GLUTA STORY issue48 กลูต้าและกอลลั่ม ผู้กำกับฟรีแลนซ์ ยอร์ช-สรศาสตร์

ยอร์ช-สรศาสตร์ กับการเดินทาง กว่าจะเป็นผู้กำกับเพจดัง Gluta Story

Home / วาไรตี้ / ยอร์ช-สรศาสตร์ กับการเดินทาง กว่าจะเป็นผู้กำกับเพจดัง Gluta Story

ผู้กำกับฟรีแลนซ์ อายุยังน้อย ยอร์ช-สรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม แอดมินเพจดัง GLUTA STORY ผู้ที่สร้างเรื่องราวของน้องหมาพันทางอย่างกลูต้าและกอลลั่ม ให้กลายเป็นน้องหมาหน้ายิ้มน่ารักน่าเอ็นดูที่มีผู้ติดตามเกือบเจ็ดแสนคน เป้าหมายของเขาคืออยากให้ผู้คนในสังคมหันมาเห็นคุณค่าของหมาพันไทยๆ รวมถึงการดูแลช่วยเหลือหมาจรจัดที่ถูกทอดทิ้งให้มากยิ่งขึ้น

ยอร์ช-สรศาสตร์ กว่าจะเป็นผู้กำกับเพจดัง Gluta Story

แรงบันดาลใจ

ยอร์ช เด็กหนุ่มจากจังหวัดกำแพงเพชร เข้าเรียนที่คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่ตลอดเวลา 4 ปีทำให้เขาได้ค้นพบว่าตัวเองชอบในด้านการเป็นผู้กำกับหนังโฆษณามากกว่า ยอร์ช จึงใช้เวลานอกเหนือจากการเรียนไปในโครงการประกวดทำหนังต่างๆ จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในโครงการ B.A.D. STUDENT WORKSHOP ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศ และโครงการนี้เองที่ต่อยอดให้ยอร์ชได้กลายเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาทันทีที่เรียนจบการศึกษา

เส้นทางกว่าจะมาเป็นผู้กำกับ

“ระหว่างที่เรียนนี่แหละที่ผมได้เจอกับกลูต้า หมาจรจัดที่หลงมาหลังน้ำท่วม ด้วยความที่ผมชอบเล่นกับหมาจรจัดอยู่แล้ว พอไปเล่นกับกลูต้า ก็เริ่มหลงเสน่ห์เขาเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ ยามก็จะไล่เขาออกไป เราก็เลยต้องเอากลูต้ามาเลี้ยงบนห้องเลย ต่อมา กลูต้าก็ป่วยเป็นมะเร็ง ก็รักษากันอยู่ 6 เดือน สุดท้ายเขาเริ่มขนขึ้น แข็งแรง เลยพากลูต้าไปข้างนอก กลูต้าก็สนุกมาก เราก็เลยประทับใจกับซีนนี้ แล้วก็ถ่ายรูปลงในเฟซบุ๊ก แล้วก็เริ่มมีคนติดตามขึ้นมา ผมก็เริ่มทำหนังสั้นประกวด พอเรียนจบเราก็ได้เป็นผู้กำกับเลย 4 ปีแล้วที่เป็นผู้กำกับฟรีแลนซ์ ผมได้ลงไปคลุกคลีในวงการหมา คลิปที่เราทำมันเปลี่ยนวิธีคิดคนได้เยอะ มันสามารถโน้มน้าวคนรักหมาได้ คือหมาจะมีความสุขสามอย่างง่ายๆ ได้กินของอร่อย ได้อยู่กับเจ้านายที่รัก ได้ออกไปสำรวจข้างนอก ความสุขของเขามีแค่นี้ ทำให้ผมรู้สึกว่า เอ้ย โคตร Simple เลย ชีวิตของเราแค่นี้ก็มีความสุขง่ายๆ แล้ว ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่าอยากจะพักงานโฆษณาแล้วหันมาลุยธุรกิจในแวดวงคนรักหมามากขึ้น เพราะกลูต้าก็อายุ 10 ปีแล้ว รู้สึกว่าทุกวินาทีมันมีค่า ใครจะมองว่าโอเว่อร์ แต่หมาตัวนี้เปลี่ยนชีวิตผม ก็เลยอยากจะทำงานอะไรที่ได้ใช้เวลาอยู่กับหมามากขึ้น”

ผู้กำกับมือใหม่อายุยังน้อย

“ใหม่ๆ ที่เริ่มเป็นผู้กำกับ ส่วนใหญ่ผู้กำกับจะอายุเยอะ ผ่านประสบการณ์มาเยอะ แต่เราเป็นผู้กำกับเด็ก ปัญหาก็คือทีมไฟตากล้องที่อายุเยอะแล้วเขาไม่ฟังเรา ก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวไป หาวิธีพูดยังไง ใช้ลูกล่อลูกชนมาก มันทำให้ผมรู้เลยว่าบางทีการเป็นหัวหน้าคน แล้วเอาแต่นอบน้อมถ่อมตนตามที่คนไทยสั่ง แทนที่จะถามอย่างนี้ดีมั้ย กลายเป็นว่าลูกน้องจะมองเราไม่น่าเชื่อถือ  เราจำเป็นต้องเด็ดขาดไปเลย เราต้องบอกไปเลยว่าเราอยากได้อย่างนี้”

