การบูมบัณฑิต เป็นอีกหนึ่งสีสันที่จะได้เห็นในวันรับปริญญา โดยจะมีน้อง ๆ เฟรชชี่ปี 1 รวมกลุ่มกันล้อมวงพี่ๆ บัณฑิต แล้วร้องเพลงบูม ในอดีตเราจะเห็นได้ว่าจะเป็นการร้องเพลงมาร์ชของมหาลัย แต่ในปัจจุบันมีการนำเพลงมาปรับใช้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น น้อง ๆ นิสิตจากคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา พวกเขาใช้เพลง EDM ในการบูมพี่บัณฑิต และใช้ชื่อแก๊งว่า Leaddance Logistics ไปทำความรู้จักกับพวกเขากัน พร้อมเปิดใจตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า บูมบัณฑิตเพื่ออะไร ทำไปเพื่อเงินหรือเปล่า?
บูมบัณฑิตเพื่ออะไร – คำตอบจาก Leaddance Logistics บัณฑิต ม.บูรพา
– –
(1) Leaddance Logistics การรวมตัวของคนชอบเต้น สู่แก๊งบูมบัณฑิต
Leaddance Logistics เริ่มจากกลุ่มรุ่นพี่ในคณะโลจิสติกส์ที่ชื่นชอบในการเต้นมารวมตัวกัน สร้าง Community สำหรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในคณะ โดยในเวลานั้นมีการจัดการแข่งขันที่ชื่อว่า American cheer กีฬาเฟรชชี่ของมหาวิทยาลัย และ Leaddance Logistics ก็ได้แสดงศักยภาพการเต้น Street dance ให้กับพี่น้องชาว ม.บูรพาได้รู้จักมากขึ้น โดยชื่อของแก๊งเชียร์ที่ใช้ชื่อว่า Leaddance Logistics เพราะว่าการเต้นเป็นศิลปะที่ไม่มีกรอบ จึงไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ American cheer โดยในแก๊งแต่ละคนก็จะมีการชอบเต้นที่หลากหลายทั้ง B-boy, K-POP และ HipHop เป็นต้น
โดยทางทีมจะมีการรับสมาชิกน้องปีหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว Leaddance Logistics ทุกปี ในแต่ละปี เราจะรับน้องๆ เฟรชชี่เข้ามาร่วมทีมรุ่นละ 15 คน ในส่วนของการคัดเลือกถือว่าค่อนข้างเข้มข้นมาก เนื่องจากเราใช้เวลาคัดเลือกถึง 3 วันจนกว่าจะได้น้องๆ ครบทีม
การคัดเลือกมีทั้งหมด 3 รอบ ภายใต้ข้อกำหนดคือ 1. การเต้นขั้นพื้นฐาน 2.ความสามารถพิเศษต่างๆ และ 3. ทัศนคติ เพื่อให้ได้น้องๆ ที่จะเข้ามาอยู่ใน Leaddance Logistics ทำกิจกรรมด้วยกันและเป็นครอบครัวช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกันในทุกๆ เรื่องไปตลอด 4 ปี ในชีวิตรั้วมหาวิทยาลัย
(2) ทำไมเราต้องบูมในรูปแบบเดิม ๆ – ฉีกกรอบการบูมที่เคยมีมา
สำหรับเรื่องคอนเซปท์ ในช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มบูมกันยอมรับเลยว่ายังไม่มีคอนเซปท์อะไร เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าจะมีคนสนใจบูม ทุกคนที่บูมก็ใส่กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ เสื้อยืดแค่นั้นเลย และก็ร้องเพลงบูมของมหาลัยที่เคย ๆ มีมา แต่พอปีต่อ ๆ มาเราก็เริ่มคิดกันว่าจำเป็นมั้ยว่าการบูมจะต้องเป็นวงกลมเสมอ? ถ้าเราอยากเปลี่ยนเป็นรูปทรงอื่นจะพอไปได้มั้ย?, แล้วทำไมเราถึงต้องบูมแค่วงเดียว, ถ้าเราปรับเป็นรูปแบบที่ซ้อนกันสองวงล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เราก็มาคิดว่าจะมีเอกลักษณ์อย่างไรให้แตกต่างออกไป โดยที่ให้เป็นตัวตนของทีมเรามากที่สุดด้วย เราจึงเริ่มจากการเต้นกับเพลง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราพวกเราเคยใช้ในการแข่ง America cheer มาปรับใช้ จากนั้นก็ค่อย ๆ หาไอเดียของการเล่นระหว่างที่บูมในแต่ปีซึ่งก็จะไม่เหมือนกันเพื่อสร้างความแตกต่าง
