ปัจจุบันปัญหา ใบปริญญาปลอม หรือการปลอมวุฒิการศึกษา ได้กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะมีวิธีการสังเกต หรือเช็คอย่างไรได้บ้างว่า ใบปริญญานั้นเป็นของจริงหรือปลอม ในบทความนี้ขอเผยแพร่วิธีการพิสูจน์มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านเป็นเกร็ดความรู้กันค่ะ
ใบปริญญาปลอม หรือจริง จะรู้ได้อย่างไร?
เว็บไซต์ของ HEDD (Higher Education Degree Datacheck) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งสถานะของสถาบันระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่วิธีการเบื้องต้น ในการพิสูจน์ว่า ปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร ที่ได้รับมาเป็นของจริงหรือไม่ ดังต่อไปนี้
1. ตราประทับในปริญญาบัตร
ตรวจดูตราประทับหรือตราที่สลักเป็นรอยนูนในปริญญาบัตร ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรจะมีตราประทับดังกล่าวทำจากทองคำเปลว และเมื่อยกใบปริญญาขึ้นส่องกับแสงสว่าง ก็จะเห็นลายโฮโลแกรมหรือลายน้ำได้อย่างชัดเจน
2. ลายเซ็นของผู้ประสาธน์ปริญญา ต้องเป็นลายมือเขียนด้วยน้ำหมึกปากกา
ลายเซ็นของผู้ประสาธน์ปริญญาจะต้องเป็นลายมือที่เขียนด้วยน้ำหมึกปากกา ไม่ใช่ลายเซ็นที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ และควรตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยผู้มอบปริญญาบัตรด้วยว่า ตราสัญลักษณ์และตราประทับที่ใช้นั้นมีความถูกต้องตรงกับของมหาวิทยาลัยจริง โดยอาจเปรียบเทียบกับในเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัย หรือส่งไปตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยต้นทางโดยตรง
อีกข้อสังเกตเรื่องการใช้ฟอนต์หรือตัวอักษร มีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยปลอมในต่างประเทศ ชอบออกแบบปริญญาบัตรโดยใช้ตัวอักษรแบบโกธิค (Gothic) เพื่อสื่อว่าประวัติของมหาลัยมีความเก่าแก่และก่อตั้งมายาวนาน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นแบบตัวอักษรค่อนข้างล้าสมัย เพราะสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากในปัจจุบันได้หันมาใช้แบบตัวอักษรที่ทันสมัยกว่า
3. ของจริงไม่มีคำผิดหรือคำที่พิมพ์ตกหล่น
ใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรของจริง จะต้องไม่มีคำผิดหรือคำที่พิมพ์ตกหล่น และถ้าหากมีการใช้ภาษาอังกฤษแบบโอ่อ่าหรูหรา หรือใช้ภาษาโบราณเหมือนในยุคกลางมากเกินไป ก็ถือเป็นอีกข้อสังเกตว่าอาจเป็นใบปริญญาของปลอม อย่างในกรณีของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร การใช้คำศัพท์ภาษาละตินในปริญญาบัตรมักเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เนื่องจากการใช้ภาษาละตินถือเป็นธรรมเนียมที่ใช้กันในสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เท่านั้น เช่น การเรียกเกียรตินิยมขั้นต้นว่า “คุมเลาเด” (cum laude) แต่ในสหราชอาณาจักร สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้ยกเลิกการใช้คำศัพท์ละตินไปกว่าสิบปีแล้ว โดยใช้ภาษาอังกฤษแท้ เช่น คำว่า “with honours” สำหรับผู้ที่ได้เกียรตินิยมแทน
4. การเขียนชื่อมหาลัย มีการลำดับคำและใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์เล็ก
การเขียนชื่อมหาวิทยาลัย มีการลำดับคำและใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์เล็กอย่างถูกต้อง ตามชื่อมหาลัยหรือเปล่า ? เช่น “มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์” ควรจะต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า The University of Manchester ไม่ใช่ Manchester University รวมทั้งตัวอักษร T ในคำว่า The จะต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ ถือเป็นอีกจุดสังเกตที่สามารถบ่งบอกได้เช่นกัน
