแล้วก็รู้สึกชอบ – มีเพียงบางสกิลที่ทำแทนพยาบาลไม่ได้ ซึ่งโดยรวมแล้วก็โอเค ตอนเรียนก็มีแอบรู้สึกบ้างในบางเวลาว่าทุกวิชาที่เรียนแอบยาก แต่ก็ผ่านมาได้ จบแล้วก็มาทำงานได้เจอคนไช้หลายแบบ แล้วก็เจอเคสที่หลากหลายค่ะ ทั้งเด็ก คนสูงอายุ คนไข้อุบัติเหตุ ไปจนถึงคนไข้ที่มารับคีโม การดูแลและการทำหัตถการของแต่ละเคสก็ต่างกัน คนไข้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต้องมีความเข้าใจ เวลาจะดูแลหรือช่วยเหลือเขาจะได้ไม่มีอะไรผิดพลาดค่ะ”

ปัจจุบัน กีตาร์ – ชลธิตา ตั้งเป้าหมายอนาคตไว้ว่า จะขยับขยายเส้นทางการเติบโตของชีวิตตัวเอง ด้วยการอัพสกิลด้านภาษาอังกฤษ และยังวางแผนว่าอาจจะสอบเป็นพยาบาลวิชาชีพต่อไปในอนาคต

น้อย – ปารเมศ สายสุทธิ

ชอบทำอาหาร เลือกเรียนทำอาหารและทำอาหารขาย

น้อย – ปารเมศ สายสุทธิ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้พัฒนาตัวเองและเก็บประสบการณ์จากเวทีการแข่งขัน นำความรักความชอบมาศึกษาต่อยอด และนำมาประกอบอาชีพมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง และเขายังอัพสกิลเรื่องการทำธุรกิจออนไลน์ โดยเรียนรู้จากสถานการณ์และสภาพการตลาดจริง เพื่อขยายกิจการให้เติบโตขึ้นอีกด้วย

น้อย – ปารเมศ หนุ่มมหาสารคาม ที่ค้นพบตัวตนได้ตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นว่า เป็นคนชอบทำอาหาร จึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อ ปวช. สาขาอาหารและโภชนาการ ได้รับทุนอาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ ของมูลนิธิเอสซีจีมาตั้งแต่ปี 2562 และรับต่อเนื่องมาจนจบปวส. อนุปริญญา คณะคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทียบโอน สาขาอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

นอกจากการเรียนแล้ว น้อย – ปารเมศ ยังสามารถนำความรักความชอบและความรู้ที่ได้เรียนมาสร้างรายได้จากการทำอาหารขาย จนกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเอง ส่งเสียตัวเองเรียนต่อในตอนนี้ และเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคง

“ผมทำขนม ทำเบเกอรี่ขายครูในโรงเรียนมาตั้งแต่เรียนชั้นม.ต้น เคยมีเชฟวิลเมนต์ ลีออง เห็นแววได้ดึงตัวไปฝึกและส่งแข่งขัน สนามแรกที่ลงแข่งคือ THAIFEX ต่อมาก็ได้มีโอกาสไปลองแข่งอีกหลายสนาม รวมถึงไปแข่งในนามโรงเรียนอีกหลายครั้ง ซึ่งก็มีทั้งชนะทั้งแพ้ โดยการแข่งขันส่วนตัวเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศของงาน MAKRO Horeca Challenge และได้รับรางวัลเหรียญเงิน รายการแอตแลนติกเชฟ ปี 2017”

ปัจจุบัน นอกจากน้อย – ปารเมศ จะทำเบเกอรี่ขายทั้งช่องทางออนไลน์ และวางขายที่ร้านขนมของทางวิทยาลัยแล้ว ยังเปิดคลาสสอนทำอาหารออนไลน์ ทางเพจ NN Baking : Bakery Online Class ที่ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเรียนทำอาหารกับน้อย – ปารเมศแล้วกว่า 700 คน เรียกได้ว่าสามารถทำรายได้เลี้ยงต้วเองและครอบครัวได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

หลักสูตรที่ Learn แล้ว Earn ได้จริง

จากตัวอย่างของสองนักเรียนทุนของมูลนิธิเอสซีจี แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนการเรียนรู้ตามแนวคิด “Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ได้จริงๆ เพราะการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดนั้น ไม่ได้จำกัดไว้ตายตัวว่าต้องเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือการเรียนสายอาชีพแบบหลักสูตรระยะสั้น

เพราะทั้งหมดอยู่ที่ตัวผู้เรียนเอง คนที่ยังค้นหาตัวตนไม่เจอ อาจจะตัดสินใจเลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรด้านอาชีพ เพราะเชื่อว่าจบมาแล้วจะได้มีงานทำมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว แต่สำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายของชีวิตก็จะมีความชัดเจนขึ้น หรือนำความรักความชอบมาต่อยอดทางด้านการเรียน ชีวิตก็จะมีความสุขมากขึ้นจากการได้ทำในสิ่งที่รักให้เป็นอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

“มูลนิธิเอสซีจีเป็นเหมือนสะพานที่จะช่วยส่งนักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝันของแต่ละคน เพราะตระหนักดีว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเสริมความรู้และทักษะที่ใช้ทำงาน (Hard skill) และทักษะทางด้านการเข้าสังคมและอารมณ์ (Soft skill) หรือ ‘ทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ (Power Skill) เป็นทักษะที่มีความจำเป็น สำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานของเยาวชน Generation Z ทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต และการสนับสนุนการศึกษาตามแนวคิด Learn to Earn นี้ สามารถตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันนี้ได้อย่างแท้จริง” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวสรุป

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการให้ทุนแต่ละประเภททุนได้ที่ www.scgfoundation.org และ เฟซบุ๊ก LEARNtoEARNbySCGFoundation https://www.facebook.com/LEARNtoEARNbySCGFoundation