อย่างในปีล่าสุดนี้เราก็เลือกใช้เพลงสนุก ๆ แดนซ์ ๆ บ้าง สไตล์ EDM บ้าง คือมันเป็นเป็นกิจกรรรมที่พวกเราชอบและคิดว่าสามารถสร้างสีสันให้สนุกยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้เรายังคิดไปถึงการทำกิจกรรมร่วมกับพี่บัณฑิตโดยให้เขามีส่วนร่วมไปกับเราด้วย อย่างเช่น ให้พี่บัณฑิตรอดซุ้มจากการที่พวกเราประสานมือกันขึ้นมา ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่รุ่นพี่ชอบกันมากๆ มันทำให้เขาและพวกเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่แค่ยืนอยู่ในวงกลมเฉย ๆ
ภาพพี่บัณฑิตกำลังรอดซุ้ม
(3) บูมบัณฑิตเชิงปฏิบัติ ใช่! เราทำเพื่อเงิน แต่ประเด็นอยู่ที่เราให้อะไรมากกว่า
ถ้าถามว่าบูมบัณฑิตไปเพื่ออะไร? มีหลาย ๆ คนมองว่าทำไปเพื่อเงินหรือเปล่า? น้อง ๆ นิสิตแก๊ง Leaddance Logistics เผยในมุมมองของพวกเขาว่า…
การบูมเป็นการแสดงความยินดีอย่างหนึ่ง ตอนเราปี 1 รุ่นพี่ก็จะบูมให้เรา เหมือนเป็นการแสดงความยินดี ที่เราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะแห่งนี้ เข้ามาเป็นครอบครัวที่นี่ และพอถึงวันที่พี่บัณทิตรับปริญญา บางคนมองว่าการมายินดีกับบัณทิต จะต้องเป็นช่อดอกไม้ใหญ่ๆ รึเปล่า หรือ ต้องเป็นลูกโป่งเยอะๆ แต่กับน้องบางคนที่ไม่ได้มีปัจจัยมากมายอะไร พวกเขาก็จะเลือกที่จะแสดงการยินดีโดยเป็นการกระทำมากกว่า นั่นก็คือการบูม ส่วนเรื่องของเงินที่บัณทิตหยอดกล่องให้ เป็นเหมือนน้ำใจและการแสดงขอบคุณกับพวกเรามากกว่า
ในเชิงปฏิบัติก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ใช่ครับ” ทำเพื่อเงิน แต่ในมุมมองของพวกเราประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราบูม “เพื่อ-อะ-ไร” แต่มันอยู่ที่ว่าเราบูม “เพื่อ-ให้-อะไร” มากกว่า
เพราะ “การบูม” มันมีแต่เรื่องของ “การให้” นะ พวกเราตั้งใจฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อที่จะทำให้การบูมออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด นั่นก็เพื่ออยากที่จะ “ให้กำลังใจ” และ “แสดงความยินดี” กับพี่บัณฑิตที่กำลังก้าวสู่ถนนแห่งการทำงาน ในขณะเดียวกัน พวกเราก็ได้รับ “เงิน” เป็นสิ่งตอบแทนหรือตัวแทนของกำลังใจ ที่พี่บัณฑิตส่งกลับมาให้
ในท้ายที่สุดพวกเราเชื่อเหลือเกินว่า วันหนึ่งที่พี่บัณฑิตมองย้อนกลับมา เค้าจะเห็นคณะ เห็นรุ่นน้อง เห็นกิจกรรมที่พัฒนาขึ้น จากกำลังใจเล็กๆ ที่เรียกว่า “เงิน”
ขอบคุณบทสัมภาษณ์จากน้อง ๆ Leaddance Logistics