issue50 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประธานนิสิตจุฬาฯ แฟรงค์-เนติวิทย์

พูดจริง พูดตรง! กับสไตล์การใช้ชีวิตในมหา’ลัยของ “แฟรงค์-เนติวิทย์”

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / พูดจริง พูดตรง! กับสไตล์การใช้ชีวิตในมหา’ลัยของ “แฟรงค์-เนติวิทย์”

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานนิสิตจุฬาฯ คนใหม่ จากประเด็นที่เป็นข่าวดังในแง่ต่างๆ แต่น้อยคนนักจะรู้จักเขาในเรื่องการใช้ชีวิตในมหา’ลัย กับมุมมองตัวตนที่แท้จริงของเด็กหนุ่มคนนี้ วันนี้ campus star จะพามาทำความรู้จักในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ชีวิตในมหา’ลัยของ “แฟรงค์-เนติวิทย์”

ตอนเด็กๆ ของแฟรงค์เป็นเด็กแบบไหน ก่อนจะเข้ามาเรียนในคณะรัฐศาสตร์

ตอนเด็กตั้งแต่ 7 ขวบแล้ว อยากเป็นหลายอย่าง ทั้งอาจารย์มหา’ลัย นายกรัฐมนตรีก็อยากเป็น ผมเป็นลูกคนเล็ก มีพี่ชาย 1 คน แล้วคือการเถียงกันที่บ้านจะเป็นเรื่องปกติ มีการทะเลาะกันบ่อย แต่เป็นแถวถกเถียงกัน มากกว่าการสั่ง ที่บ้านก็ให้อิสระไม่ได้บังคับอะไร อยากจะทำอะไรก็ให้ทำเต็มที่ แล้วตอนม.ปลาย ผมเลือกสายวิทย์คณิต ที่เลือกไม่ได้ชื่นชอบ แต่เพราะค่านิยมมันหลอกเด็ก คือตอนม.ต้นผมอยู่ห้องคิง แล้วห้องคิงส่วนใหญ่เป็นห้องสายวิทย์คณิต สายศิลป์จะอยู่ห้องท้ายๆ การแนะแนวของเราล้มเหลว เราไม่รู้ว่าเราจะให้เขาค้นพบตัวเองว่าเขาอยากเป็นอะไร ดังนั้นผมก็ไม่รู้ว่าควรจะเรียนอะไร ไม่รู้ตัวเองถนัดอะไร ก็เลยแค่เลือกสายวิทย์คณิตเพราะหนทางช่องทางมันกว้างกว่า

พอเรียนๆ ไป สุดท้ายผมก็ต้องกลับมาสายศิลป์ ตอนแรกอยากเป็นนักสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นประเด็นสำคัญกับโลก หรือไม่ก็เป็นครู เพราะผมอยากจะอุทิศตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษา แต่คะแนนผมไม่ถึง ผมเลยเลือกรัฐศาสตร์การปกครองแทน เพราะเป็นวิชาที่ได้ตั้งคำถามแล้วคิดวิเคราะห์ ส่วนที่เลือกจุฬาฯ อย่างแรกคือด้วยค่านิยมของมหา’ลัยในประเทศไทย สังคมไทยเชิดชูคนที่เรียนจบมหา’ลัยชั้นนำ นี่พูดตรงไปตรงมาเลย บริษัทหลายแห่งยังเลือกปฎิบัติถ้าจบจากที่นี่จะรับ แล้วผมก็สู้ค่านิยมแบบนี้ไม่ได้ จริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเลย แต่มันต้องทำแบบนี้ แล้วข้อดีอีกอย่างคือที่นี่ร่มเย็น ไม่ไกลบ้านผมด้วย เดินทางไม่ลำบาก

