เพราะโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้วิทยาศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อโลกปัจจุบันและอนาคตอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการดำเนินชีวิต การงานอาชีพ ข้าวของเครื่องใช้รวมถึงผลผลิตต่าง ๆ ที่ล้วนแต่จะต้องมีหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอด ทำให้มนุษย์จำเป็นที่จะต้องคอยศึกษาค้นคว้าในเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีในปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นได้ ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่ล้วนมาช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มากขึ้น อีกทั้งมีอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
3 หลักสูตรวิทย์สายพันธุ์ใหม่
พร้อมชมหลักสูตรต้นแบบ SCI+BUSINESS คณะวิทย์ฯ มธ.
• เรียนเพื่อรับบิ๊กเดต้า กับ DSI
• สร้างสรรค์พลังงานใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมใหม่ กับ BEB
• ปั้นนักนวัตกรรมอาหาร สำหรับคนเก่งวิทย์ และเก่งชิมอร่อย กับ FIN
• เรียนบริหารผสานวิทยาศาสตร์ ต้นแบบการเรียน SCI+BUSINESS กับ ISC
แน่นอนว่าโลกของเราจะไม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ เราจึงได้เห็นทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อมาตอบโจทย์และรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันการศึกษาที่มีเป้าหมายและความตั้งใจยิ่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการผลิต “นักวิทย์รุ่นใหม่” กล้าคิด-กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน จนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต
เล็งเห็นความสำคัญจึงได้เพิ่มเติม 3 หลักสูตรการเรียนสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อย่อสุดเก๋ไก๋ ได้แก่ FIN, DSI, BEB และหลักสูตรต้นแบบการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ของคณะวิทย์ มธ. ที่มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ISC ที่ทั้งหมดนี้จะมาตอบโจทย์ความต้องการของโลกอนาคต ตามหัวใจสำคัญของหลักสูตรก็คือการ “ผลิตบัณฑิต พร้อมใช้ สู่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศ” นั่นเอง ขอบอกเลยว่าเรียนวิทย์ฯ ทั้ง 4 สายนี้ เรียนจบไปยังไงก็มีงานรองรับอย่างแน่นอน โดยหลักสูตรที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะน่าเรียนขนาดไหนไปชมกันเลย
เพราะโลกยุคดิจิทัลมีข้อมูลมากมายรอให้เราไปจัดการและใช้ประโยชน์ ดังนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (Data Science and Innovation Program) หรือเรียกสั้นๆ ว่า DSI จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยหัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ก็คือการสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดในยุคดิจิทัล ผ่านเทคนิคทาง คณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ และ ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมจากข้อมูลสำหรับใช้ในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร
โดยหลักสูตรนี้จะมีจัดการเรียนการสอนเป็นแบบ โมดูล (Modular Learning) ซึ่งภายในแต่ละโมดูล จะประกอบด้วยภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่ฝึกฝนผู้เรียนให้ได้ สมรรถนะ ตรงกับองค์กรจากภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมออกแบบหลักสูตร ทุกโมดูลจะมี capstone project เพื่อแสดงเห็นพัฒนาการของผู้เรียนในแต่ละโมดูลอีกด้วย
เป็นหลักสูตรที่บอกเลยว่าหากเรียนจบแล้ว สามารถไปประกอบอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) นักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analyst) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) ตลอดจน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นต้น
หลักสูตรเทคโนโลยี พลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ
ต่อกันด้วย หลักสูตรเทคโนโลยี พลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ (Bioenergy and Biochemical Refinery Technology Program) หรือ BEB หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการใน 3 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกัน
ที่สำคัญคือนักศึกษาที่เรียนสายนี้จะได้ไปฝึกประสบการณ์การทำงานกับสถานประกอบการจริงเป็นเวลา 1 ปีการศึกษาแบบอัดแน่นเต็ม ๆ เพื่อให้ได้ทักษะการแก้ปัญหาระหว่างกระบวนการผลิตในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถไปทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร
และไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปมากแค่ไหน อาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน ดังนั้น หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program) หรือเรียกง่ายๆ ว่า FIN จะมาช่วยตอบโจทย์สิ่งนี้ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรม หากเลือกเรียนสายนี้จะได้เรียนรู้ความพร้อมที่จะเป็นนักนวัตกรรมอาหาร ที่มีความรู้ความชำนาญทางวิชาชีพ (Technical skills) ผ่านการฝึกฝนความชำนาญในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ร่วมจัดการเรียนการสอน ควบคู่กับการฝึกฝนทักษะที่นอกเหนือจากวิชาชีพ (Soft skills)
อีกทั้งยังได้เรียนรู้ด้านกระบวนการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมอาหาร การวิเคราะห์ปัญหาทางอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาภาวะผู้นำ การใช้กระบวนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และการเรียนรู้ทักษะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจอาหารอีกด้วย
หลักสูตรวิทยาศาสตรอุตสาหการ และการจัดการหลักสูตรนานาชาติ
ปิดท้ายกันที่ หลักสูตรวิทยาศาสตรอุตสาหการและการจัดการหลักสูตรนานาชาติ (Industrial Science and Management International Program) หรือ ISC ต้นแบบของการเรียนแบบ SCI + Business ของคณะวิทย์ฯ มธ. อยากจะบอกว่าหลักสูตรนี้ ถือเป็นหลักสูตรนานาชาติเดียวในประเทศไทย ที่หลอมรวมความรู้จากสายวิทย์และสายบริหารเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว เป็นหลักสูตรที่เข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจากสาขาวิทยาศาสตร์และถูกเติมเต็มความรู้ทางด้านการจัดการและการบริหาร พร้อมสร้างไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มุ่งเน้นสร้างนักคิดนักประดิษฐ์ ตลอดจนนักนวัตกรรมที่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และการจัดการสร้างผลิตภัณฑ์จนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้
อีกทั้งยังสามารถทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นเทคโนโลยีชีวภาพ เคมีและเทคโนโลยีการอาหาร เรียกได้ว่าเรียนสายนี้มีความโดดเด่นทั้งวิชาชีพ ด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการทำธุรกิจระดับสากล โดยผลงานล่าสุดของนักศึกษาจาก ISC มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก ได้รับรางวัลการันตีรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดและจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “The 30th International Invention, Innovation and Technology Exhibition” (ITEX 2019) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ
เห็นไหมว่า เรียนวิทยาศาสตร์ก็สามารถไปประกอบได้หลากหลายอาชีพ ไม่แพ้การเรียนสายอื่นๆ เลย โดยน้องๆ คนไหนสนใจอยากเรียน 3 หลักสูตรสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงหลักสูตรต้นแบบการเรียน SCI+BUSINESS ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat