การแข่งขันหุ่นยนต์ ขอนแก่น

รร.สาธิตฯ มข. สร้างชื่อ คว้าเหรียญทอง การแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกนานาชาติ (IRO 2022)

Home / วาไรตี้ / รร.สาธิตฯ มข. สร้างชื่อ คว้าเหรียญทอง การแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกนานาชาติ (IRO 2022)

นักเรียนจากชุมนุม Satit robot club โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนเเก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ภายใต้การควบคุมดูแลของ นายสมโชค แก้วอุทัศน์ และนายวัชเรนทร์ แสงสุวรรณ อาจารย์ผู้ฝึกสอนและควบคุมทีมฯ คว้าชนะเลิศเหรียญทอง ประเภท FPV Racing Simulator และ รางวัลชมเชย ประเภท Creative category Challenge ในการแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกนานาชาติ ครั้งที่ 24 IRO 2022 (International Robot Olympiad 2022 : Phuket Thailand) ระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม 2566

รร.สาธิตฯ มข. คว้าเหรียญทอง

การแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกนานาชาติ (IRO 2022)

จัดขึ้นโดย เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับชมรมวิทยาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย บริษัท M REPUBLIC EVENT CO., LTD. รวมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยร่วมเป็นเจ้าภาพกับ นายคิม จอง วาน ประธานสมาคมหุ่นยนต์แห่งประเทศเกาหลี มีเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน จาก 16 ประเทศ ณ โรงยิมเนเซี่ยม สะพานหิน เทศบาลนครภูเก็ต

การแข่งขันหุ่นยนต์โอลิมปิกนานาชาติ IRO 2022 (International Robot Olympiad 2022 : Phuket Thailand) จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมิตรภาพ เพิ่มพูนวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน ให้สามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะ ความคิดริเริ่มในการพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต

ทั้งยังเป็นเวทีการแข่งขันและสร้างความสนใจให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

กติกาการแข่งขัน

การแข่งขันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 16 กติกา แยกออกเป็น 2 ระดับชั้น คือรุ่นจูเนียร์ ระดับประถมศึกษา ช่วงอายุ 10-12 ปี และรุ่นชาเลนจ์ ระดับมัธยมศึกษา ช่วงอายุ 13-18 ปี

ด.ช.ศิวัชณัฐ เเสงสุวรรณ (ศีล) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) ลงแข่งขันเดี่ยว ประเภท FPV Racing Simulator ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 60 ทีม มีกติกาการแข่งขันที่เข้มงวด แต่ ศิวัชณัฐ เเสงสุวรรณ (ศีล) สามารถเอาชนะ และคว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับเหรียญทอง (Gold) จากการแข่งขัน ประเภท FPV Racing Simulator

ส่วนการแข่งขันประเภท Creative category Challenge ชุมนุม Satit robot club ได้ลงแข่งขันในชื่อทีม Siln Robotics ผู้ร่วมทีมประกอบด้วย ด.ช.ศิวัชณัฐ เเสงสุวรรณ (ศีล) ด.ช.ธันฐกรณ์ จิรเจริญพัฒน์ (คิม) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) และ ด.ช.อนาวิล สวัสดิ์พาณิชย์ (เอก) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน (ศิษย์เก่าสาธิตมหาวิทยาลัยขอนเเก่น ศึกษาศาสตร์ ฝ่ายประถมศึกษา)

ผลการแข่งขันของทีม Siln Robotics ลงแข่งขันกับทีมนานาชาติ 44 ทีมไปได้ และสร้างผลงานจนได้รับรางวัลชมเชย (Performance)

ด.ช. ด.ช..ศิวัชณัฐ เเสงสุวรรณ (ศีล) กล่าวว่า “ภาคภูมิใจเเละดีใจมากๆ กับรางวัลที่ได้มา เป็นเเรงผลักดันให้กลับมาเดินหน้าฝึกฝนพัฒนาเพิ่มเติมความรู้ความสามารถต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านเทคโนโลยีเเละภาษาให้ก้าวทันโลกเเห่งอนาคต เเละจะเผยเเพร่ความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนผ่านช่อง SILN Channel บนYouTube ครับ”

ด.ช.ธันฐกรณ์ จิรเจริญพัฒน์ (คิม) กล่าวว่า “ได้เจอคนจากหลายชาติ ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ สนุกและคุ่มค่า อยากให้มีการแข่งขันรายการแบบนี้อีกในไทย รางวัลที่ได้เป็นความภาคภูมิใจของทีมเรา และผมจะนำประสบการณ์ที่ได้ไปปรับและพัฒนาให้ดีขึ้นอีกครับ

ด.ช.อนาวิล สวัสดิ์พาณิชย์ (เอก) กล่าวว่า “ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ลงแข่งครับ ส่วนตัวคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากโครงงานของเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายประเทศ ส่งเสริมให้ผมเกิดความคิดสร้างสรรค์ และอยากชวนให้เพื่อนๆ มาศึกษาด้านเทคโนโลยีกันครับ ขอบคุณครับ”

นายวัชเรนทร์ เเสงสุวรรณ (โค้ชพ่อต๊อบ) กล่าวปิดท้ายว่า “สำหรับการพาเด็กๆไปแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติที่จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ เป็นการสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆได้อย่างมาก ได้พบกับเพื่อนใหม่จากหลายๆ ชาติ ได้เห็นถึงแนวคิดและแนวทางการศึกษาของเด็กจากชาติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ประสบการณ์ในครั้งนี้ทั้งของเด็กๆ ผู้ปกครอง และอาจารย์จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ด้าน Robotics ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนสาธิตของเรา ซึ่งปัจจุบันผมได้เข้าไปเป็นวิทยากรพิเศษด้านหุ่นยนต์ให้กับทางชุมนุม Satit kku robot club โดยได้รับความร่วมมือจากทางโรงเรียนสาธิต จาก อาจารย์สุเนตร ศรีบุญเลิศ และอาจารย์สมโชค เเก้วอุทัศน์ หวังว่าจะสร้างแรงผลักดัน ให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์และสร้างโอกาสให้เด็กได้ไปแข่งขันในสนามต่าง ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ และพัฒนาศักยภาพตัวเด็กเองเพิ่มขึ้น ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ”

ข่าว : วัชรา น้อยชมภู , ข้อมูลข่าว/ภาพ : ชุมนุม Satit kku robot club