kmitl

ย้อนดูเส้นทางฟูมฟัก “ผักออร์แกนิค” มากกว่าการศึกษาวิจัย แต่หลอมรวมน้ำใจน้องพี่ “สจล.”

Home / วาไรตี้ / ย้อนดูเส้นทางฟูมฟัก “ผักออร์แกนิค” มากกว่าการศึกษาวิจัย แต่หลอมรวมน้ำใจน้องพี่ “สจล.”

“เพราะสุขภาพที่ดีหาซื้อไม่ได้” ดังนั้น เราในวัยศึกษาเล่าเรียน จึงควรใส่ใจในการเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เช่น การทานผักออร์แกนิค ที่ในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดาย เพียงสังเกตฉลากข้างแพคเก็จจิ้งเกี่ยวกับ ผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ แต่ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อนว่า “ชะเอม – นางสาวอโรชา ปรางทอง” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ที่มีโอกาสได้คลุกคลีเกี่ยวกับแนวทางปลูกผักตามวิถีเกษตรอินทรีย์ หรือผักออร์แกนิค จึงขอถือโอกาสพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับ ชอปออร์แกนิค หรือ KMITL Organic Shop เป็นมาร์เกตเพลสสำหรับจัดจำหน่ายผักออร์แกนิค สดหลากชนิด ณ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)” ที่ผมเรียนอยู่กันครับ

เส้นทางฟูมฟัก ผักออร์แกนิค – มากกว่าการศึกษาวิจัย

KMITL Organic Shop อยู่ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้ใช้แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยทำการเกษตรให้ปลอดจากสารเคมี และมีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะชอปออร์แกนิคเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกสัปดาห์ที่นำผักมาวางจำหน่ายตลอด 4 เดือนนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และเพื่อนนักศึกษาสายเฮลตี้ที่แวะเวียนมาอุดหนุน พร้อมกับฟีดแบคมาด้วยว่า “ผักออร์แกนิคที่นี่ มีความสดใหม่และรสชาติอร่อย” ซึ่งในบางรายมีการซื้อผักจากชอปไปจัดกระเช้าผักออร์แกนิคสำหรับมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่อีกด้วย

บทความนี้ เฟรมจะพาทุกคนไปแง้มดูเบื้องหลังการเดินทางของผักชนิดต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในชอปกันว่ากว่าจะได้มาซึ่งผักออร์แกนิค ที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมีนั้น จะต้องผ่านกระบวนการหรือมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

เริ่มจากการวิจัยหาเชื้อรากำจัดศัตรูพืช

การเปิดชอปออร์แกนิคแห่งนี้ ไม่ได้คิดทำกันเล่น ๆ เพราะมีจุดเริ่มต้นจากการศึกษาวิจัยหาเชื้อราที่มีคุณสมบัติกำจัดโรคพืช ด้วยแนวคิดของสิ่งมีชีวิตที่สามารถกำจัดสิ่งมีชีวิตกันเองได้ ที่มีต้นแบบการใช้ชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากเชื้อราคีโตเมี่ยม (Chaetomium sp.) จาก รศ.ดร.เกษม สร้อยทอง รวมทั้งงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี “ผศ.ดร.สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม” เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ศึกษาเชื้อรา Neosartorya ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อราโรคพืชในมะละกอ กล้วย และหน่อไม้ฝรั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมองว่าหากเริ่มต้นการศึกษาแล้วควรเดินหน้าต่อยอดทั้งด้านการผลิตและการจัดจำหน่ายแบบครบวงจร ภายใต้โครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” โดยอาศัยพื้นที่ของ สจล. อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จำนวน 80 ไร่ จัดตั้ง KMITL Organic Farm ในการทำการทดลองและศึกษาวิจัยตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์

เดินหน้าใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต

ผลผลิตจะเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ย่อมต้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้น นับตั้งแต่ขั้นตอนการปรับปรุงดิน การตรวจหาจุลินทรีย์ที่แฝงตัวอยู่ในดิน การเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ในการบำรุงพืชผักทุกชนิด รวมไปถึงการวางแผนปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งในขั้นตอนนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะในผืนดินเดียวกันไม่สามารถปลูกผักทุกชนิดได้ จึงจำเป็นต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับดิน และกำหนดระยะเวลาในการเพาะปลูก โดยที่ผ่านมามีเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตดอกออกผลและจำหน่ายได้ราคาดี อาทิ ฟักทอง กล้วย ข้าวโพด กระเจี๊ยบเขียว บวบ และหน่อไม้ฝรั่ง ที่มีรสสัมผัสที่หวานและมีกลิ่นหอม ซึ่งความใส่ใจทั้งหมดนี้ ทำให้ผลผลิตได้รับการการันตีมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย จากสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ผสานมือพี่น้อง “ชาวแคแสด” ช่วยเพาะปลูก

