the voice thailand 2019 นักดนตรี นิว-สิรภพ วง gliss วิทยาลัยดนตรี ออย-กุลจิรา

การเรียนสุดติสท์ของเด็กดนตรีเลือดใหม่ วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / การเรียนสุดติสท์ของเด็กดนตรีเลือดใหม่ วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต

มาส่องดูการเรียนสุดติสท์ของนักศึกษาวิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต หนุ่มสาวนักดนตรีเลือดใหม่ ออย-กุลจิรา ทองคำ ปี 2 สาขาวิชาดนตรีแจ๊สและการแสดงเชิงปฏิภาณ สาวเสียงใสจากการประกวด The Voice Thailand 2019 และนิว-สิรภพ คมขำ ปี 2 สาขาวิชาการผลิตดนตรี นักร้องหนุ่มสมาชิกวง Gliss

การเรียนสุดติสท์ของเด็กดนตรีเลือดใหม่ วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต

จุดเริ่มต้นมาเรียนดนตรี

ออย : ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อก็เป็นนักดนตรี ช่วงม.ปลายก็มีพี่ๆ ที่เรียนจบจากม.รังสิตเยอะ เขาแนะนำให้ลองสอบทุนดู เราก็เลยสอบ เลือกเป็นสาขาวิชาดนตรีแจ๊สฯ แล้วก็ติดค่ะ ที่อยากเรียนดนตรีแจ๊ส เพราะตอนม.ปลาย ครูไพรเวทเคยเอาเพลงแจ๊สมาให้ร้อง ร้องแล้วรู้สึกชอบ มันเข้ารูปปาก และมีอะไรที่น่าค้นหาดี

นิว : ตอนม.ปลายก็รู้แล้วว่าชอบดนตรี ผมชอบเล่นกีต้าร์มาตั้งแต่เด็ก พอตอนม.ปลายก็มาทำวง Gliss กับเพื่อนๆ พี่ๆ อยู่ด้วย รู้เลยว่าในอนาคตเราต้องทำงานสายนี้แน่ๆ ก็เลยลองไปค้นหาข้อมูลมหา’ลัยที่สอนดนตรี ก็ไปเจอที่นี่มีเปิดสอนด้านการผลิตเพลง เราก็ชอบแบบนี้ ก็เลยลองไปสอบ แล้วก็ติดครับ

การเรียนจนถึงปี 2

ออย : พอได้มาเริ่มเรียน รู้สึกว่าแจ๊สเป็นอะไรที่ไม่มีกฏตายตัว เข้าถึงยาก ถ่ายทอดออกมาได้ยาก แต่ก็มีเสน่ห์ มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ชอบที่การเรียนที่นี่มีการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะ

เป็นสาขาอะไร ทุกคนทำงานด้วยกัน ช่วยเหลือกัน เพราะทุกๆ งาน เราต้องพึ่งพิงทุกๆ สาขาเสมอ

นิว : ตอนแรกที่เข้ามาคิดว่ามันจะง่ายกว่านี้ (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่เลย เราลืมไปว่าดนตรีไม่ได้มีแค่วิชาที่อยากเรียน เราไม่ได้เรียนสาขาเราสาขาเดียว ต้องเรียนพื้นฐานดนตรีก่อน ซึ่งเรามีพื้นฐานมาค่อนข้างน้อย ได้เรียนวิชาโสตทักษะที่เราไม่เคยเรียน แต่ก็ต้องพยายามมากขึ้น สุดท้ายก็ผ่านมันมาได้

เทคนิคการเรียนแต่ละคน

ออย : สำหรับแจ๊ส จะแบ่งเป็นทฤษฎีแล้วก็การซ้อมค่ะ ทฤษฎีก็ต้องมีการติวกัน ส่วนการซ้อมก็จะหนักกว่าทฤษฎี เพราะไพรเวท อาจารย์ค่อนข้างโหด เราก็ต้องทำการบ้านมาหนักนิดหนึ่ง คือต้องแบ่งเวลาทั้งติวทฤษฎี แล้วก็ซ้อมไพรเวทด้วยค่ะ เพราะปีสองสาขาเราจะเรียนหนักมาก

นิว : ผมเน้นการฟัง คนเรียนดนตรีทุกคนต้องหูดี เราอยู่กับดนตรี เราต้องใช้หูเป็นหลัก ส่วนตัวผม ผมจะถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าให้ดูเยอะๆ ให้ฟังเยอะๆ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นมันจะถูกรวบรวมเอามาเป็น Source ให้เราเอามาทำงานได้เสมอ

ชาวแก๊งเด็กดนตรี

นิว-ออย : เด็กดนตรีส่วนใหญ่จะเรียนแบบชิลๆ เหมือนการเรียนเป็นไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันไปแล้ว จุดเด่นของเด็กดนตรี คือ ความเป็นมิตรและเฟรนลี่ ทุกคนมีแววตาที่น่ารัก อยู่เฉยๆ ก็ยิ้ม (หัวเราะ) เป็นคนที่พร้อมจะให้คำปรึกษาคนอื่นๆ เสมอ

ฝากเชิญชวนเด็กดนตรีรุ่นถัดไป

ออย-นิว : อยากเชิญชวนน้องๆ ที่ชอบดนตรี รู้สึกว่าดนตรีไม่ได้เล่นคนเดียวแน่นอน ที่นี่เหมาะสมที่สุด เพราะเราอยู่กันเป็นครอบครัว ช่วยเหลือกันตลอด สำหรับคนที่อยากจะพัฒนาและค้นหาตัวเอง ที่นี่ก็ตอบโจทย์ที่สามารถจะค้นหาตัวเองได้ ส่วนน้องๆ บางคนที่รู้สึกว่า เราชอบดนตรี แต่เรายังไม่เก่ง รู้สึกยังไม่พร้อมที่จะมาเรียนดนตรีจริงจัง อยากให้ลบความคิดนั้นทิ้งไป เพราะอย่างเพื่อนบางคนที่เรียนด้วยกันหลายคน เข้ามาแรกๆ ไม่เก่งเลย แต่ทุกวันนี้กลายเป็นคนเก่งที่พัฒนาขึ้นมากๆ เพราะฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนนี้เรามีสกิลขนาดไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าในทุกๆ วันที่เราเข้ามาเรียนแล้ว เราเก่งกว่าเมื่อวานหรือเปล่า

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ใน Campus Star No.76

www.facebook.com/campusstar