กลับมาอีกครั้งแล้ว สำหรับฤดูกาลของการเปิดรับสมัครสอบ BMAT หรือมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า BioMedical Admission Test ซึ่งน้อง ๆ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า การสอบ BMAT คือการสอบอะไร และต้องสอบวิชาอะไรบ้าง ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการสอบ และเนื้อหาที่ออกสอบของ BMAT มาให้น้อง ๆ ได้ศึกษากันด้วยค่ะ
ความสำคัญของคะแนน BMAT
โดยเฉพาะน้อง ๆ คนไหนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ (ในบางหลักสูตร) จะต้องศึกษาเกี่ยวกับการสอบนี้ให้ดีเลย ทั้งนี้ยังถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการเรียนต่อแพทย์อีกด้วย เพราะมันจะทำให้น้อง ๆ ไม่ต้องลงสอบ วิชาความถนัดแพทย์ (กสพท) ถ้าพร้อมแล้ว ไปรู้จักกับการสอบ BMAT กันเลย…
การสอบ BMAT คืออะไร?
สำหรับ BioMedical Admission Test หรือเรียกสั้น ๆ ว่า BMAT เป็นข้อสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ จัดสอบโดย
Cambridge Assessment Admissions Testing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แห่งสหราชอาณาจักร
สถาบันการศึกษาของไทย ที่ใช้คะแนน BMAT
โดยที่สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทยได้นำคะแนนของการสอบ BMAT มาใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และสถาบันการศึกษาที่นำมาคะแนนมาใช้ มีดังต่อไปนี้
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยมหิดล คณะทันตแพทยศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
- มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แพทยศาสตรบัณฑิต
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ (แพทยศาสตรบัณฑิต)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรสองภาษา – ภาษาอังกฤษ/ภาษาไทย)
รูปแบบข้อสอบ BMAT แบ่งเป็น 3 พาร์ท คือ
1. Aptitude and Skills
โดยในพาร์ทนี้จะเป็นข้อสอบแบบปรนัย จำนวน 35 ข้อ มีเวลาในการสอบ 60 นาที ประด้วยเนื้อหาที่การคำนวณ และ Critical Analysis ใช้ทดสอบความถนัดและทักษะทั่วไปในการแก้ไขปัญหา ความเข้าใจในการโต้แย้ง การวิเคราะห์ข้อมูล และการอนุมาน
2. Scientific Knowledge and Applications
ซึ่งในพาร์ทที่ 2 นี้จะเป็นข้อสอบแบบปรนัย จำนวน 27 ข้อ มีเวลาในการสอบ 30 นาที โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์
3. Writing Task
ส่วนในพาร์ทสุดท้ายจะเป็นการเขียนคำตอบลงไป มีจำนวนข้อสอบ 3 ข้อ โดยให้น้อง ๆ เลือกเขียนตอบเพียง 1 ข้อ และมีเวลาในการสอบ 30 นาที ใช้ทดสอบความสามารถในการเลือกพัฒนา หรือการจัดการความคิดและสื่อสารด้วยการเขียนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
การสมัครสอบ BMAT ต้องทำอย่างไร?
โดยการสอบ BMAT นั้นจะเปิด 3 รอบต่อปี โดยที่น้อง ๆ สามารถเลือกสอบได้เพียง 1 รอบเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยจะจัดสอบในรอบที่ 2 (เดือนสิงหาคม) และรอบที่ 3 (เดือนตุลาคม) เท่านั้น ส่วนกำหนดนการของการสอบ BMAT ปี 2562 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
รอบที่ 1 พฤษภาคม
- รับสมัคร 25 มีนาคม – 14 เมษายน 2562
- วันสอบ 7 พฤษภาคม 2562
- ประกาศผลสอบ 28 พฤษภาคม 2562
รอบที่ 2 สิงหาคม
- รับสมัคร 24 มิถุนายน – 11 สิงหาคม 2562
- วันสอบ 31 สิงหาคม 2562
- ประกาศผลสอบ 20 กันยายน 2562
รอบที่ 3 ตุลาคม
- รับสมัคร 1 กันยายน – 1 ตุลาคม 2562
- วันสอบ 22 พฤศจิกายน 2562
- ประกาศผลสอบ 30 ตุลาคม 2562
น้อง ๆ สามารถสมัครสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ : www.metritests.com
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.ignitebyondemand.com, www.admissionpremium.com, www.admissionstesting.org