มหาวิทยาลัยดนตรีในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันกันมาก ทั้งในด้านการผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพ และการนำบุคลากรผู้สอนที่มีความสามารถมาเป็นตัวดึงดูด ทำให้หลักสูตรดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ที่มีน้องๆ สนใจในด้านดุริยางคศิลป์มากที่สุดจะเป็นมหา’ลัยไหนกันนะ?
มหาวิทยาลัยดนตรีของนักศึกษาในยุคปัจจุบัน จุฬาฯ VS มหิดล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมา
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งคณะขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2527 นับเป็นคณะที่ 15 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยงานวิชาการทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ อาจครอบคลุมวิชาการทุกสาขาด้านศิลปะอย่างสมบูรณ์ เช่น วิจิตรศิลป์ เนรมิตศิลป์ ศิลปะทฤษฎี หรือดุริยางค์ และศิลปะการแสดง เป็นต้น
หลักสูตรที่เปิดสอน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดสอนในหลักสูตร ระดับปริญญาตรี 4 ภาควิชา ได้แก่
ภาควิชาทัศนศิลป์
– สาขาจิตรกรรม
– สาขาประติมากรรม
– สาขาภาพพิมพ์
– สาขาภาพถ่าย
ภาควิชานฤมิตศิลป์
– สาขาเรขศิลป์
– สาขาหัตถศิลป์
– สาขามัณฑนศิลป์
– สาขานิทรรศการศิลป์
ภาควิชาดุริยางคศิลป์
– สาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก
– สาขาดุริยางคศิลป์ไทย
ภาควิชานาฏยศิลป์
– สาขานาฏยศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุดเด่น และการเรียนการสอน
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีการเรียนการสอนที่ว่าด้วยเรื่องศาสตร์การศึกษาวิชาการที่เกี่ยวกับศิลปะ และการประยุกต์ศิลป์ โดยศึกษาทฤษฎี ประวัติ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพ การออกแบบปั้น การพิมพ์ การเล่นดนตรีและการรำ เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีจุดหมายให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และอนุรักษ์ศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ รวมทั้งบุกเบิกสร้างสรรค์วิทยาการใหม่
สำหรับสาขาดุริยางคศิลป์ แยกออกเป็น สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ศึกษาดนตรีไทย และสาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก ศึกษาดนตรีคลาสสิก โดยมีวิชาเฉพาะ เช่น ทฤษฎีดนตรี ประวัติดนตรี และวิชาปฏิบัติ การบรรเลง ขับร้อง และประพันธ์ดนตรี เป็นสาขาที่เน้นในเรื่องของการเรียนรู้ศิลปะสุนทรียศิลป์ ส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถแก้ไขจุดบกพร่อง และค้นหาจุดเด่นของตนเอง เพื่อนพัฒนาให้ดีขึ้น จะได้เรียนรู้ตั้งแต่เบสิคเบื้องต้น ทฤษฎี โสตทักษะต่างๆ ซึ่งจำเป็นเป็นต่อศาสตร์ด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้จบไปสามารถต่อยอดทักษะของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งการเป็นนักดนตรี รับราชกาฝ่ายดุริยางค์ทหารเรือ, ทหารบก, ทหารอากาศ, ตำรวจ หรือกรมศิลปากร นักแต่ง ซาวน์เอนจิเนียร์ในห้องอัด อาจารย์สอนดนตรีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชน หรืออาจารย์สอนพิเศษ และแม้แต่เป็นศิลปินก็สามารถทำได้
ผลคะแนนจากชาว Campus Star
เป็นที่รู้จัก : 9
สาขาน่าสนใจ : 9
การเรียนการสอน : 9
ศิษย์เก่ามีชื่อเสียง : 8
การต่อยอดในสายอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 44 คะแนน
มหาวิทยาลัยมหิดล
ประวัติความเป็นมา
