คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิด 2 หลักสูตรใหม่ ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสถิติประยุกต์ และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน เพื่อรองรับเทรนด์การศึกษาและอาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงไปให้ตามทันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย เน้นการสอนในเชิงการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และการใช้คณิตศาสตร์เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาด้านการเงิน โดยจะเปิดรับนักศึกษา 50 คนต่อหลักสูตร ซึ่งจะเริ่มรับสมัครตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป
มธ. เปิด 2 หลักสูตรใหม่ สถิติประยุกต์-คณิตการเงิน
ทางด้าน รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นอาชีพที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงานสูงมาเป็นอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงถึง 117,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,656,135 บาทเลยทีเดียว
สำหรับใครที่ต้องการทำอาชีพนี้จะต้องเป็นคนที่สามารถจัดการ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้ เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้น เข้าใจผู้บริโภค จัดการชื่อเสียงขององค์กร ประหยัดงบประมาณ และสามารถพัฒนาแผนการตลาดของภาคธุรกิจ รวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้มหาศาล
รศ.ดร.สมชาย ยังได้กล่าวต่ออีกด้วยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลอยู่ประมาณ 200 คน ซึ่งสวนทางกับความต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากการเรียนการสอนระดับอุมศึกษาของไทยยังคงมีจำนวนน้อย ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ทำการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ในวิชาเอกสถิติประยุกต์ และวิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน เพื่อตอบสนองในทุกภาคธุรกิจด้านการเงินและการจัดการข้อมูลในยุคดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ วิชาเอกการเงิน ที่มุ่งเน้นการสอนกระบวนการทางคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินและการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อตอบโจทย์การผลิตบุคลากรด้านคณิตศาสตร์การเงินยุคใหม่ ที่ต้องใช้งานนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ในการปฏิบัติงานด้วย
ดร.ขจี จันทรขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสถิติประยุกต์ และวิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน จะเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน ผ่านการจำลองสถานการณ์ตัวอย่างของภาคธุรกิจ อาทิ การศึกษาแบบจำลองการลงทุนทางด้านการเงินของภาคธุรกิจ การเปรียบเทียบนโยบายทางภาษี ของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เทคนิคเหมืองข้อมูลสำหรับการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อปรับปรุงการแนะนำสินค้าให้ ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค โดยทั้ง 2 หลักสูตรมีรายละเอียด ดังนี้
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสถิติประยุกต์
มุ่งสอนเกี่ยวกับหลักสถิติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการแก้ปัญหาจริง ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการประยุกต์ ซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ทางสถิติ การจัดการข้อมูล เหมืองข้อมูลและธุรกิจอัจฉริยะ ตลาดการเงินและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจหลากมิติ เช่น วางแผนการตลาด การประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมาย การจัดกลุ่มข้อมูลลูกค้า การแนะนำสินค้า และการตรวจสอบความผิดปกติของข้อมูล เป็นต้น
โดยบัณฑิตสามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่อาชีพต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ นักวิเคราะห์การวางแผน วิจัยและประมวลผล นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ งานด้านการควบคุมคุณภาพ ฯลฯ
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน
มุ่งสอนเกี่ยวกับการศึกษากระบวนการทางคณิตศาสตร์ และสถิติที่ใช้ในการแก้ปัญหาทางการเงินเป็นหลัก และการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมการเงิน ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ทั้งแคลคูลัส คณิตศาสตร์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คณิตศาสตร์การเงิน การวิเคราะห์ปริมาณทางการเงิน วิทยาศาสตร์ข้อมูลสำหรับคณิตศาสตร์การเงิน คณิตศาสตร์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อนุพันธ์ทางการเงินเชิงคณิตศาสตร์ ฯลฯ ที่ช่วยให้ระบบการเงินของภาคธุรกิจหรือธนาคารสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว
โดยบัณฑิตสามารถทำงานธุรกิจการเงินยุคใหม่ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นองค์ประกอบหลัก รวมไปถึงอาชีพต่างๆ เช่น นักวางแผนการลงทุน (Investment Planner: IP) นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst: IA) นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) นักวิเคราะห์ความเสี่ยง ฯลฯ
การสมัครเข้าเรียนต่อ…
สำหรับ 2 หลักสูตรใหม่ มีแผนเปิดรับนักศึกษาใหม่เพื่อเข้าศึกษาต่อจำนวน 50 คนต่อหลักสูตร โดยจะต้องผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2561 มีการเปิดรับทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน ได้แก่
1. รอบรับตรงร่วมกัย ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561
2. รอบแอดมิชชันกลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2561
3. รอบรับตรงอิสระ ระหว่างวันที่ 6-20 กรกฏาคม 2561
โดยน้องๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครและทำการสมัครออนไลน์ได้ที่ : www.reg.tu.ac.th