มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Kasetsart University

Home / academy / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ โดยมีปณิธาณในการก่อตั้งเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่การกสิกรรมและการเศรษฐกิจของประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University) ประวัติ ในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหม… See More

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ โดยมีปณิธาณในการก่อตั้งเพื่อเป็นคุณประโยชน์แก่การกสิกรรมและการเศรษฐกิจของประเทศ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University)

มาหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติ

ในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหม และทอผ้าของประเทศ ทรงได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น รวมทั้งสอน และฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยง และการทำไหม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างไหม กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาอันเกี่ยวกับการเกษตรแห่งแรก จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนช่างไหมเป็น โรงเรียนวิชาการเพาะปลูก ในปี พ.ศ. 2449 เนื่อง จากมีวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้ามาประกอบ

ต่อมา โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ใน สังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452

โรงเรียนเกษตราธิการ

ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ โรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมา สังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพ หัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการทั้ง 2 ท่านได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนด้านการเกษตรโดย สังกัดกระทรวงเกษตราธิการขึ้นมาอีกครั้ง ในนาม “โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม” ตั้งอยู่ที่ ตำบลหอวังในปี พ.ศ. 2460 ภายหลังจึงได้มีการย้ายการเรียนการสอนไปที่ ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2461

ในปี พ.ศ. 2474 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ร่วมกันขยายการจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยภาคกลางตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ภาคเหนือตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และภาคใต้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลาพ.ศ. 2478 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในภูมิภาคต่างๆ ได้ปิดตัวลงตามข้อบังคับของการปรับเปลี่ยนระบบราชการในขณะนั้น จึงได้มีการยุบรวมโรงเรียนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน หลวงอิงคศรีกสิการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นสามบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเสนอให้รักษาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้) ไว้ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่เพียงแห่งเดียว และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น
“โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม” ต่อมาจึงได้มีการยกฐานะของโรงเรียนจนก่อตั้งเป็น “วิทยาลัยเกษตรศาสตร์” มีฐานะเป็นกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรมเกษตร และประมง ตามความต้องการของกระทรวงเกษตราธิการ

หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต่อมา กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งสถานีเกษตรกลางขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ดังนั้น จึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งอยู่ที่อำเภอบางเขนในปี พ.ศ. 2481 และให้ส่วนราชการที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็น “โรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์” เพื่อเป็นการเตรียมนิสิตให้วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ อำเภอบางเขนต่อไป

ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ และให้แต่งตั้งข้าราชการประจำ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย หลวงสินธุสงครามชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก โดยมีการเปิดสอนใน 4 คณะ ได้แก่ คณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะการประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ เป็นคณะแรกตั้ง (ในปัจจุบันคือ คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และ คณะบริหารธุรกิจ)

ใน ปี พ.ศ. 2509 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหม่อมหลวงชูชาติ กำภูอธิการบดีในขณะนั้นได้ พิจารณาเห็นว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนคับแคบ ไม่สามารถจะขยายงานด้านการศึกษาทางเกษตรให้กว้างขวาง เพื่อรับกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสังคม ของชาติในอนาคตได้ จึงได้ดำริที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่มีดินดีเหมาะต่อ การเกษตร และมีโครงการชลประทานผ่านเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนราคาที่ดินจะมีราคาแพง ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 รัฐบาลในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเพื่อให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์จัดตั้งวิทยาเขตกำแพงแสน โดยทางมหาวิทยาลัยได้ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิม และก่อสร้างอาคารเรียน ที่พัก และอาคารสำนักงานซึ่งสามารถเสร็จสิ้นเมื่อกลางปีพ.ศ. 2521  และเริ่มจัดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

