นิคมอุตสาหกรรม ปริญญาโท มหาวิทยาลัยอมตะ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ยานยนต์แห่งอนาคต หลักสูตรการเรียนการสอน หุ่นยนต์ เรียนต่อไต้หวัน

ครม. อนุมัติตั้ง มหาวิทยาลัยอมตะ มุ่งเน้นหลักสูตรการพัฒนาหุ่นยนต์ + ยานยนต์แห่งอนาคต

Home / ข่าวการศึกษา / ครม. อนุมัติตั้ง มหาวิทยาลัยอมตะ มุ่งเน้นหลักสูตรการพัฒนาหุ่นยนต์ + ยานยนต์แห่งอนาคต

ครม. มีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยอมตะ” ในนิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน” ที่จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูงในระดับปริญญาโท เพื่อรองรับ อีอีซี การพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์และการพัฒนาหุ่นยนต์ในอนาคต

มหาวิทยาลัยอมตะ + ม.แห่งชาติไต้หวัน เปิดหลักสูตรวิศวะฯ

โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอมตะ (Amata University) และจัดตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนด้าน Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ของมหาวิทยลัยแห่งชาติไต้หวันในประเทศไทย 

ด้านกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University : NTU) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน มีวิทยาเขตหลักตั้งอยู่ในเมืองไทเปและจัดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในไต้หวัน จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS University Rankings ซึ่งได้ติดอันดับอยู่ใน TOP 100 ของโลกทุกปี และในปี 2017 จากการจัดดับโดย QS มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันก็อยู่ในอันดับที่ 76 ของโลก สำหรับสาขาวิชาที่กำลังจะเข้าเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทยนั้นก็อยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก

มหาวิทยาลัยอมตะ หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ยังเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ในการสอบแข่งขันของเด็กมัธยมทั่วไต้หวัน และมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น นักการเมือง ประธานาธิบดีของไต้หวันอีกหลายท่าน และยังรวมถึง วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจชาวไทย อีกด้วย

หลักสูตรการเรียนการสอน

สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันจะมาเปิดสอนในไทยก็คือ Master of Science (M.S.) in Engineering (Intelligent Manufacturing System) ซึ่งจะเป็นการเน้นการเรียนด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยงานสายการผลิตในรูปแบบระบบอัตโนมัติ (Future of Automation) และอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Autonomous Vehicle) เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลนีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อีกด้วย

หลักสูตรการเรียนการสอนนี้จะใช้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาจารย์ผู้สอน การเข้าถึงข้อมูลทางวิจัย ชั่วโมงในการเรียนทั้งด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติ เป็นต้น จะมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน โดยใช้ระยะเวลาในการเรียนทั้งหมด 2 ปี (ตามหลักสูตรปริญญาโท) สถาบันการศึกษาแห่งนี้จะภูดจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ของนิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ของ วิกรม กรมดิษฐ์

อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ ครม. ยังได้มีการยืนยันอีกด้วยว่ามหาวิทยาลัยที่จะถูกจัดตั้งขึ้นนี้จะจัดตั้งในพื้นที่ อีอีซี และจะไม่มีการแย่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นในสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังขาดแคลน และมุ่งเน้นในสาขาวิชาเพื่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  3. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
  5. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
  7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
  8. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
  9. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  10. อุตสาหกรรมดิจิทัล

ที่มา : www.commandcenter.moi.go.thwww.eeco.or.th

Written by : Toey