มหาวิทยาลัยทักษิณ
ประวัติ
มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ณ ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ในปีพุทธศักราช 2497 เพื่อพัฒนาปรัชญา และแนวคิดทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผนและมีความลุ่มลึกในสังคมไทย พร้อมกับการประสาทปริญญาทางด้านศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ พร้อมกับการขยายการจัดการศึกษาไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และมีการบริหารงานแบบหลายวิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตปทุมวัน (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตบางแสน จังหวัดชลบุรี (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตพิษณุโลก (ปีพุทธศักราช 2510) วิทยาเขตมหาสารคาม (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตสงขลา (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตพระนคร (ปีพุทธศักราช 2512) และวิทยาเขตพลศึกษา (ปีพุทธศักราช 2513) โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร
วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ ตําบลเขารูปช้าง อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา (ที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา) ตามมติสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ
วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2512 ในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต เฉพาะหลักสูตร 2 ปี และในปีการศึกษา 2517 จึงเริ่มรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี และได้ดําเนินการจัดการศึกษา และผลิตบัณฑิตโดยมีความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา”
ในระหว่างปีพุทธศักราช 2532 – 2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ได้เริ่มวางแผนขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง เนื่องด้วยพื้นที่เดิม ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง สงขลา มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อการรองรับการจัดตั้งคณะใหม่ๆ และการขยายงานในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้มหาวิทยาลัยขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง และให้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้มีมติกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลาใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้” ทั้งนี้โดยคํานึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยอันเกี่ยวเนื่องกับภาคใต้โดยรวม ไม่จำเพาะแต่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง
และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรม ในทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2547 เริ่มเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และสภามหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ได้มีมติให้มหาวิทยาลัยทักษิณมีการบริหารงานแบบ 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตสงขลา (พื้นที่บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา และตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา) และวิทยาเขตพัทลุง (พื้นที่ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน และตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง)
และนับตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกํากับของรัฐด้วยการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2551 และภายใต้ปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา”
ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย : ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา
ปณิธานประจำมหาวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม
ตราประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยทักษิณมีตรามหาวิทยาลัยเป็นรูปตำราเรียน 3 เล่ม สีเทา (สีประจำมหาวิทยาลัย) สะท้อนปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา” ล้อมรอบด้วยอักษรสีฟ้า (สีประจำมหาวิทยาลัย) ภาษาไทย “มหาวิทยาลัยทักษิณ” และภาษาอังกฤษ “THAKSIN UNIVERSITY” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้ ด้านบนเหนือรูปตำราเรียนเป็นมงกุฎสีฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นเลิศ และเกียรติยศ ด้วยในปีพุทธศักราช 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ตรงกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยปีกาญจนาภิเษก ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี
ต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยทักษิณมีต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ปาริชาต หรือปาริฉัตร หรือทองหลาง (ชื่อสามัญ: Tiger’s Claw หรือ Indian Coral Tree ชื่อวิทยาศาสตร์: Erythrina variegata L.) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ อยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE) ดอกมีลักษณะเป็นช่อสีแดงเข้ม เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพระไตรปิฎก คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลูกบนสวรรค์ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นประวาลพฤกษ์
สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเทา – สีฟ้า
โดยสีเทาซึ่งเป็นสีของสมอง สะท้อนถึงความคิด สีฟ้าซึ่งเป็นสีของทะเลและท้องฟ้า สะท้อนถึงความกว้างไกล
ดังนั้น สีเทา-ฟ้า จึงหมายถึง ความคิดที่กว้างไกล หรือคิดอย่างมีวิสัยทัศน์
ธงมหาวิทยาลัย
มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ใช้สีประจำมหาวิทยาลัย คือสีเทา และสีฟ้าเป็นสีหลักในธง โดยแบ่งพื้นที่บนผืนธงเป็นแถบ 3 แถบ แถบบนและแถบล่างเป็นสีฟ้า แถบกลางเป็นสีเทา ความกว้างของแถบสีเทาเป็นสองเท่าของแถบสีฟ้า บนผืนธงมีตรามหาวิทยาลัยสีทองอยู่ตรงกึ่งกลาง และด้านล่างตรามหาวิทยาลัยมีอักษรสีทองชื่อมหาวิทยาลัยทักษิณภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ กำกับ
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
– เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยทักษิณ
– เพลงร่มปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
– เพลงขวัญตาฟ้าเทา
– เพลงตะลุงรับขวัญ
– เพลงทักษิณ ถิ่นรัก
– เพลงอยากรำด้วย
– เพลงอาลัยปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
– เพลงลาเพื่อน
– เพลงทักษิณถวายชัยจอมราชัน
วิทยาเขต และที่ตั้ง
วิทยาเขตสงขลา มีพื้นที่ปฏิบัติการ 2 แห่ง คือ
1. พื้นที่ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 074-317600 มีพื้นที่ 142 ไร่ ปัจจุบันใช้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา
2. พื้นที่บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ 24 ไร่ เป็นที่ตั้งของสถาบันทักษิณคดีศึกษา
วิทยาเขตพัทลุง มีพื้นที่ปฏิบัติการ 2 แห่ง คือ
1. พื้นที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม โทรศัพท์ 074-609600 มีพื้นที่ 3,500 ไร่ ปัจจุบันใช้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา
2. พื้นที่ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน มีพื้นที่ 1,500 ไร่ เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน
ที่ทำการใหญ่ วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา(U-MDC)
133 อาคารซีโนบริต ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2644-8282, 0-2644-8448 โทรสาร 0-2644-8550-1 (ตรงข้าม โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)
มหาวิทยาลัยทักษิณ : Thaksin University
ชื่อย่อ : มทษ. / TSU
คติพจน์ : ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา
สถาปนา : 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 – สถาปนา “วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา” และ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – สถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยทักษิณ”
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
เว็บไซต์ : www.tsu.ac.th
Facebook : tsuclub
ที่มา http://www.tsu.ac.th