วัยรุ่นสมัยนี้ หนีไม่พ้นต้องไปตามหารุ่นพี่ติวเตอร์คนเก่งที่จะมาช่วยไกด์นำทางการเรียนให้น้องๆ แต่กว่าที่พี่ๆ ติวเตอร์คนดังจะมีความเป็นมืออาชีพในวิชานั้นๆ ก็ต้องผ่านการฝึกฝนทักษะนั้นมาด้วยตัวเองเหมือนกับมิว-ชลิต เจียรเกียรติ หรือครูพี่มิวผู้สดใสของน้องๆ ครูสอนภาษาอังกฤษ แห่งเว็บไซต์ TUTOR ME ดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครูพี่มิว TUTOR ME
ประสบการณ์การติวภาษาอังกฤษตั้งแต่เรียนปี 1
“เริ่มติวเตอร์สอนตั้งแต่ปี 1 เทอม 2 จุดเริ่มต้นคือตลกมาก เพื่อนรับงานไว้ แล้วเขาให้เราไปสอนแทน สอนแบบห้องใหญ่เลย เราก็อยากได้เงินเลยไป ครั้งต่อๆ ไป ก็เริ่มมีงานเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มสอนจริงจังตอนปี 3 ไปสมัครบริษัทจริงจังเลย ก็ไปลองกับเพื่อน ไปกัน 3 คน สองคนแรกผ่าน พอถึงเรา ไม่ผ่าน เราแบบเสียความมั่นใจมาก แต่กลายเป็นว่าเขาให้เราไปดูตัวอย่างในบริษัทของเขา แล้วช่วงนั้นขาดคนพอดี เขาก็เลยให้ไปลองสอน แล้วเจ้านายเขาไปนั่งดูด้วย เขาก็บอกว่า เฮ้ย เธอก็โอเคนะ เราก็เริ่มมั่นหน้ามั่นใจตั้งแต่นั้นมา (หัวเราะ)”
การสอนเอนเตอร์เทนสไตล์ครูพี่มิว
“ตอนแรกที่สอนเราจะเน้นความเป็นเอนเตอร์เทนด้วย เพื่อให้เด็กสนใจ ทีนี้พอเด็กเล่นกับเรา บางทีทำให้เราหลุดคำไม่สุภาพออกไปบ้าง ซึ่งครูในโรงเรียนบางคนเขาก็ไม่ชอบใจ แต่คือหนูรู้สึกว่าวิธีที่จะเข้ากับเด็กได้ คือ ต้องมีเล่นกับภาษา มีคำผวน ให้มันเป็นมุขบ้าง เขาถึงจะรับสิ่งที่เราพูดได้ ถึงแม้ถ้าเทียบกับตอนนี้ ที่เราเริ่มแก่ขึ้น แต่เราก็ต้องตามเด็กสมัยนี้ให้ทัน เริ่มเปิดดูเกาหลีตามที่เด็กชอบบ้าง ต้องร้องเพลงให้ได้ ต้องเต้นให้ได้นิดหนึ่ง เพื่อให้เด็กเอนจอยและสนุกไปกับการสอน”
แรงบันดาลใจในอนาคต
“การพัฒนาภาษาอังกฤษ จะเหมือนที่เราสอนเด็กตลอด อย่างมีเด็กคนหนึ่งชอบนักร้องฝรั่งคนหนึ่ง เราก็จะบอกไปให้สุดเลยลูก ถ้าชอบไปให้สุด จากเด็กที่ชอบเฉยๆ ก็ได้แรงบันดาลใจ ได้คำศัพท์ จนตอนนี้เขาทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้โดยไม่รู้ตัว เหมือนกับเราที่ตอนนี้ก็จะชอบดูซีรีส์ฝรั่งทุกเรื่อง อีกอย่างคือรู้สึกว่าวุฒิของเราถ้าเอาไปแชร์ให้คุณครูที่โตกว่าเรา เขาอาจจะไม่เชื่อในสิ่งที่เราสอน ก็เลยตัดสินเรียนต่อโทด้วย แล้วก็เป็นติวเตอร์ตามสถาบันต่างๆ ติวเตอร์ออนไลน์ที่ TUTOR ME และความใฝ่ฝันในอนาคตก็อยากจะเปิดสถาบันเป็นของตัวเอง มีทำเป็นคอร์สออนไลน์ แล้วส่งไปทางช่องออนไลน์ต่างๆ ด้วย”
THINKING TO CAMPUS
“สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นติวเตอร์ในด้านใดด้านหนึ่ง ที่สำคัญก็คือ เราต้องมีความรู้ในด้านนั้นให้ลึกที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ อย่ารู้แค่เนื้อหาที่ต้องสอน แต่ต้องรู้ให้ลึกกว่านั้น เพราะถ้าเด็กถามอะไรที่เกินเนื้อหาขึ้นมา เราจะไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ลึก เราก็สามารถเอามาอะแดป มาอธิบายให้เด็กฟังได้ หรือถ้าสิ่งที่เราไม่รู้ เราก็ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมมาให้ได้ สรุปคือเอาให้เป๊ะ ส่วนเทคนิคการสอนต่างๆ มันสามารถเก็บประสบการณ์เพิ่มเติมกันได้”