Covid19 ความเครียด สจล สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

สจล. เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพใจ- แนะ 4 ทริคบริหารความเครียดสะสมนักศึกษา ช่วงโควิด-19

Home / วาไรตี้ / สจล. เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพใจ- แนะ 4 ทริคบริหารความเครียดสะสมนักศึกษา ช่วงโควิด-19

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนและการทำงานเป็นอย่างมาก ทั้งยังก่อให้เกิดความเครียดสะสมแบบที่ไม่ควรมองข้าม จนในบางครั้งอาจจะทำให้บางรายเลือกเส้นทางชีวิต ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความสูญเสียได้

4 แนวทาง กำจัดความเครียดสะสม นักศึกษา ช่วงโควิด-19

ซึ่งที่ผ่านมา สจล. นอกจากจะให้ความสำคัญกับสุขภาพทางกายของนักศึกษาและบุคลากร ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์บริการวัคซีนโควิด-19 พระจอมเกล้าลาดกระบัง” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ยังได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิต ด้วยการให้บริการรับฟัง-ให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ผ่าน คลินิกเวชกรรม สจล. ภายใต้การกำกับดูแลโดยคณะแพทยศาสตร์ โดยมี จิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษา เพื่อเป็นกองหนุนทางด้านจิตใจนักศึกษาและบุคลากรในช่วงปิดสถาบัน และเรียนออนไลน์ 100% จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย

ด้าน ดร.ปุณณดา จิระอานนท์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ และนักจิตวิทยาประจำคลินิกเวชกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวต่อว่า สจล. โดย คลินิกเวชกรรม สจล. ได้เปิดให้บริการทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ มานานกว่า 4 ปี โดยพบว่า เฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีทั้งนักศึกษา บุคลากรรายบุคคลและรายกลุ่ม  ติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจำนวนมากกว่า 570 ครั้ง ซึ่งปัญหาที่พบโดยส่วนใหญ่ คือ ปัญหาทางด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาภายในครอบครัว ฯลฯ

ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการขจัดหรือลดทอนความเครียดสะสม จึงมีข้อแนะนำการใช้ชีวิตใน 4 แนวทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. Time Management: จัดสรรเวลาให้แมชต์กับไลฟ์สไตล์ การจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยสร้างความผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดของตนเองได้เป็นอย่างดี เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือเป็นงานอดิเรกอื่น ๆ
  2. Explore Activities: ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ด้วยการลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยทำ เพราะในช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่นักศึกษาจะมีเวลาในการทำสิ่งใหม่ ที่อาจจะทำให้ค้นพบทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ฝึกตกแต่งภาพ/ตัดต่อวิดีโอ หรือลองผันตัวเขียนบล็อกเกอร์รีวิวสถานที่เที่ยว ฯลฯ
  3. Helping & Sharing: ปันเวลาช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเชื่อว่าการให้ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งการแบ่งปันเวลาไปช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่ตนเองถนัด ผ่านการกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น เช่น การอ่านหนังสือเสียง เพื่อคนตาบอด ที่นอกจากจะได้ฝึกทักษะการพูด การใช้เสียงแล้ว ช่วยสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง หรือเลือกต่อยอดไปสู่การพูดจัดรายการวิทยุออนไลน์ อย่าง ‘พอดแคสต์’ (Podcast) หรือคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ฯลฯ
  4. Positive Thinking: ปรับมุมคิดเชิงบวก สำหรับปัญหาความเครียด สิ่งที่จะแก้ไขได้ดีที่สุดคือ “ตนเอง” การปรับความคิดให้มองถึงข้อดีในสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่ได้มากขึ้นคือ “เวลา” ที่สามารถใช้ในการทำประโยชน์ต่างๆเพื่อตนเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้น ในช่วงวิกฤตที่นักศึกษาต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีเวลาให้ตนเองและครอบครัว มีเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ก่อนกลับมาทำให้ที่เรียนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นักศึกษาหรือบุคลากรที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อนัดหมายหรือขอรับให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้ที่ FB  : GrowthMindCentre หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ office.kmitl.ac.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกเวชกรรม สจล. คณะแพทยศาสตร์ โทรศัพท์ 02 329 8143 หรือ 02 329 8000 ต่อ 3633

หรือติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของคลินิกได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ เสิร์ช “ศูนย์การแพทย์ สจล. KMITL Medical Centre เว็บไซต์ medicalcenter.kmitl.ac.th หรือติดต่อแอดมิน สจล. ผ่าน FB kmitlofficial