นักศึกษาแรกเข้า วัฒนธรรมรับน้องที่เพิ่งเคยเจอ

แรกเข้ามาต้องปรับตัวหลายอย่าง ต้องไปทำสันทนาการ ซึ่งผมไม่เคยทำมาก่อน มีไปเต้น ไปแสดงอะไรข้างหน้า แต่ก็สนุกดี ไม่มีความรุนแรงอะไร ผมเข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกอย่าง แต่พอดูไปดูมา กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เท่าไหร่ อย่างเต้นไก่ย่างก็เต้นตั้งแต่ป.1 นี่คุณอยู่มหา’ลัย ยังต้องมาเต้นไก่ย่างอีก พวกเด็กๆ เขาก็เริ่มคิด จะเข้าไปทำไม ไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ย แนวโน้มกิจกรรมในมหา’ลัยก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนขึ้น

ส่วนเพื่อนๆ ก็โอเคเลย ก่อนหน้านี้ผมถูกโจมตีมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหา’ลัย พอเข้ามหา’ลัย ก็โชคดีที่เพื่อนๆ เขาสงสารผม ก็มาโพสต์ปกป้องผมตลอดเวลา หลายๆ คนเข้าใจสิ่งที่ผมทำว่ามันมีเจตนายังไง ทำไปเพื่ออะไร อย่างจัดกิจกรรมก็มาช่วยกันทั้งคณะ จะมีบ้างตอนแรกที่บางคนเพิ่งเข้าใหม่ ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน เห็นสื่อมวลชนโจมตีผม เลยโจมตีผมตาม แต่สุดท้าย ตอนนี้เขาก็มาอยู่ฝ่ายให้กำลังใจ และร่วมสนับสนุนการต่อสู้

หลักการเรียนในแบบเด็กรัฐศาสตร์รุ่นใหม่

พอเข้ามาเรียน อาจารย์บอกว่าสองปีแรกมันยังแค่ปรับพื้นฐาน มันยังไม่สนุก ต้องรอปี 3 แล้วการเรียนส่วนใหญ่เป็นโพลท่องจำ อีกอย่างคือคณะนี้ไม่มีการเช็กชื่อ การเรียนมันจะเกิดประโยชน์ ถ้าได้เรียนแล้วเกิดบทสนทนา แต่ถ้าครูพูดตามตำรา จะไปฟังทำไม อ่านเองก็ได้ ส่วนใหญ่ผมก็เลยอ่านเอง ทุกวัน ผมจะตื่นเช้าให้ได้สักหกโมง แล้วมาทบทวนวิชาเรียน อย่างผมมีเรียนภาษาสันสกฤต ซึ่งมันยากมาก ภาษาอังกฤษมีรูปเดียวแล้วเติม s หรือ ed เอา แต่สันสกฤตมีถึง 24 รูป การจำก็สำคัญมาก แล้วหลังจากนั้นก็ต้องอ่านข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็ต้องจำกัด ไม่เกิน 10 หน้าข่าวก็พอ ถ้ามีเวลาผมก็จะเล่นเกมคณิตศาสตร์ฝึกสมอง สนุกดี แต่ช่วงบ่ายต้องทำงานอย่างเดียว ยิ่งมาอยู่สภานิสิต เช้าหรือบ่ายก็ไม่ค่อยมีเวลาเลย แต่ก็ต้องพยายามบริหารเวลาให้ได้ ต่อไปนี้สองทุ่มครึ่งผมจะหยุดงานทั้งหมด แล้วมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น

ประธานคนใหม่ มุ่งมั่นปฎิรูปสภา

มีคนชวนผมเข้ามา ทำให้ผมได้เห็นการทำงานของสภา ตอนนี้สภามีหน้าที่คอยอ่านรายงานการประชุม แล้วไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ แต่ที่ผ่านมาสภานิสิตทำอะไรได้มากกว่านั้น มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ ลงพื้นที่ไปดูปัญหา ทำให้ผมอยากปฎิรูปสภานิสิตให้กลับมาอีกครั้ง ตอนนี้ก็เข้ามาดำเนินการเป็นอาทิตย์ที่สามแล้ว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าสภานิสิตมีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ อย่างเช่นเรื่องคำประกาศสิทธิการรับน้อง น้องๆ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง จะให้พี่เขาทำอะไรก็ได้ แต่จริงๆ น้องควรรู้ว่าอะไรบ้างที่น้องมีสิทธิ หรือการที่มีนิสิตเข้ามาร้องเรียนโน่นนั่นนี่ เราก็ต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ก็ยังมีงานที่ต้องตรวจสอบงบประมาณของฝ่ายบริหารด้วย ฟีดแบ็กหลังจากที่เข้ามาทำงานตรงนี้ ก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในสังคมผมเป็นคนถูกมองในแง่ลบเยอะมาก แต่ช่วงเวลาหลายปีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่ผมพูดมันจริง ช่วงหลังก็เริ่มมีคนเห็นด้วย

