ม.ธรรมศาสตร์ โควิด19

ปัญญาประดิษฐ์ ยุคโควิด AIChest4All คัดครองภาวะปอดอักเสบ จากโควิด19 แม่นยำ 90%

Home / ข่าวการศึกษา / ปัญญาประดิษฐ์ ยุคโควิด AIChest4All คัดครองภาวะปอดอักเสบ จากโควิด19 แม่นยำ 90%

ความอยู่รอดของมนุษยชาติ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 เป็นกลายเป็นวาระสำคัญด้านสาธารณสุขของทั่วโลก ซึ่งในระหว่างที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย กำลังเร่งรณรงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีน การที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพ เข้ามาเสริมการทำงานของทีมแพทย์ ยังเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านสาธารณสุข

ปัญญาประดิษฐ์ ยุคโควิด AIChest4All คัดครองภาวะปอดอักเสบ

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) จะพาไปถอดรหัสความสำเร็จของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ “เอไอเชสต์ฟอร์ออล” (AIChest4All) ที่ช่วยคัดกรองความผิดปกติภาวะปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิด 19 ได้อย่างแม่นยำ รู้ผลทันที และถูกนำไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

TSE พลิกวิกฤติโควิดด้วยเทคโนโลยีเอไอ

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลให้ทั่วโลก มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา TSE มีงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์จำนวนมาก ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) เพื่อช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล

อย่างล่าสุดคือ เอไอเชสต์ฟอร์ออล (AIChest4All) ที่ช่วยจำแนกกลุ่มอาการและความรุนแรง จากภาพถ่ายเอกซเรย์ (X-ray) ทรวงอก ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว อาทิ มะเร็งปอด วัณโรค ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติภายในทรวงอก และปอดอักเสบ โดย TSE ได้ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนา AIChest4Allและได้นำไปใช้งานในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

เอไอเชสต์ฟอร์ออล (AIChest4All) ของ TSE เสริมทัพทีมแพทย์สู้โควิด 19

การระบาดระรอกใหม่ของโควิด 19 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินหายใจจำนวนมาก ทีมวิจัยของ TSE จึงพัฒนาให้สามารถคัดกรองความผิดปกติที่เจาะจงกับโควิด 19 นั่นคือ ปอดอักเสบ (pneumonia) ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติดังกล่าว ทีมแพทย์จะทำตรวจคัดกรองต่อไปว่าเป็นปอดอักเสบซึ่งเกิดจากโควิด 19 หรือไม่

โดยประสิทธิภาพของการประมวลผลดังกล่าว มีความแม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคโควิด 19 ในกรณีที่มีอาการปอดอักเสบได้ทันท่วงที ซึ่งผ่านมาการวินิจฉัยความผิดปกติจากภาพถ่ายเอกซเรย์ (X-Ray) จะใช้การแปรผลโดยรังสีแพทย์ ซึ่งใช้เวลาเกือบ 5 นาทีต่อภาพ ในขณะที่ ‘เอไอเชสต์ฟอร์ออล’ (AIChest4All) ใช้เวลาประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 1-2 วินาทีต่อภาพ ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกในการทำงานของทีมแพทย์

TSE มองขาด! เอไอที่ฉลาดล้ำต้องมาพร้อมกับระบบคลาวด์ (Cloud) ที่ดี

ส่วนสำคัญที่ทำให้การใช้งาน ‘เอไอเชสต์ฟอร์ออล’ (AIChest4All) ตอบโจทย์การทำงานของทีมแพทย์ได้ดีขึ้น คือ ระบบคลาวด์ (Cloud) ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อโยงข้อมูลภาพฟิล์มเอกซเรย์ (X-Ray) จากโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีอยู่หลายร้อยแห่งทั่วประเทศ เพื่อนำมาประมวลผล และส่งผลที่ได้กลับไปยังทีมแพทย์จากต้นทางในทันที

ซึ่งสามารถตอบสนองจากการกดใช้งานในแต่ละครั้ง แบบไม่สะดุดในหลักวินาที หรืออาจเรียกได้ว่า สามารถรู้ผลเรียลไทม์ โดยปัจจุบัน TSE ได้ดำเนินการติดตั้งเซ็นเตอร์ของระบบกล่าวไว้ 2 แห่ง คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

นวัตกรรมดี ใช้งานฟรี TSE จัดให้!

ปัจจุบัน ‘เอไอเชสต์ฟอร์ออล’ (AIChest4All) ได้พลิกโฉมการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐไปโดยสิ้นเชิง เพราะจากเดิมที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อเข้าถึงบริการด้านรังสีแพทย์ในแต่ละปีหลายล้านบาท ซึ่ง TSE ได้นำ ‘เอไอเชสต์ฟอร์ออล’ (AIChest4All) ไปมอบให้กับโรงพยาบาลของรัฐหลายร้อยแห่ง ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้งานทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยมุ่งหวังให้ทีมแพทย์มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และสูญเสียงบประมาณน้อยที่สุด และเพื่อคนไทยได้เข้าถึงการบริการที่รวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย ทั้งนี้ TSE ได้ส่งต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวไปยังนักศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) และหลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอุตสาหการ (iPEN-iEE) ซึ่งอยู่ในโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรม (TU-PINE)

วิศวกรเอไออนาคตสดใส TSE หนุนรุ่นใหม่ก้าวสู่ตลาดงาน

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ยังคงเป็นเทคโนโลยีดาวรุ่งตลอดกาล เพราะสามารถบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ทางวิศวกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ และมักจะมีทางออกให้กับนักพัฒนาอยู่เสมอ แม้แต่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบัน ที่ยังคงต้องการเอไอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง TSE พบว่าวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ยังเป็นที่ต้องการของตลาดงานด้านวิศวกรรมขั้นสูง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกจำนวนมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวเสริมว่า “เอไอเชสต์ฟอร์ออล” คือบทพิสูจน์ว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) กำลังขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวต่อไป และพร้อมต้อนรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ เข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักพัฒนามืออาชีพ

โดยปัจจุบัน TSE มีหลักสูตรและคณาจารย์ ที่พร้อมจะสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมกับการส่งต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้งานได้จริงอีกด้วย”

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE ได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook : ENGR.THAMMASAT