ต่อมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีแนวคิดที่จะขยายโอกาสทางการศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยจึงได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้ง วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี วิทยาเขตกระบี่ และวิทยาเขตลพบุรี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชาในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2542 และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ. 2543 ส่วนวิทยาเขตสุพรรณบุรีปัจจุบันยังอยู่ในสถานะภาพของการเป็นโครงการจัด ตั้งส่วนวิทยาเขตกระบี่ และวิทยาเขตลพบุรีนั้นเนื่องจากมีปัญหาในด้านงบประมาณ ในการดำเนิน
งานจึงทำให้สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติยกเลิกการจัดตั้งทั้ง 2 วิทยาเขต จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการขยายการศึกษาเพิ่ม ขึ้นโดยการเปิดคณะ และสาขาวิชาเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีที่เปิดทำการสอนแล้วทั้งหมด 29 คณะ 1 วิทยาลัย และสถาบันสมทบอีก 2 แห่ง มีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 373 หลักสูตร

ตรา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้คำว่า “เกษตรศาสตร์” เป็นชื่อภาษาไทยของมหาวิทยาลัย และใช้อักษรโรมันว่า “Kasetsart”

“เกษตรศาสตร์” มาจากคำว่า เกษตร (เขต หรือ แผ่นดิน) และ ศาสตร์ (ความรู้ หรือ การศึกษา) ซึ่งรวมกันมีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับเขตและแผ่นดิน หรือ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Agriculture แปลว่า การเพาะปลูกแบบรูปธรรม มีรากคำมาจากภาษาละตินคือคำว่า agrīcultūra : agrī หมายความถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม และคำว่า cultūra หมายความถึง วัฒนธรรม สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ การเพาะปลูก

คำว่า “เกษตร” อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้น มีที่มาจากการที่กระทรวงเกษตราธิการต้องการจัดตั้งสถาบันการศึกษาวิชาการเกษตรอันเนื่องด้วยวิชาการผลิตและการค้า เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเป็นการเฉพาะ โดยคำว่า “เกษตร” นั้นจารึกขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ในปี พ.ศ. 1893

ในระหว่าง พ.ศ. 2518 ได้มีการวิ่งเต้นขอให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลนานัปการทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการแถลงข่าวโจมตีซึ่งกันและกัน ระหว่างฝ่ายที่อยากให้เปลี่ยนชื่อ และไม่ประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นิสิตหยุดเรียนครึ่งวัน เพื่อจัดทำประชามติในเรื่องนี้ ภายหลังจึงมีการเห็นสมควรให้มีการใช้ชื่อ เกษตรศาสตร์ เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการระลึกและย้ำ เตือนถึงศาสตร์อันเป็นรากฐานวัฒนธรรม ความรู้ และวิทยาการของแผ่นดินไทย

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มีพระราชดำรัสถึงความหมาย ของคำว่าเกษตรศาสตร์ตามชื่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้ว่า คำว่า “เกษตรศาสตร์” อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนี้นั้น ฟังดูมีความหมายจำกัดอยู่เพียงการทำนา แต่ความจริง เกษตรศาสตร์ ตามความหมายในปัจจุบัน กินความกว้างขวางมาก คือ รวมเอาวิชา หรือศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์เข้าไว้เกือบทั้งหมด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงสอนวิชาการสาขาต่างๆ มากมายหลายสาขา ทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์ ทั้งฝ่ายศิลปศาสตร์ เรียกได้ว่าครบถ้วนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยในความหมายสากลอย่างสมบูรณ์

คำ “เกษตรศาสตร์” ที่เป็นวิสามานยนามอันเป็นชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อ่านว่า “กะ-เสด-สาด” แต่ในกรณีที่หมายถึงวิชาว่าด้วยการเกษตร คำนี้อ่านว่า “กะ-เสด-ตฺระ-สาด”

ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 247) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 98 ง โดยตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่
1. ภาคภาษาไทย ตรามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นรูปวงกลม มีรูปพระพิรุณทรงนาคอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย และมีข้อความ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖” ล้อมรอบเป็นชั้นนอกสุด สีตราประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ สีเขียวใบไม้
2. ภาคภาษาอังกฤษ มีองค์ประกอบเหมือนกับภาคภาษาไทย แต่เปลี่ยนจากอักษรภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ข้อความ “KASETSART UNIVERSITY 1943”