ปิ๊งไอเดียจนกลายมาเป็นคลิปหมาๆ

“เวลาผมปิ๊งไอเดียขึ้นมา ผมจะรีบจดไว้ในโทรศัพท์ อย่างคลิป THE FIRST HUG ไปกอดหมาจรจัด ก็เหมือนกัน มาจากคำถามที่ว่า หมาจรจัดไม่เคยถูกกอด แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าถูกกอดครั้งแรก มันน่าจะเป็นหนังที่สร้างความประทับใจให้คนได้ ก็ไปถ่ายกับตากล้องอยู่ 2 วัน ไปนั่งกอดหมาทั้งวัน (หัวเราะ) ชาวบ้านก็ดูมันทำอะไรกัน ไปตามวัด ไปกอดหมาวัด หลวงพ่อก็บอกเดี๋ยวหลวงพ่ออุ้มตัวนี้มาให้กอด ก็สนุกดี ต้องไปศึกษาแต่ละตัวดูเชิงว่าเขาดุมั้ย เวลาถ่ายคลิปสัตว์ ผมว่าเราต้องศึกษาพฤติกรรมของเขาก่อน อย่างกลูต้ากอลลั่ม เราก็ต้องฟอลโล่จากพฤติกรรมของเขาก่อนว่าเขาทำอะไรได้บ้าง แล้วเราค่อยเอามาถ่าย ไม่ใช่อยู่ๆ มโนให้เขายืนสองขา หรือนั่งอยู่แล้วนอนหงายท้อง มันไม่ได้”

จากก้นบึ้งหัวใจคนรักหมาพันทาง

“ปัญหาหมาจรจัดที่มีเยอะในเมืองไทย ก้นบึ้งของปัญหามันมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง ทัศนคติของคน ที่เขารู้สึกว่าหมาพันทางไม่มีค่า เหมือนชิบะตัวหนึ่ง ใครจะไปอยากทิ้ง ทั้งๆ ที่หมาพันทางหน้าตาใกล้เคียงชิบะ แต่ชิบะญี่ปุ่นเขามีสตอรี่สร้าง Value ให้กับมัน แต่เราไม่มี ซึ่งเพจกลูต้าก็พยายามทำอยู่ และ สอง คือ คนไทยเลี้ยงหมาได้ง่ายไป ญี่ปุ่นกว่าจะเลี้ยงหมาได้ต้องรวยระดับหนึ่ง ต้องรีเสิร์จ กรอกข้อมูลเยอะ ในขณะที่คนไทย ใครๆ สถานะอย่างไรก็สามารถเลี้ยงได้หมด ซึ่งบางทีเขาขาดความรับผิดชอบที่ดี กลายเป็นหมาก็ถูกปล่อยทิ้ง ถ้าเกิดเรามีการคัดกรองที่ดีแล้วก็จำกัดการเลี้ยงหมา การเลี้ยงหมาจะเป็นเรื่องซีเรียสมากขึ้น การถูกปล่อยทิ้งก็จะน้อยลง โปรเจกต์ที่ผมอยากให้มีขึ้นก็คืองานแฟร์หมาพันทาง งานแฟร์หมาเยอะมาก แต่คนจะจูงมาแต่พันธุ์สวยๆ แต่หมาไทยคนไม่ค่อยกล้าจูง ก็เลยอยากทำงานแฟร์ที่เต็มไปด้วยหมาพันทาง ให้คน Proudly Present มันจริงๆ มันน่าจะสร้าง Value ให้กับหมาพันทางได้”

ฝากถึงน้องๆ

“สำหรับน้องๆ นักศึกษา ผมมองว่าการเรียนสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เราคลั่งไคล้หรือที่เราชอบ อย่างตอนที่เรียน ผมอยู่กับสิ่งที่ชอบซะส่วนใหญ่ เลยคิดว่าซีเรียสได้ แต่อย่าไปเครียดกับมัน แล้วผมก็ค้นพบอยู่อย่างหนึ่งว่า เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราชอบอะไร ถ้าเราอยู่ในวัยนั้นแล้วเรารู้ เราคือพระเจ้าครับ แต่เราคือคน เพราะฉะนั้น แทนที่จะตามหาสิ่งที่ชอบ เราควรตามหาสิ่งที่ไม่ชอบ แล้วตัดมันทิ้งทีละอย่าง อย่างตอนที่ผมฝึกงาน ผมเริ่มฝึกเอเจนซี่ก่อน แต่ไม่ชอบบรรยากาศที่นั่น สุดท้ายอาทิตย์เดียวขอออกเลย มาฝึกโปรดักชั่นแทน ซึ่งสบายมาก ได้ออกกอง ถ่ายหนัง คือไม่ควรเสียเวลาอยู่กับมันนาน เซ้นท์จะบอกเราเองว่าอันนี้คือความสุขของเราหรือเปล่า ถ้าเราเจอสิ่งที่ไม่ชอบแล้วตัดมันทิ้ง เราจะเจอสิ่งที่ชอบอยู่ข้างหน้าของเราเอง”

ติดตามคอลัมน์ worker ได้ในนิตยสาร Campus star No. 48

www.facebook.com/Campusstars