ความแตกต่าง นักศึกษา นิสิต

ที่มาของคำว่า นิสิตและนักศึกษา ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

Home / วาไรตี้ / ที่มาของคำว่า นิสิตและนักศึกษา ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

น้องๆ เคยสงสัยกันบ้างมั้ยคะว่า ทำไมมหาลัยบางที่ถึงเรียกนักศึกษาว่านิสิต บางที่ก็เรียกนักศึกษา วันนี้แคมปัสสตาร์มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาไขข้อสงสัยให้น้องๆ กันค่ะ ไปดูกันว่าประวัติความเป็นมา ที่มาของคำว่า นิสิตและนักศึกษา ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอย่างไร ? จริงๆ แล้วต่างกันหรือไม่ มหาลัยไหนบ้างที่ใช้คำเรียกนักศึกษาว่านิสิตบ้าง?

ที่มาของคำว่า นิสิตและนักศึกษา

ทั้งสองคำมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายไว้ดังนี้

นิสิต

นิสิต มีความหมายสองอย่างคือ ความหมายแรกหมายถึง ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย บางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความหมายที่สอง หมายถึง ศิษย์ที่เล่าเรียน อยู่ในสำนัก หรือ ผู้อาศัย แต่ในภาษาบาลี นั้น คำว่า ”นิสิต” แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์”

นักศึกษา

นักศึกษาไม่ได้ให้ความหมายไว้เป็นพิเศษ คงอนุโลมได้ว่า หมายถึง ผู้ศึกษา ในทางปฏิบัติจริง เรามักจะใช้คำพูด นักเรียน หมายถึงผู้ศึกษาเล่าเรียนในระดับต่ำกว่า ปริญญาตรีหรือในระดับโรงเรียน ส่วนคำว่า นิสิตและนักศึกษานั้น ใช้หมายถึงผู้ศึกษา เล่าเรียนในระดับตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป หรือในระดับมหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในอดีต)

(ภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอดีต)

เหตุผลที่เรียกว่า นิสิต

แต่เดิมในสมัยก่อนนั้นยังมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นไม่มากในไทย ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2459 เมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยนั้น บรรดาผู้มาศึกษาเล่าเรียน จำต้องพักอาศัยอยู่ภายในมหาวิทยาลัยในขณะศึกษาเล่าเรียน

ซึ่งในยุคนั้น จุฬาฯ ถือว่าอยู่นอกเมือง และห่างจากพระนคร ผู้มาเรียนจึงจำเป็นต้องอยู่หอ จึงเรียกผู้เล่าเรียนว่า “นิสิต” ( คำว่า นิสิต เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์” หรือแปลง่ายๆ ว่า “ผู้อยู่อาศัย” ) ตีความได้ว่า อาจจะหมายถึงเรียน แล้วก็อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยด้วย หรือต้องมาเรียนเป็นประจำ) ซึ่ง หญิง ชาย ก็จะมีคำเรียกที่แตกต่างกันด้วยค่ะ

“นิสิต” ใช้เรียกผู้ชาย และ “นิสิตา” สำหรับใช้เรียกผู้หญิง

มหาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในอดีต

(ภาพ ม.ธรรมศาสตร์ในอดีต)

ม.ธรรมศาสตร์ กับคำว่า นักศึกษา

จนต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เป็นแห่งที่สองของประเทศไทย ได้มีการเรียกผู้มาเล่าเรียนว่า “นักศึกษา” เป็นมหาวิทยาลัยแรก เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป หรือ เป็นมหาวิทยาลัย “เปิด” แห่งแรกของไทย และอยู่ในเมือง ผู้มาศึกษาเล่าเรียนไม่จำเป็นต้องพักในมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงอธิบายว่า มธก. ควรเรียกผู้ เข้ามาศึกษาว่า “นักศึกษา” ไม่ควรใช้ “นิสิต” เพราะคำว่า “นิสิต” ตรงกับ “undergraduate” ส่วนคำว่า “นักศึกษา” ตรงกับ “student” ซึ่งเหมาะสมกว่า ตามระเบียบของ มธก. ฉบับ แรกเป็นที่น่าสังเกตว่า ใช้คำ “นิสิต” และ “นักศึกษา” ทดแทนกันไปมา

จากการบอกเล่า ก่อนหน้านี้ก็มีการใช้คำว่า “นักศึกษา” อยู่ในหมู่ผู้มาเรียนที่ มธก. อยู่ก่อนแล้ว และคณะกรรมการ มหาวิทยาลัยได้มีมติรับรองให้ใช้คำว่า “นักศึกษา” อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่การประชุมคณะ กรรมการมหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 เดือนเมษายน 2477 เป็นต้นไป”

จากนั้นมาประเทศไทยก็มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นใหม่มากขึ้นๆ ก็จะมีการเรียกผู้เรียนไปตามความนิยมของแต่ละสถาบัน อาทิ นิสิตเกษตร (อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อก่อนนี้นิสิตปีที่หนึ่งทุกคน ต้องอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย) เช่น นักศึกษาแพทย์ เป็นต้น

ในปัจจุบัน ความหมายโดยนัยที่กล่าวข้างต้น อาจจะเลือนไปแล้วก็ได้ สถาบันใหม่ ๆ ที่เกิดก็มักจะใช้คำว่า นักศึกษา เพื่อแสดงความใหม่ ปล่อยให้สถาบันเก่าๆ ใช้คำว่า นิสิต กันไปเพียงไม่กี่แห่ง ข้อความอ้างอิงมาจากหนังสือ ภาษาไทยไฮเทค ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ)

มาดูกันค่ะว่ามีมหาลัยไหนใช้คำว่า นิสิต กันบ้าง 

7 มหาวิทยาลัยที่ใช้คำว่า “นิสิต”

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
4. มหาวิทยาลัยบูรพา
5. มหาวิทยาลัยนเรศวร
6. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
7. มหาวิทยาลัยทักษิณ
8.มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

ที่มาจาก www.gotoknow.org,www.oknation.net

บทความแนะนำ