การจัดอันดับ โรงเรียน

10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่ และดีที่สุดในเมืองไทย

Home / ข่าวการศึกษา / 10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่ และดีที่สุดในเมืองไทย

ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องของการศึกษาสิ่งแรกที่เราต้องนึกถึงกันเลยก็คือ “โรงเรียน” เพราะเป็นสถานที่ที่มอบความรู้ อบรมสั่งสอนเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี และยิ่งเป็นโรงเรียนมัธยมด้วยแล้วนั้น ยิ่งต้องศึกษาให้ดีเสียก่อนที่จะเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมในสถาบันต่างๆ เลย ทั้งต้องดูถึงคุณภาพของการศึกษา ระบบการเรียนการสอนว่าป็นอย่างไรบ้าง และนี่คือ 10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่ และดีที่สุดในเมืองไทย ที่วัดมาจากผลการสอบ แอดมิชชัน โควตา รับตรง และคะแนนสอบต่างๆ จะมีโรงเรียนไหนกันบ้าง ตามมาดูกันเลย

10 อันดับ โรงเรียนที่เก่าแก่ และดีที่สุดในเมืองไทย

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

1. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ชื่อภาษาอังกฤษ : Mahidol Wittayanusorn School

ชื่อย่อ : มวส.

สัญลักษณ์ : ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีลักษณะเป็นวงกลม มีอักษรตอนบนว่า “ปญญาย ปริสุชฌติ คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา” ตรงกลางวงกลมประกอบด้วยอักษร “ม” สัญลักษณ์ประจำราชสกุลมหิดล อยู่ภายใต้จักรตรี และพระมหาพิชัยมงกุฏและด้านล่างภายใต้วงกลมมีข้อความว่า “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” ตัวอักษร ม หมายถึง พระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยทางโรงเรียนได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

ต้นไม้ประจำโรงเรียน : ต้นศรีตรัง

สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน-สีเหลือง โดยสีน้ำเงินแทนพระมหากษัตริย์ และสีเหลืองแทนนักวิทยาศาสตร์

เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชนเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เคยตั้งอยู่ที่วัดไร่ขิง ในปัจจุบันตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์มีการใช้ระบบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนเอง โดยปรกติมีอัตราการรับเข้าประมาณ 1.5% (240 คนจากนักเรียนที่สมัครแต่ละปีประมาณ 20,000 คน) โดยนักเรียนทุกคนได้รับทุนการศึกษาเต็มตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียน

เว็บไซต์โรงเรียน : www.mwit.ac.th

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

2. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Triam Udom Suksa School

ชื่อย่อ : ต.อ.

สัญลักษณ์ : ตราพระเกี้ยวเปล่งรัศมี

สีประจำโรงเรียน : สีชมพู

เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างสากลถือเป็น พ.ศ. 2481) โดยมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรก

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาณาบริเวณติดกับหลายคณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารจุฬาวิชช์

เว็บไซต์โรงเรียน : www.triamudom.ac.th

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

3. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Suankularb Wittayalai School

ชื่อย่อ : ส.ก.

สัญลักษณ์ : ตราประจำโรงเรียนเป็นรูปหนังสือมีไม้บรรทัดดินสอปากกาคั่นอยู่ หน้าปกหนังสือมีพระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ และอักษรย่อ จ.ป.ร. ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวหนังสือกำกับว่า “โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ” ด้านบนปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ “สุวิชาโน ภวํ โหติ” ด้านล่างมีคำแปลว่า “ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ”

คติประจำใจ : “เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง” คือสุภาพบุรุษสวนกุหลาบวิทยาลัย

ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกกุหลาบพันธุ์จุฬาลงกรณ์

สีประจำโรงเรียน : “สีชมพู-สีฟ้า” สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพใน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เป็นโรงเรียนชายล้วนในระดับชั้น มัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2425 ปัจจุบันมีอายุ 135 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 88 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 7 หลัง ห้องเรียนทั้งหมด 78 ห้อง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็น 1 ในกลุ่มโรงเรียนจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมของทั้ง 4 โรงเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในทุกๆ 2 ปี นอกจากการแข่งขันฟุตบอล ยังมี การแปรอักษร ของทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของงาน โดยกีฬาจตุรมิตรสามัคคีจะจัดขึ้นในทุกๆ 2 ปี ที่สนามศุภชลาศัย นอกจากนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ และงานชุมนุมลูกเสือ-เนตรนารี สวนกุหลาบสัมพันธ์ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

เว็บไซต์โรงเรียน : www.sk.ac.th

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา

โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา

4. โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Hatyaiwittayalai School

ชื่อย่อ : ญ.ว.

