ภาษาไทย

เกร็ดความรู้เรื่อง คำที่มีความหมายชวนคะนึง – ภาษาไทย

Home / วาไรตี้ / เกร็ดความรู้เรื่อง คำที่มีความหมายชวนคะนึง – ภาษาไทย

สวัสดีค่ะน้อง ๆ วันนี้ครูพี่โบว์มีเกร็ดความรู้เรื่อง “ คำที่มีความหมายชวนคะนึง ” มาเล่าสู่กันฟังค่ะ .. อย่าเพิ่งทำหน้านิ่ว คิ้วขมวดกันแบบนั้นสิคะ ครูพี่โบว์ขอใบ้ก่อนเลยว่า ถึงแม้จะชื่อแปลกแต่เราคุ้นเคยกันสุดๆ ใช้คำเหล่านี้และความเชื่อเหล่านี้ในชีวิตประจำวันกันมานานแล้วนะคะ … มีใครได้คำตอบกันรึยังเอ่ย?

… เอาละค่ะ ครูพี่โบว์เฉลยก่อนที่น้องๆ จะหนีหายกันไปดีกว่า

คำที่มีความหมายชวนคะนึง

ภาษาไทยเป็นภาษาที่สะท้อนวัฒนธรรม สภาพชีวิต คตินิยม ความคิดและความเชื่อของคนไทย ที่สั่งสมมาอย่างช้านาน ส่วนมากวิถีชีวิตที่ถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่นได้สอดแทรกข้อควรปฏิบัติหรือข้อห้ามไว้อย่างเรียกว่าฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ เช่น ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน ห้ามตัดผมวันพุธ ห้ามผู้หญิงร้องเพลงขณะทำกับข้าว ห้ามตัดเล็บกลางคืน แม้กระทั่งตาซ้ายกระตุก ตาขวากระตุก จิ้งจกร้องทัก ฯลฯ

ในเมื่อคนไทยมักมีความเชื่อฝังลึกว่าสิ่งต่างๆ อาจเกิดขึ้นหรือสัมฤทธิ์ผลจากการคิด การพูดและการกระทำ หากเราพูดอะไรไม่ดีออกไปผลร้ายก็จะเกิดขึ้นกับผู้พูด ดังนั้นเราคงจะหลีกเลี่ยงความเชื่อต่างๆ ไม่ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากภาษาไทยได้ค่ะ

ดังนั้น “คำที่มีความหมายชวนคะนึง” ก็คือ ความหมายของคำหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินอีกคำหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากเสียงของคำทั้งสองนั้นพ้องหรือใกล้เคียงกัน โดยทั่วไปความหมายชวนคะนึงมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนไทย เช่น วันหยุดที่ผ่านมา ครูพี่โบว์ไปเยี่ยมคุณป้าที่ต่างจังหวัด บ้านคุณป้ามีพื้นที่สนามเล็กๆ ด้านข้างและได้ปลูกต้นลั่นทมที่กำลังออกดอกสะพรั่ง

“ป้าดาคะ ต้นลั่นทมออกดอกเยอะเชียวค่ะ สงสัยดินจะดีนะคะ”

“เค้าเรียกว่า ลีลาวดีจ้ะ หลานสาว อย่าเรียกลั่นทมเลย เค้าถือ”

“ถือเรื่องอะไรคะ”

“ก็เหมือนแห้ว ที่ต้องเรียกว่าสมหวังไงลูก”

พอได้ยินว่า “แห้ว” และ “สมหวัง” ต้องร้องอ๋อ กันเลยทีเดียว นี่ไง “ความหมายชวนคะนึง”

ลั่นทม คนมักนึกถึง ความทุกข์ระทมใจ

จริงๆ แล้ว “ลั่นทม” เป็นคำนาม ซึ่งก็คือ ชื่อต้นไม้ ดอกไม้ที่เรามักจะเห็นปลูกตามรีสอร์ตหรือมักเห็นตกแต่งในโปสเตอร์ร้านสปาหรือร้านนวดแผนไทย แต่คำว่า “ลั่นทม” มีความหมายชวนคะนึงให้นึกถึง ความทุกข์ระทมใจ จึงเปลี่ยนมาใช้เป็น “ลีลาวดี” แทน

ส่วน คำว่า “แห้ว” เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อไม้ล้มลุกมีหัวซึ่งสามารถกินได้ และ “แห้ว” เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง พลาด, ชวด, ผิดหวัง, หมดโอกาส ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงแห้วที่เป็นคำนาม ก็จะนึกไปถึงแห้วที่มีความหมายในเชิงลบ หลายคนก็จะคิดว่าเป็นชื่อที่ไม่เป็นมงคล ดังนั้นจึงมีการพยายามเรียกว่า “สมหวัง” เพื่อเปลี่ยนเป็นความหมายเชิงบวกแทน

ตัวอย่างคำชวนให้เราคะนึงหาความหมายทั้งดีและไม่ดี

นอกจากสองคำนี้ ยังมีคำอีกหลายคำที่มีลักษณะเดียวกันที่ชวนให้เราคะนึงหาความหมายทั้งดีและไม่ดี เช่น

“ระกำ” เป็นชื่อต้นไม้ที่มีผลรูปไข่ป้อม เนื้อหุ้มเมล็ดรสเปรี้ยวอมหวานกินได้ หรือคำกริยา หมายถึง ปักเป็นดอกควบด้วยไหม และคำว่า “ระกำ” นี้มีความหมายชวนคะนึงไปในทาง “ชอกช้ำระกำใจ”

ต้นไม้ที่มีความหมายชวนคะนึงไปในเชิงลบ เช่น ต้นโศก พ้องกับความโศกเศร้า

ต้นมะรุม คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อว่าหากมีต้นมะรุมอยู่ในบ้านจะทำให้มีเรื่องมารุมเร้า มีแต่เรื่องกลุ้มใจ

ต้นงิ้วเป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมีชู้ ซึ่งเป็นไม้ที่ไม่เป็นมงคล ดังนั้นคนไทยโบราณจึงไม่นิยมปลูกต้นงิ้ว ไว้ในอาณาบริเวณบ้าน

และดอกไม้ที่ชวนคะนึงถึงความเจริญรุ่งเรือง เช่น ดาวเรือง เฟื่องฟ้า นิยมต้นไม้ เช่น ต้นขนุน หมายถึง การหนุน การช่วยเหลือ ต้นมะยม หมายถึง คนนิยมชมชอบ

นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องชื่ออาหารที่ใช้ในงานมงคล งานมงคลนิยมขนมไทยชนิดต่างๆ ที่ชื่อเป็นมงคล เช่น ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองเอก เพราะมีคำว่า “ทอง” หรือขนมถ้วยฟู สื่อถึงความเฟื่องฟู เม็ดขนุน สื่อถึงการเกื้อหนุน หนุนนำ

ความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ฝังรากลึกไปในชีวิตของคนไทย ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเราลองศึกษาภาษาไทยในแต่ละแง่มุมแล้ว มีอะไรน่าค้นหาอีกเยอะเลยค่ะ ครูพี่โบว์ถึงชอบภาษาไทยไงคะ

บทความหน้าจะมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร อย่าลืมติดตามกันน้า…

บทความที่น่าสนใจ