สไตล์การพูดในแบบเนติวิทย์

สำหรับผมเรื่องการพูด บางทีผมก็อาจจะพูดติดๆ ขัดๆ บ้าง แต่ผมดูเนื้อหาเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาผมว่านักพูดเน้นพูดเอาภาพลักษณ์ดูดี แต่ไม่ได้เนื้อหา เลยอยากจะฝากน้องๆ ที่เป็นนักพูด ว่าเนื้อหาสำคัญมาก คนเขาเบื่อภาพลักษณ์อย่างเดียว เขาต้องการอะไรที่มันเป็นของจริง แล้วถ้าอยากจะพูดให้เก่งให้ดี ต้องกล้าพูดให้เยอะ พอพูดได้ ก็ต้องหาข้อมูล การพูดให้ดีต้องคิดให้เยอะ ถึงจะประสบความสำเร็จในการพูด

เป้าหมายที่วางเอาไว้

ผมอยากให้การศึกษาไทยมันดีขึ้น ผมว่าเราเป็นประเทศสมองไหล คนที่มีความสามารถไม่อยากอยู่ประเทศนี้ ดังนั้นจะทำยังไงให้เราสามารถเอาศักยภาพของคนในประเทศออกมา การที่ผมได้ทำงานกับนิสิตนักศึกษาด้วยกันทำให้ผมรู้เลยว่า ศักยภาพของคนไม่มีประมาณจริงๆ แต่เราไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้เขาอยากอยู่ประเทศเรา เพราะเรามีปัญหาการเมืองและสังคมเยอะแยะไปหมด ซึ่งผมก็อยากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหนในสังคมก็ตาม

การใช้ชีวิตของเด็กมอสมัยใหม่

การใช้ชีวิตในมหา’ ลัยมันสั้นมาก 4 ปี 5 ปี หรือบางคนอาจจะ 8 ปีก็แล้วแต่ ก่อนที่เราจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่น จึงเป็นช่วงที่ควรจะรอบคอบกว่าช่วงชีวิตอื่นๆ เราต้องทบทวนตัวเองเสมอว่าเราได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง เราเสียเวลาไปกับอะไรบางเรื่องเยอะไปหรือเปล่า อย่างผมยังเสียใจอยู่ที่ช่วงมัธยม ผมไม่สามารถแสวงหาความรู้อะไรที่เป็นทักษะได้มากกว่านี้ ที่จะทำให้ในอนาคตสามารถดึงศักยภาพนั้นมาได้เต็มที่ มัธยมเรามีเวลาว่างเหลือ ที่จะได้ศึกษาเยอะ แต่ผมก็ใช้เวลาไม่ค่อยคุ้มค่า แต่มามหา’ ลัยยังมีเวลาไม่ต้องออกไปทำงานเต็มตัว เพราะพอพ้นช่วงนี้ไปภาระอย่างอื่นจะเยอะขึ้น พ่อแม่บางคนก็ชราหรืออาจเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นช่วงเวลา 4-5 ปีนี้คือช่วงที่มีความหมายกับเราที่สุด พยายามตั้งใจคิดว่าเราอยากได้อะไร ต้องการรู้อะไร แล้วเก็บเกี่ยวให้เต็มที่ดีกว่า

 

ติดตามบทสัมภาษณ์เนติวิทย์ได้ในคอลัมน์ campus impart นิตยสาร campus star no.50

www.facebook.com/campusstars