สัญลักษณ์ : “ตรี-จักร” ตรี : สัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ จักร : ความยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ ความคม อันจะปกป้องสถาบันทั้งสาม

ปรัชญา : เรียนดี กีฬาเด่น เน้นคุณธรรม

ต้นไม้ประจำโรงเรียน : จามจุรี

สีประจำโรงเรียน : “สีฟ้า-สีแดง” สีฟ้า คือ ความฉลาดอันสูงส่งเป็นเลิศ และ สีแดง คือ ความเข้มข้นในความรักชาติ

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ลำดับที่ 3 ของจังหวัดสงขลา ในระยะต้นเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย จึงเรียกกันติดปากว่า “โรงเรียนมัธยมชาย หรือ มอชาย” มีชื่อย่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า มชญ. ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงการรับนักเรียนจากชายล้วนเป็นสหศึกษา โดยยุบรวมกับโรงเรียนสตรีหาดใหญ่ “สมบูรณ์กุลกันยา” สถาปนาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2488 ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 จาก UKAS ประเทศอังกฤษ

เว็บไซต์โรงเรียน : www.hatyaiwit.ac.th

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

5. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

ชื่อภาษาอังกฤษ : Samsenwittayalai School

ชื่อย่อ : ส.ส.

สัญลักษณ์ : ดวงประทีป เหนืออักษรย่อชื่อโรงเรียนภายในวงกลม มีปรัชญาของโรงเรียนเป็นภาษาบาลี และคำแปลเขียนล้อมวงกลมรอบนอก และชื่อโรงเรียนในแถบโบว์ปลายพลิ้วรูปครึ่งวงกลมที่ส่วนล่างสุด

ธงประจำโรงเรียน : พื้นธงสีชมพู แถบสีละครึ่งผืน ตามความยาวของผืนธง สีชมพูอยู่บน สีเขียวอยู่ล่าง ปักด้วยไหม เป็นรูปตราโรงเรียนทางมุมซ้ายของผืนธง ตรงแถบสีชมพู

สีประจำโรงเรียน : สีชมพู-สีเขียว

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำนวน 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา มีนักเรียนจำนวน 3,050 คน ข้าราชการครูจำนวน 129 คน สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2498 โดยเริ่มจากเมื่อในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการจะสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูที่บริเวณระหว่างถนนศรีอยุธยากับซอยรางน้ำ แต่เนื่องจากสถานที่เรียนของนักเรียนมีไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการ จึงโอนโรงเรียนที่กำลังสร้างนี้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมของ กรมวิสามัญ จน 4 ปีต่อมาได้ย้ายนักเรียนมาที่โรงเรียนแห่งใหม่และตั้งชื่อว่า “โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย” ที่นี่ยังเคยได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) และยังมีนักเรียนอีกหลายคนได้ไปแข่งขันวัดความรู้กับหลายๆ ประเทศ และได้รางวัลกลับมาอีกด้วย

เว็บไซต์โรงเรียน : www.samsenwit.ac.th

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง

6. โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bunyawat Witthayalai School

ชื่อย่อ : บ.ว.

สัญลักษณ์ : เป็นอักษรย่อ บ.ว. ในกรอบลายกนก ข้างล่างมีคติพจน์ประจำโรงเรียนว่า “สมฺมา วายเมเถว ปุริโส” แปลว่า “เป็นคนพึงทำดีร่ำไป”

ปรัชญา : วิชาการเป็นเลิศ เทิดสถาบัน ยึดมั่นคุณธรรม

สีประจำโรงเรียน : “สีแดง-สีขาว” สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และสีขาว หมายถึง ความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ ซึ่งก็มีความหมายรวม คือ ความกล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรม

โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดลำปาง และเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 35 (ลำปาง-ลำพูน) เปิดการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 แบบสหศึกษา มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 4,291 คน คณาจารย์และบุคลากรจำนวน 270 คน นอกจากนี้โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนเครือข่ายโครงการโอลิมปิกวิชาการศูนย์โรงเรียนขยายผล สอวน. สาขาเคมี

และปัจจุบันเป็นสถานศึกษาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยในระยะเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนนี้ได้สร้างชื่อเสียงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ที่สำคัญได้รับการดัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นโรงเรียนดีเด่นได้รับรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษา ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ส่วนในปีที่ผ่านมายังได้รับรางวัล the International Sustainable World เหรียญทองแดง ในหัวข้อ The Magic of Leonardite : the Absorbent Agent to Clean Wastewater เป็นตัวแทนโครงงานประเทศไทยเข้าแข่งระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เว็บไซต์โรงเรียน : www.bwc.ac.th

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

7. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bodindecha (Sing Singhaseni) School

ชื่อย่อ : บ.ด.

