ทปอ. ทักษะ

5 ทักษะสำคัญของเด็กไทย ปี 2019 สู่การเป็นเยาวชนคุณภาพเพื่ออนาคต

Home / วาไรตี้ / 5 ทักษะสำคัญของเด็กไทย ปี 2019 สู่การเป็นเยาวชนคุณภาพเพื่ออนาคต

เด็กๆ ที่กำลังเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน ย่อมได้รับอิทธิพลสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นนโยบายสำคัญของทุกประเทศ ที่ต้องการส่งเสริมผลักดันให้มีความรู้ความสามารถ ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง .. 5 ทักษะสำคัญของเด็กไทยปี 2019

5 ทักษะสำคัญของเด็กไทย ปี 2019

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ TCAS62 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยในปี 2019 เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนี้

เด็กรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็น และเท่าทันสื่อ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาจไม่สามารถบ่งชี้ศักยภาพของเด็กได้ เนื่องจากพบว่าเด็กๆส่วนใหญ่ ยังขาดทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ จากปัญหาที่เด็กไทยยังรู้ไม่เท่าทันสื่อ คือมุ่งเน้นการใช้งานเพื่อความบันเทิง มากกว่าการแสวงหาสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เนื้อหาสาระที่มีอยู่มากมายไม่ได้ถูกนำมาใช้

ซึ่งหากวันนี้เราสามารถปลูกฝั่งค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยสถาบันครอบครัวควรมีหน้าที่ส่งเสริมตั้งแต่วัยเด็ก เพราะมีความใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเด็กได้โดยตรง จะช่วยให้เด็กไทยมีภูมิคุ้มกันทางความคิด มีวุฒิภาวะ สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ไม่หลงเชื่อเนื้อหาที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังในทันที

แต่สามารถคิด วิเคราะห์ สงสัย และรู้จักตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นจริงหรือไม่จริง ใครเป็นคนให้ข้อมูลเขาต้องการสื่ออะไร หรือมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงหรือไม่ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ก้าวข้ามสิ่งเร้าต่างๆที่ไม่เหมาะสมไปได้

นักเรียนเตรียมสมัคร-TCAS

เรียนให้สนุก หมดยุคการเรียนเพื่อสอบ

คุณสมบัติอีกข้อของเด็กยุคใหม่ที่สังคมคาดหวัง คือกล้าที่จะคิด กล้าแสดงออก เพราะมีส่วนสำคัญในการต่อยอดองค์ความรู้ที่มี ไปสู่การใช้งานได้จริง โดยเริ่มฝึกจากการช่างคิด ช่างสังเกต กล้าที่จะถาม มุ่งมั่นเพื่อหาคำตอบ จะช่วยให้บรรยากาศในการเรียนรู้ของเด็กๆสนุกมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดทักษะด้านอื่นๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียการออกแบบ พัฒนาศักยภาพตนเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งต่างๆ และก่อให้เกิดกลไกการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ซึ่งกระบวนการนี้คุณครูอาจมีส่วนช่วยในการส่งเสริม โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองตั้งคำถาม เพื่อร่วมกันหาคำตอบในชั้นเรียน

สื่อสารให้ได้อย่างน้อย 3 ภาษา

นอกจากความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีแล้ว ทักษะที่เด็กในยุคนี้ควรมีติดตัว คือภาษาต่างประเทศ โดยเด็กๆ ควรจะต้องรู้อย่างน้อย 3 ภาษา เพราะไม่ใช่แค่บทบาทการสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ได้เปรียบในการเรียนรู้ เพราะเด็กๆสามารถเปิดมุมมองใหม่ๆ สัมผัสวิธีคิด วัฒนธรรม การขับเคลื่อนทางสังคม ที่ได้จากการอ่าน การดู การฟังจากสื่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีสื่อการเรียนการสอนมากมาย ที่ช่วยให้เด็กๆได้มีโอกาสในการเรียนภาษาต่างๆ นอกห้องเรียนได้ด้วยตนเอง เช่น คลิปวิดีโอออนไลน์ เว็บไซต์ หรือแม้แต่การฝึกทำแบบทดสอบ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง

ทักษะหลากหลาย รู้จักประยุกต์ใช้ให้แพรวพราว

ปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการคนที่มีทักษะการทำงานที่หลากหลายในคนเดียวกัน ดังนั้น ช่วงวัยเรียนของเด็กๆในทุกๆช่วงวัย ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะของตนเองจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ มีทักษะความรู้ด้านเดียวไม่พอ ต้องหาความรู้แขนงอื่นๆเพิ่มเติมด้วย และหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะของตนเอง คือ รู้จักการนำความรู้ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้จริง โดยการฝึกและลงมือทำทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆสะสมชั่วโมงบิน โดยให้เชื่ออยู่เสมอว่า ยิ่งใช้เวลากับการฝึกฝนมากเท่าไหร่ ก็จะค่อยๆเชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น อย่าเพิ่งยอมแพ้ให้กับความล้มเหลวเพียงไม่กี่ครั้ง

มีจิตอาสา สำนึกสาธารณะ

ท่ามกลางความเจริญทางวัตถุและไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป ขับเคลื่อนให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ช่วยสังคมมีความน่าอยู่และเกิดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข คือ การมีจิตสำนึกสาธารณะ มีจิตใจอาสา โอบอ้อมอารี มีไมตรีจิตต่อกัน เพราะต่อให้ในประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่เก่ง ฉลาด มากแค่ไหน แต่ขาดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในภาพรวมได้

ซึ่งเด็กๆ อาจเริ่มจากการสำรวจสิ่งใกล้ตัว ช่วยเหลืองานบ้าน ยื่นมือทำงานจิตอาสาในชุมชนของตนเอง ก็จะกลายเป็นคนที่เก่งทั้งวิชาการ และเป็นที่ต้องการของสังคมด้วย

บทความโดย ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-5150-2 หรือเข้าไปที่ www.facebook.com/cuptthailand

บทความ