แม้จุดเริ่มต้นของ KMITL Organic Farm จะเป็นในนามคณะวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้จำกัดกรอบการทำงานที่เน้น คณาจารย์หรือเพื่อนนักศึกษาคณะวิทย์เท่านั้น เพราะตั้งใจเปิดกว้างให้เพื่อนพ้องน้องพี่ “สจล.” ต่างคณะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดี จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในการรดน้ำพรวนดิน ณ KMITL Organic Farm ด่านช้าง รวมไปถึงการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ การจัดสร้างแปลงเกษตร และขุดบ่อปลาช่อน ให้กับโรงเรียนดงเสลา สถานศึกษาใกล้เคียงที่มีแนวคิดการทำวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นการถ่ายทอดแนวคิดและสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการการออกแบบโลโก้ของร้านและผลิตภัณฑ์อีกด้วย

แบ่งพื้นที่ปลูกผัก เลี้ยงไก่ในระบบฟาร์มเปิด

นอกจากการใช้ใจปลูกผักนานาชนิดแล้ว ที่นี่ยังใช้ใจในการเลี้ยงแม่ไก่อีกด้วย โดยการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกเพื่อสร้างโรงเรือน ขนาดพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม. สำหรับเลี้ยงแม่ไก่ 200 ตัวในระบบฟาร์มเปิด ด้วยตั้งใจให้เหล่าแม่ไก่ได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ พร้อมดีไซน์มุมส่วนตัวให้แม่ไก่ได้เลือกใช้ นอกจากนี้ตลอดการเลี้ยงดูแม่ไก่จนพร้อมออกไข่ ยังไม่ใช้สารเร่งไข่แดง ยาปฏิชีวนะหรือสารเร่งฮอร์โมนใดๆ แต่เป็นการเลี้ยงดูด้วยรำข้าว เพื่อให้เหล่าแม่ไก่ที่เฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟัก ณ KMITL Organic Farm ด่านช้าง แห่งนี้เป็น “แม่ไก่อารมณ์ดี” ที่พร้อมฟักไข่ออกมาในขนาดที่ใหญ่ น้ำหนักดี และมีผิวสวยเนียน

มากกว่าชอปออร์แกนิค แต่เป็นพื้นที่เวิร์คชอป

ผลผลิตภายใน KMITL Organic Shop มาจากการเพาะปลูกในพื้นที่ สจล. อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และเปิดพื้นที่ให้กับเพื่อนนักศึกษาและเกษตรกร นำผักออร์แกนิคหรือผลผลิตอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพมาวางจำหน่าย เช่น ทางร้านจำหน่ายสลัดโรลพร้อมด้วยน้ำสลัดสูตรน้ำมะนาวออร์แกนิคและไม่ใช้ไข่ไก่ ผักสลัด คอร์นเฟลกคาราเมลธัญพืช และไข่ไก่อารมณ์ดี โดยมี ดร.นฤมล ตั้งธีระสุนันท์ เป็นผู้รับผิดชอบคัดสรรสินค้า ขณะเดียวกันพื้นที่ชอปแห่งนี้ ยังถูกปรับใช้เป็นสเปซแห่งการเวิร์คชอปของเพื่อน ๆ น้อง ๆ นักศึกษาในหลากหลายสาขา เช่น สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาชีววิทยา ในวิชาการตลาดและการจัดการเกษตรอินทรีย์ ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรและหน้าร้าน รวมไปถึงการทดลองจำหน่ายจริง โดยมีเวลาเรียนทุกวันศุกร์

และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ชาวแคแสด ร่วมใจกันทำเพื่อเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีต่าง ๆ ของสถาบันฯ มาปรับใช้ในการทำแปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ดี สำหรับน้อง ๆ เพื่อน ๆ สนใจการทำเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถเข้ามาศึกษาดูงานของการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ ณ KMITL Organic Farm สจล. อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อผักสด ๆ ได้ที่ KMITL Organic Shop ทุกวันยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. ณ KMITL Organic Shop คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/kmitlorganicfarm และโทรศัพท์ 092 312 6499 หรือติดต่อสำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ www.facebook.com/kmitlofficial , www.kmitl.ac.th