สัญลักษณ์ : พระเกี้ยว ตราประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า “ศิราภรณ์ประดับยอดศีรษะ” หรือ “จุลมงกุฎ” ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับ “มงกุฎ” พระปรมาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันมีความหมายว่า “พระจอมเกล้าน้อย” เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่าพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์

ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนข้าราชการ และหลังจากนั้นจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสภามหาวิทยาลัยลงมติจัดตั้ง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงรับเอาตราพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียนด้วย และเมื่อ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ก่อตั้งโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน

ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกบัวนิลุบล

สีประจำโรงเรียน : สีน้ำเงิน

เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพมหานคร ประเภทสหวิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2514 ตั้งอยู่บนที่ดิน จำนวน 39 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วตกทอดมาจนถึงคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ  สิงหเสนี) ผู้เป็นทายาทได้มอบที่ดินผืนนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อสืบสานปณิธานอันแน่วแน่ของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต้องการให้มีโรงเรียนสอนคน สร้างปัญญาและคุณธรรม โรงเรียนในกลุ่มบดินทรเดชา ประกอบด้วย 6 แห่งด้วย ได้แก่

  1. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
  2. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
  3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
  4. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
  5. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
  6. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการ

พ.ศ. 2532 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับคัดเลือกให้เป็น “โรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่” ต่อมา พ.ศ. 2537 เป็นปี “กาญจนาภิเษก” ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงครองศิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และเป็นปีที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ก่อตั้งมาครบรอบ 25 ปี ทายาทสกุลสิงหเสนี คณาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง และศิษย์เก่า จึงได้ร่วมใจสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และในวันที่ 24 มิถุนายน 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรง ประกอบพีธีเปิดพิพิธภัณฑ์

เว็บไซต์โรงเรียน : www.bodin.ac.th/home

ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

8. ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ชื่อภาษาอังกฤษ : Srinakharinwirot University Prasarnmit Demonstration School

ชื่อย่อ : ม.มศว (มัธยม) / ป.มศว (ประถม)

สัญลักษณ์ : เป็นรูปกราฟเอ็กโปเน็นเชี่ยล ที่เขียนแทนสมการทางคณิตศาสตร์ Y=ex หมายถึง การเพิ่มหรือการงอกงาม และเป็นตราสัญลักษณ์เดียวกันกับตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ปรัชญา : การศึกษาคือความเจริญงอกงาม

สีประจำโรงเรียน : “สีเทา-สีแดง” สีเทา หมายถึง สมอง และสีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ ดังนั้นจึงมีความรวมกันว่า “ความกล้าที่จะคิด” และทั้งสองสีนี้ยังเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอีกด้วย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้พัฒนาจากโรงเรียนประสานมิตร ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญศึกษา ในบริเวณโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงเป็นระบบโรงเรียนสาธิต เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติงานในการฝึกสอนระดับมัธยมศึกษาของนิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ต่อมาได้ตั้งโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา เพิ่มเป็นสถานที่ปฏิบัติงานในการฝึกสอนระดับประถมศึกษา และได้มีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน โดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มีการแบ่งหน่วยงานออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2495  และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499

เว็บไซต์ โรงเรียน (ฝ่ายมัธยม)www.satitprasarnmit.ac.th

เว็บไซต์ โรงเรียน (ฝ่ายประถม) : prathom.swu.ac.th

โรงเรียนเทพศิรินทร์

โรงเรียนเทพศิรินทร์

9. โรงเรียนเทพศิรินทร์

ชื่อภาษาอังกฤษ : Debsirin School

ชื่อย่อ : ท.ศ.

สัญลักษณ์ :

ภาพอาทิตย์อุทัยทอแสงบนพื้นน้ำทะเล หมายถึง “ภาณุรังษี” และ “วังบูรพาภิรมย์” โดย “ภาณุรังษี” นี้เป็นพระนามของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงประทานตรานี้ให้แก่โรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2467 พระองค์มีพระคุณอเนกอนันต์แก่โรงเรียน อาทิทรงเป็นผู้ทูลขอให้ทรงสถาปนาโรงเรียนต่อองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2438 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนาโรงเรียนแบบถาวรและทรงถือว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในดูแลของพระองค์ด้วย

อักษรประดิษฐ์ “ม” หมายถึง “หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา” ชายาอันเป็นที่รักของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงหม่อมแม้น ว่าถ้าไม่มีหม่อนแม้น การกำเนิด ตึกแม้นนฤมิตร ก็คงไม่มี ดังนั้นโรงเรียนเทพศิรินทร์ก็คงไม่มี จึงเป็นความหมายที่ควรระลึกไว้

ช่อดอกรำเพย หมายถึง พระนามแห่งองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ศิริวงศ์” พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสร้างพระอารามและโรงเรียนเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระ บรมราชชนนี ทำเครื่องหมายดอกรำเพยไว้เพื่อให้คนรุ่นหลัง รู้ไว้ว่าพระนามเทพศิรินทร์นี้ได้มาจากพระองค์ท่าน เป็นพระนามมหามงคลยิ่งควรรักษาไว้ให้ดี

สีประจำโรงเรียน : สีเขียว-สีเหลือง เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ตามตำราพิชัยสงคราม (สวัสดิรักษา) ซึ่งวันพฤหัสบดีนั้นเป็นวันประสูติของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 อีกทั้งยังเป็นสีของใบและดอกของต้นรำเพย ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี คือ “พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์”

เป็นโรงเรียนชายล้วนขนาดใหญ่ในกลุ่มจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ตั้งอยู่ เลขที่ 1466 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

โรงเรียนเทพศิรินทร์ อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนประจำวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ก่อตั้งขึ้นใน 15 มีนาคม พ.ศ. 2428 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันโรงเรียนเทพศิรินทร์ มีอายุ 132 ปี นอกจากนี้โรงเรียนเทพศิรินทร์ยังประกอบด้วย โรงเรียนเครือข่ายที่มีคำนำหน้าว่า “เทพศิรินทร์” อีก 9 แห่ง ได้แก่

  1. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ร่มเกล้า
  2. โรงเรียนเทพศิรินทร์ คลองสิบสาม ปทุมธานี
  3. โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี
  4. โรงเรียนเทพศิรินทร์ พุแค สระบุรี
  5. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ลาดหญ้า
  6. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ขอนแก่น
  7. โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่
  8. โรงเรียนเทพศิรินทร์ ๙ โครงการหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์
  9. โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ

โรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเข้ารับการศึกษา คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นอกจากนี้ยังมีนักเรียนเก่าที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมากมาย ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไทย 4 คน และยังรวมถึงนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งประเทศมาเลเซีย อีกด้วย

เว็บไซต์ โรงเรียน : www.debsirin.ac.th

โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จ.ยะลา

โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา

10. โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จ.ยะลา

ชื่อภาษาอังกฤษ : Kanarasdornbumroong Yala School

ชื่อย่อ : ค.บ.

สัญลักษณ์ : รูปเชิงเทียนพญานาคสองเศียร มีเทียนปักอยู่ตรงกลาง เปลวไฟกำลังเปล่งแสงสว่างโชติช่วงเปลวไฟที่กำลังส่องสว่าง เป็นสัญลักษณ์บอกให้ทราบว่า “โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เป็นสถาบันที่ให้ความสว่างทางปัญญาแก่นักเรียนให้ออกไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไปในอนาคต”

วิสัยทัศน์ประจำโรงเรียน : จัดการเรียนรู้คู่คุณธรรม ดำรงตนอย่างมีความสุขในประชาคมโลก

สีประจำโรงเรียน : “สีเขียว-สีเหลือง” สีเขียว หมายถึง ความรัก ความผูกพันระหว่างกันของบุคลากรคณะราษฎร์ และ สีเหลือง หมายถึง ความรุ่งโรจน์ของสถาบัน อันเนื่องมาจากความมีคุณภาพ

ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2452 หรือเปิดสอนมาแล้วกว่า 105 ปี เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดและยังเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดยะลาอีกด้วย โดยเริ่มแรกเปิดสอนแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น ต่อมาได้ขยายโรงเรียนออกมาเรื่อยๆ ทำให้ในปัจจุบันเปิดรับสมัครนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เท่านั้น เป็นโรงเรียนประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงการศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังเคยได้รางวัลพระราชทานให้เป็นโรงเรียนดีเด่น ประเภทมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ กรมสามัญศึกษาประจำปี 2522-2539 รวมแล้วได้รับรางวัล 6 ปีซ้อนด้วยกัน

เว็บไซต์ โรงเรียน : www.kbyala.ac.th

ภาพจาก : www.chulatutordelivery.comjiminnieeoom.weebly.com, np22071.blogspot.comwww.google.co.th

บทความที่เกี่ยวข้อง