การศึกษาโลก นักเรียน เทคโนโลยี แนวโน้มการศึกษา

แนวโน้มการศึกษาโลก กับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผู้เรียน ในปี 2017

Home / ข่าวการศึกษา / แนวโน้มการศึกษาโลก กับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผู้เรียน ในปี 2017

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน และยังมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาเหมือนกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านๆ มานั้น สถานบันการศึกษาทั่วโลกต่างพากันลงทุนเป็นจำนวนมากกับสิ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างช่องทางให้กับผู้เรียนเข้าถึงหลักสูตรต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าแนวโน้มการศึกษาในปี 2017 จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

การศึกษาโลก ปี 2017 การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาผู้เรียน

เยสคอร์ส (YesCourse) ผู้สร้างแพลตฟอร์มการกระจายการศึกษาออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้สถาบันการศึกษาจากทั่วโลกได้ขายหลักสูตรการศึกษาออนไลน์ของตน โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 3,500 สถาบันการศึกษา ระบุว่าในปีที่ผ่านมาการศึกษาออนไลน์ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาในยุคปัจจุบันไปเป็นอย่างมาก และเป็นตัวเสริมให้การศึกษาแบบดั้งเดิมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทุกที่

แต่ในปี 2017 ระบบการเรียนออนไลน์แบบเสมือนจริง Virtual Reality (VR) จะกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้น ซึ่งเราอาจได้เห็นและได้ยิน VR ในอุตสาหกรรมอื่นๆ กันมาบ้างแล้ว เช่น การบิน การทหาร และเกม แต่ในอนาคต VR จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพราะเป็นเครื่องมือที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการรับรู้และตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้นจากเดิม

แนวโน้มต่อมาก็คือ Cloud Migration หรือการเคลื่อนย้ายฐานข้อมูลต่างๆ สู่คลาวด์ ในปัจจุบันสถาบันการศึกษานำข้อมูลต่างๆ รวมถึงระบบไอทีของตนเองเข้าสู่ระบบคลาวด์มากขึ้นทุกวัน เพราะเป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูลที่ลดความยุ่งยากในการติดตั้ง การดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายได้ ซึ่งผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต จัดการบริหารทรัพยากรของระบบและสามารถแบ่งทรัพยากรมาใช้ร่วมกันได้

อีกหนึ่งแนวโน้มที่ YesCourse พูดไว้ คือ การวิเคราะห์เชิงทำนาย (Predictive Analytics) และการเรียนเชิงทำนาย (Predictive Learning) ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่ผู้เรียนมีการโต้ตอบกับโปรแกรมการศึกษาออนไลน์ พวกเขาจะทิ้งรอยดิจิทัลไว้ (Digital Footprint) สิ่งนี้ทำให้สถานศึกษาและครูผู้สอนสามารถใช้ทำนาย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เรียนได้ และสามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ตรงต่อตามความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นข้อดีต่อการเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที

แนวโน้มการศึกษา ใน ปี 2017

ส่วนเว็บไซต์ Pathway to Financial Success บอกว่า แนวโน้มการศึกษาจะเข้าสู่ยุค The Internet of Things (IoT) เพราะอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์โฟน โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรียนรู้มากขึ้นทุกวัน โดยบริษัทการ์ตเนอร์ (Gartner Inc.) คาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีอุปกรณ์สิ่งของต่างๆ เชื่อมต่อกันไม่ต่ำกว่า 20.8 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลของสหราชอาณาจักรจึงได้ทุ่มงบประมาณในการลงทุนด้านการวิจัยและศึกษาด้าน IoT ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์จาก IoT มีดังนี้

  1. ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning)
  2. รู้จักการแก้ไขปัญหาโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)
  3. กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและยั่งยืน (Self-directed Learning)
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัส (Multisensory Learning)
  5. สร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Gender Equality)
  6. สร้างห้องเรียนอัจฉริยะ (Creating Smart Classroom)

นอกจากนี้ Real-World Case Studies หรือกรณีศึกษาจากโลกแห่งความจริงจะเข้มข้นมากขึ้นในทุกวิชา เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียนและเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าข้อมูลในตำรา กรณีศึกษาในโลกแห่งความจริงยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนอีกด้วย

ในขณะที่ “บิล เกตส์” นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และเป็นผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้วิเคราะห์ไว้ว่า ค่าใช้จ่ายการศึกษาจะน้อยลงและทุนการวิจัยจะมากขึ้น เป็นที่รู้กันว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาและการต่อยอดการศึกษา แต่ที่ผ่านมานักวิจัยหลายคนต่างต้องวิ่งเต้นหาทุนวิจัย และหาการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ฟรีจากระบบการศึกษาที่เรียกว่า MOOCs (Massive Online Open Courses) จึงส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเรียนน้อยลง ผู้เรียนสามารถมีทุนวิจัยของตนเอง

ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างผู้สอนจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องสร้างห้องเรียนหรืออาคารเรียน เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการสอนและประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ ดังนั้นทำให้สถาบันการศึกษาประหยัดเงินทุนด้วยเช่นกัน ทำให้มีเงินทุนในการวิจัยมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้เรียนเป็นอย่างมาก

ซึ่ง MOOCs ยังช่วยให้ผู้สอนเรียนรู้วิธีพัฒนาตนเอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาด้านการศึกษามักจะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้สอนยังเข้าถึงการรับรู้ฟีดแบ็คเกี่ยวกับความสามารถตนเองได้ไม่ดีมากพอ ทำให้ผู้สอนไม่รู้ข้อบกพร่องและไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกทางหรือไม่ โดย MOOCs จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ คือ MOOCs จะทำการเก็บรวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนใช้บนระบบและนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

ดังนั้น การส่งเสริมเรื่องการศึกษาในโลกเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันให้ทันนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราควรช่วยกันพัฒนาต่อไป เพื่อทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้ได้กว้างมากยิ่งขึ้น เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว กระชับ ถูกต้อง และสามารถแข่งขันให้ทันกับโลกในปัจจุบันได้

——————————————————-

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