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยาลัยดนตรีแห่งแรกของประเทศไทย มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่ง ในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ ได้ชื่อ “วิทยาลัยดุริยาคศิลป์” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เป็นชื่อที่ ศ.นพ. อดุลย์ วิริยเวชกุล เป็นผู้เสนอและเป็นที่ยอมรับ หมายถึงวิทยาลัยดนตรีที่มุ่งสร้างนักดนตรีที่มีความสามารถในการเล่นดนตรี เป็นวิทยาลัยของผู้ที่มีศิลปะทางดนตรี
โดยเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนวิชาดนตรีในระดับปริญญาเอก มีอาจารย์ที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดโดยเฉพาะ เป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนทั้งด้านแนวเพลงไทยและแนวเพลงสากล
หลักสูตรที่เปิดสอน
ระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรี มี 9 แขนงวิชา ได้แก่
– ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก
– ดนตรีปฏิบัติ (ดนตรีตะวันตก)
– ดนตรีแจ๊ส
– เทคโนโลยีดนตรี
– ดนตรีสมัยนิยม
– ธุรกิจดนตรี
– การประพันธ์ดนตรี
– ดนตรีศึกษา
– การแสดงละครเพลง
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จุดเด่น และการเรียนการสอน
นักศึกษาที่มาเรียนที่วิทยาลัยจะได้สัมผัสกับระบบการเรียนการสอนที่เข้มข้น และยังมีโอกาสเรียนรู้จักโลกนอกห้องเรียนโดยเล่นดนตรี และแสดงดนตรีในกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ที่มีขึ้นโดยสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ความเป็นวิทยาลัยดนตรีขนาดใหญ่ทำให้นักศึกษามีโอกาสเลือกสรรรูปแบบการเรียน รู้ และทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีได้ตามความสนใจ ทางวิทยาลัยมีสถานที่ และอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมครบครันรองรับการเรียนการสอน การทำงานทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นห้องซ้อมเดี่ยวจำนวนมาก ห้องซ้อมรวมวง ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องมิดิแลป ห้องสมุดพร้อมโสตทัศนูปกรณ์ ห้องดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ
ภายในวิทยาลัยมีลานกิจกรรมสำหรับเปิดแสดงคอนเสิร์ตหรืองานเกี่ยวกับดนตรี ต่างๆ มีห้องแสดงคอนเสิร์ตขนาดต่างๆ และมีหอแสดงดนตรีชั้นเยี่ยม เป็นที่แวะเวียนมาแสดงของศิลปิน และคนดนตรีระดับประเทศและระดับโลกอยู่บ่อยครั้ง นักเรียน นักศึกษาจึงสามารถสัมผัสประสบการณ์ดนตรีนานารูปแบบได้เกือบทุกวันในรอบปี ทั้งยังสามารถแสดงผลงานของตนเองได้ด้วย
ผลคะแนนจากชาว Campus Star
เป็นที่รู้จัก : 9.5
สาขาน่าสนใจ : 10
การเรียนการสอน : 9
ศิษย์เก่ามีชื่อเสียง : 9
การต่อยอดในสายอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 46.5 คะแนน
ผลคะแนนที่ได้รับคือ…. คะแนน Battle ครั้งนี้ค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ น้องๆ เทใจให้กับ ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลกันเต็มที่ จุฬาฯ ก็อย่าเพิ่งน้อยใจกันไป จริงๆ แล้วทั้งสองมหา’ลัยก็เป็นมหา’ลัยดนตรีระดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึงกันอยู่เสมอ แต่ทั้งสองมหา’ลัยก็มีความแตกต่างกันทางด้านการสอน อยู่ที่ว่าน้องๆ สนใจที่จะเรียนด้านไหนเป็นพิเศษ ชอบแจ๊สก็มาทางด้านมหิดล ชอบการแต่งเพลง Composition ก็ไปจุฬาฯ เห็นมั้ยล่ะ โดดเด่นกันคนละแบบอย่างนี้สิถึงมีเสน่ห์
ข้อมูลจากนิตยสาร Campus Star V.25 (กรกฎาคม 2015)