จากเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านนั้น หลังจากที่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 ด้วยคะแนน 27 เสียง จากองค์ประชุมทั้งหมด 36 คนด้วยกัน
‘เนติวิทย์’ ลั่นเปลี่ยนถวายบังคมเป็นยืนเคารพ
โดยในเวลาต่อมา นายเนติวิทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ถึงกรณีประเพณีการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า บริเวณพระราชวังดุสิต เนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันปิยมหาราช) ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ได้กล่าวว่า “คุณต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่อยากถวายบังคมแบบหมอบคลาน เปิดพื้นที่ให้เขาสามารถยืนเคารพได้ ซึ่งในตอนนี้บางคณะยังบังคับให้ถวายบังคมแบบหมอบกราบอยู่ เราจะลงไปดูแลต่อไป”
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านายนายเนติวิทย์จะดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสาารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ เพราะจริงๆ แล้ว ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ไม่มีอำนาจบริหารกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น
ระบบองค์กรนิสิตจุฬาฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ อบจ. เป็นองค์กรที่มีหน้าที่บริหาร ดำเนินการกิจกรรมส่วนกลางของมหาวิทยาลัย เช่น งานรับน้องก้าวใหม่, งานลอยกระทงจุฬาฯ, งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของนิสิตทั้งมหาวิทยาลัยให้ได้ตัวแทนของคณะ รวมถึงผู้แทนนิสิต ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการนิสิตหรือนายกสโมสรนิสิตคณะต่างๆ ทั้ง 19 คณะ รวมถึงหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อบจ. จะมีฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ แตกต่างกันไปตามแต่การตกลงกันของคณะกรรมการบริหารแต่ละชุด เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์, ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
2. สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ส.ภ.จ. มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิต (อบจ.) ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิสิต รวมถึงพิจารณาและควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ผลการใช้งบประมาณ การเงิน และบัญชีขององค์การบริหาร สภานิสิตมีสมาชิกสามัญจากทุกคณะ คณะละ 3 คน โดยมีตำแหน่งหลัก 4 ตำแหน่ง คือ
- ประธานสภานิสิต
- รองประธานสภานิสิตคนที่ 1
- รองประธานสภานิสิตคนที่ 2
- เลขาธิการสภานิสิต
หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ อำนาจที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับ อบจ. ส่วนตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ที่นายเนติวิทย์เป็นนั้น ขณะนี้ไม่ได้มีหน้าที่หรือไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรตามใจชอบได้ เพราะเป็นเพียงประธานหัวโต๊ะของคนในที่ประชุม 36 คนเท่านั้น
ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 19 คณะ 1 สำนักวิชา ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมีหน่วยงานประเภทวิทยาลัย 3 แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบัน 14 แห่ง และสถาบันสมทบอีก 2 สถาบันด้วยกัน
ส่วนจำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 506 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 113 หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา 393 หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร
บทความที่เกี่ยวข้อง : ‘เนติวิทย์’ ขอลุยปฏิรูปการรับน้อง หลังได้รับเลือกเป็นประธานนิสิต จุฬาฯ คนใหม่
ที่มา : www.tnews.co.th
ภาพจาก : สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