ภาพ : Mathyas Kurmann
5. ตำแหน่งที่ตั้งมหาวิทยาลัย
ที่อยู่ รหัสไปรษณีย์ รวมไปจนถึงการค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแผนที่ดาวเทียม อย่าง Google Street View ก็สามารถเป็นอีกข้อสังเกตที่บอกได้ เพราะมหาวิทยาลัยปลอมมักจะให้ข้อมูลที่อยู่ที่ไม่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น ลองเอาที่อยู่ไปเสิร์ชหามีบ่อยครั้งที่พบความจริงว่า มหาวิทยาลัยอันเก่าแก่และทรงเกียรติเป็นเพียงห้องแถวเล็ก ๆ ในย่านที่ไม่น่าจะเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ได้ หรือไม่ที่อยู่ของบางมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นลานจอดรถ หรือพื้นที่เล็ก ๆ ใกล้วงเวียนกลับรถก็มี
จำไว้ว่า การให้ที่อยู่แบบข้อมูลไม่ครบถ้วน การให้ที่อยู่ที่ดูคล้ายกับบ้านพักอาศัยของคนทั่วไป หรือการใช้ตู้ ปณ. (PO Box) ซึ่งเป็นบริการตู้ไปรษณีย์ให้เช่า ให้สงสัยไว้ได้เลยว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นอาจไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่แท้จริง
6. ชื่อโดเมนหรือโดเมนเนมของเว็บไซต์มหาวิทยาลัย
การสังเกตชื่อโดเมนหรือโดเมนเนมของเว็บไซต์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยปลอมหลายแห่งเลือกใช้ชื่อโดเมน Ascension Island เพื่อให้ได้ตัวย่อ ac ในที่อยู่เว็บไซต์ ซึ่งเหมือนกับตัวย่อจากชื่อโดเมน Academia ที่สถาบันการศึกษาใช้กัน
ภาพ: Mometrix Test Prep
7. ใช้บริการตรวจสอบของมืออาชีพไว้วางใจได้
บางครั้งพวกมิจฉาชีพก็มีเล่ห์เลี่ยมที่แนบเนียนมากขึ้น อาจทำให้ถูกหลอกลวงได้ ดังนั้นแล้วอีกช่องทางที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะไม่โดนหลอกลวงก็คือ เลือกใช้บริการผู้ตรวจสอบมืออาชีพที่ไว้วางใจได้ ในสหราชอาณาจักรมีหน่วยงานของรัฐในลักษณะนี้ให้บริการอยู่ พวกเขามีฐานข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา หรือตรวจสอบสถานะของมหาวิทยาลัยว่ามีอยู่จริงหรือก่อตั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
“สถานการณ์น่าเป็นห่วงขึ้นทุกที เพราะธุรกิจขายใบปริญญาปลอมเหล่านี้กำลังเติบโตขึ้น และใช้เทคนิคในการหลอกลวงที่ซับซ้อนแนบเนียนขึ้นทุกขณะ” นายจอร์จ กอลลิน หนึ่งในคณะกรรมการบริหารสภาตรวจสอบและรับรองสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความกังวล
“โรงงานปั๊มปริญญาปลอมทำรายได้อย่างมหาศาล เพียงแค่ลงทุนก่อตั้งเว็บไซต์เท่านั้น คุณก็สามารถขายวุฒิการศึกษาให้กับลูกค้าทั่วโลกได้ในราคาแพง ธุรกิจแบบนี้ในสหรัฐฯ สามารถเรียกค่าปลอมวุฒิแพทยศาสตรบัณฑิตได้ถึงครั้งละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 304,000 บาท)”
“ยากที่จะเชื่อได้ว่าผู้ครอบครองวุฒิการศึกษาปลอมเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นฝ่ายถูกมหาวิทยาลัยเก๊หลอกลวง อันที่จริงพวกเขาทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ากำลังจ่ายเงินซื้อคุณวุฒิในทางลัด การลงเรียนหลักสูตรปริญญาเอกทางไกลเพียงอาทิตย์เดียวแล้วสำเร็จการศึกษาได้ทันทีนั้น ทุกคนรู้อยู่ว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครหลงเชื่อว่านี่คือการศึกษาของจริงก็นับว่าโง่เต็มที” นายกอลลินกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก: bbc.com/thai