นักเรียนไทยสุดเก่ง!! คิดค้นสารชีวภาพจากการสกัดจากหญ้าสาบแร้ง ที่สามารถช่วยควบคุมสาเหตุของการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดาได้ และยังสามารถคว้ารางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจากโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel ISEF) มาครองได้สำเร็จ
สุดเจ๋ง! เด็กไทยคว้ารางวัลโครงานวิทย์ระดับโลก
โดย น.ส.จรรยพร โกฏิมนัสวนิขย์ น.ส.นฤภร แพงมา และนายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายมัธยมศึกษา) มอดินแดง ตัวแทนเยาวชนประเทศไทย คว้ารางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด หรือรางวัลพิเศษจาก “มอนซานโต้” บริษัทข้ามชาติด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร หนึ่งในผู้สนับสนุนการประกวด โครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศมาร่วมแข่งขันที่เมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยผลงาน “สารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาปแร้ง ควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศได้
น.ส.นฤภร กล่าวว่า ทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศว่าไทยแลนด์ และชื่อโครงงาน รู้สึกดีใจเป็นที่สุด เพราะเวทีนี้เป็นการรวบรวมสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนกว่า 77 ประเทศทั่วโลกมาร่วมประกวดแข่งขัน จึงมีโอกาสยากมากที่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง การได้รางวัลนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจว่าผลงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปมากมาย ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล
น.ส.จรรยพร กล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากการที่พวกตนเห็นว่ามะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งการบริโภคในประเทศ และส่งออก แต่มะเขือเทศมักถูกโรคใบหงิกเหลืองคุกคาม จึงทำให้ผลผลิตเสียหายได้เกือบ 100% โดยโรคนี้จะเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ เชื้อไวรัส TYLCV ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา แมลงพาหะที่นำเชื้อไปสู่พืช และวัชพืชในแปลงที่เป็นแหล่งให้แมลงพาหะมาอาศัย โดยเฉพาะในระหว่างที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงพาหะบนต้นมะเขือเทศ แมลงพาหะจะไปอาศัยในวัชพืชแทน ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการกำจัด ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พวกตนจึงต้องการหาสารจากพืชวงศ์ Compositae ที่มีการรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพว่าสามารถกำจัดไวรัส แมลง และวัชพืช มาควบคุมการเกิดโรค TYLC ได้มาแก้ปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ นายวิชชากร ยังกล่าวเสริมว่า “หญ้าสาบแร้ง” เป็นพืชที่เหมาะต่อการนำมาทำเป็นสารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้ง เพราะมีสารที่ควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกเหลืองในมะเขือเทศพันธุ์สีดา จึงได้ทดลองทั้งในสภาพแปลงทดลอง และแปลงปลูกของเกษตรกร ผลการทดลองที่ออกมาก็สอดคล้องกัน คือ ถึงแม้สารสกัดหยาบไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่มีผลต่อการชะลอการแสดงอาการของโรค ต่อมาสามารถกำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะของโรค สุดท้าย สามารถกำจัดวัชพืช ส่งผลทำให้ผลผลิตมะเขือเทศสูงขึ้น ที่สำคัญสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร จึงช่วยลดต้นทุน รวมถึงอันตรายจากสารเคมีได้อีกด้วย
ที่มา : www.matichon.co.th