นอกจากนี้ตราประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั่นคือ รูปพระพิรุณ โดยเหตุนั้นเนื่องจากทั้งสองมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยมีต้นกำเนิดเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ปี พ.ศ. ด้านล่างของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็น พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ

สีประจำมหาวิทยาลัย
สีประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ สีเขียวใบไม้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ต้นนนทรี

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
“ต้นนนทรี” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลือง ประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย ดังนั้นที่ประชุมสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506 จึงได้เลือกให้ต้นนนทรีเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลวงอิงคศรีกสิการอธิการบดี ในขณะนั้นได้นำข้อสรุปของที่ประชุมกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทรงปลูกต้น นนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 และมีพระราชดำรัสถึงบุคลากร และนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า “ขอฝากต้นไม้นี้ให้ มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

เพลงประจำมหาวิทยาลัย
เพลงพระราชนิพนธ์ เกษตรศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร แต่งคำร้องถวาย

ในปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 4 วิทยาเขต ดังนี้
วิทยาเขตบางเขน
ก่อตั้งเมื่อวันที่  2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 มีพื้นที่ 846 ไร่ ประกอบด้วย 15 คณะ 2 สถาบันสมทบ ได้แก่ คณะเกษตร คณะประมง คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร บัณฑิตวิทยาลั้ย วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม และสถาบันสมทบอีก 2 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยการชลประทาน และวิทยาลัยพยาบาลราชชนนี นพรัตน์วชิระ
ที่ตั้ง : เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0-2942-8200-45
โทรสาร : 0-2942-8151-3
วิทยาเขตกำแพงแสน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ตั้งอยู่ ณ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ 7,951 ไร่ ประกอบด้วย 5 คณะ ได้แก่ คณะเกษตร กำแพงแสน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และ 2 สถาบัน คือ สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้า พัฒนาปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญของมหาวิทยาลัย อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม กำแพงแสน ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถานีวิจัยประมง กำแพงแสน และโรงพยาบาลสัตว์ กำแพงแสน ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานของโรงพยาบาลสัตว์หนองโพ จังหวัดราชบุรีด้วย
ที่ตั้ง  : เลขที่ 1 หมู่ 6 ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 ห่างจากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนสายนครปฐม-สุพรรณบุรี (ถนนมาลัยแมน) เป็นระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร
โทรศัพท์ : 0-2942-8010-9 , 0-3428-1053-6
โทรสาร : 0-2942-8000 , 0-3428-1053-6
วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ ณ อำเภอเมือ จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ 4,488 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติปีที่ 50 และเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาให้จังหวัดสกลนครเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมทั้งสนับสนุนช่วยเหลือด้านวิชาการแก่โครงการตามพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพัฒนาการเกษตรแบบก้าวหน้า ประกอบด้วย 3 คณะ ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ นอกจากนี้ยังมีสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ด้วย
ที่ตั้ง : เลขที่ 59 หมู่ 1 ถนนสกลนคร-นครพนม ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000 ตั้งอยู่ที่สนามบินเก่า บ้านเชียงเครือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 22 (สกลนคร-นครพนม)
โทรศัพท์ : 0-4272-5000 หน่วยประสานงานวิทยาเขต โทร 0-2942-8999
โทรสาร : 0-4272-5013
วิทยาเขตศรีราชา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ 199 ไร่ ประกอบด้วย 4 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา คณะวิทยาศาสตร์ศรีราชา และ 1 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ
ที่ตั้ง : เลขที่ 199 หมู่ 6 ถนนสุขุมวิท ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20230
โทรศัพท์ : 0-3835-4580-4
โทรสาร : 0-3835-1169 0-3835-1169

 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : Kasetsart University
ชื่อย่อ : มก. / KU
คติพจน์ : ศาสตร์แห่งแผ่นดิน (ทางการ) และ ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน (ไม่เป็นทางการ)
สถาปนา : 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เว็บไซต์ : www.ku.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/KasetsartUniversity

 

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

See Less