มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Mahasarakham University

Home / academy / มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง - เทา See More

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Mahasarakham University) ตั้งอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม เดิมเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 22 ของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ประวัติความเป็นมา

ดินแดนอีสานได้ปรากฎมีความสัมพันธ์กับรัฐศูนย์กลางของคนไทยที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มาตามลำดับ ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ โดยภายหลังที่เมืองสุวรรณภูมิแยกจากการขึ้นตรงต่อจำปาศักดิ์มาขึ้นกับอยุธยา ซึ่งหัวเมืองต่างๆ ในอีสานต่างขึ้นกับสุวรรณภูมิต่อหนึ่ง ภายหลังได้เปลี่ยนมาขึ้นกับโคราช และต่อมาจึงได้ให้ทุกหัวเมืองของอีสานขึ้นกับกรุงเทพฯ หลังจากเกิดกรณีเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2369-2371) แต่ความสัมพันธ์ของหัวเมืองอีสานกับศูนย์กลางของรัฐไทย อยู่ในลักษณะเมืองขึ้นที่เพียงส่งส่วยบรรณาการ และป้องกันภัยจากญวนเท่านั้น

กระทั่งความสำคัญของดินแดน และหัวเมืองอีสานได้ปรากฎความสำคัญชัดเจนในช่วงที่กระแสการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองต่อหัวเมืองแถบนี้ใหม่ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้คนในรัฐสยามสามารถอ่าน เขียน พูด และเรียนมาตรฐานความรู้อย่างเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็น “รัฐชาติ” (Nation State) ขึ้นมา ครั้นยุคจากการล่าอาณานิคมทางดินแดนสิ้นสุดลง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโลกได้แบ่งขั้วการเมืองออกไปอีก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวประเทศไทยได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอันเกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก แผนพัฒนาประเทศทั้งทางการและไม่ทางการได้ทะยอยออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลตระหนักถึง และเข้าใจว่าการพัฒนาประเทศนั้น เครื่องมือที่สำคัญคือคน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ดังนั้นปัจจัยที่นำมาพัฒนาคนที่สำคัญคือให้ การศึกษา จึงเป็นลงทุนที่เร่งด่วน รัฐบาลในยุคต่างๆได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องหนักเบาตามสถานการณ์และความสนใจของผู้นำในช่วงต่างๆ

เมื่อพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์มหาวิทยามหาสารคามนั้นไม่ได้ยืนหยัดอยู่เพียงลำพัง แต่ได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมตลอดช่วงเวลา ภาพของมหาวิทยาลัยในช่วงต่างๆ จึงสามารถสื่อสะท้อนความคิด โลกทัศน์ ชีวทัศน์ของคนในแต่ละช่วงเวลาได้พอสมควร รวมทั้งมหาวิทยาลัยยังเป็นผลผลิตของท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งได้มีการสร้างสมมาหลายช่วงอายุคน โดยได้ตกผลึกจากการสั่งสมของสิ่งที่เรียกว่า “ตัวตน” และได้เป็นลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร แรกเริ่มก่อนที่จะมีการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง นั้นวงการศึกษา ของไทยประสบปัญหาในความล้าหลังของการศึกษาประชาชนส่วนใหญ่ยังมีมาตรฐานการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้นั้นยังมีข้อจำกัดหลายประการ และยังประสบปัญหาอื่นอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะพื้นที่ตั้งโรงเรียน ซึ่งต้องประสบกับการย้ายที่ตั้งอยู่เสมอ เช่น ในพ.ศ. 2484 เมื่อรัฐบาลได้สถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ใช้พื้นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งเดิม จึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่ตั้งมาที่ใหม่

ภายหลังได้มีผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาท่านหนึ่งจึงได้พยายามแสวงหาสถานที่ ที่เหมาะสมเพื่อก่อตั้งกิจการวิชาครู ให้เป็นหลักฐานมั่นคงสืบไป คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมีความกังวลต่อสภาพการณ์ดังกล่าว จนสามารถมาได้พื้นที่บริเวณถนนประสานมิตร ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเดิมพื้นที่ ดังกล่าวก่อนนั้นเคยใช้เป็นฟาร์มเลี้ยงโค เพราะในระหว่างสงครามไม่มีนมเนยเข้ามาจากต่างประเทศ ท่านจึงได้ทำหนังสือราชการขอซื้อที่จากกระทรวงเกษตรทันที ในราคาวาละ 38 บาท รวมทั้งขอซื้อจากเจ้าของรายอื่นใกล้เคียงเพิ่มเติม

จากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารและจัดให้มีการประชุมกัน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2492 เพื่อกำหนดนัดหมายทำความเข้าใจ เรื่องคำสั่งเปิดโรงเรียน และแต่งตั้งคณะกรรมการและระเบียบ ลงวันที่ 28 เมษายน 2492 จึงได้กำหนดวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งโรงเรียน และมีการพิจารณาตั้งชื่อชั่วคราวว่า ‘ โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร’

วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาวงการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมาก และวุฒิครูสูงที่สุดคือวุฒิป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือ และดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ แต่ความเข้าใจในเวลานั้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลในพรรครัฐบาล จึงต้องใช้ความพยามยามอย่างมาก

ดร. สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุ และผลที่จะดำเนินการ และสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาออกมา แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร

อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2497 ระหว่างนั้นอาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ.2500 –2513) และเป็นคณะกรรมการร่วมของโครงการพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งให้ความสำคัญกับงานฝึกหัดครูอย่างมาก จากแนวคิดในการดำเนินการขยายการฝึกหัดครูระดับปริญญาไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น จึงได้มีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีความคล้ายคลึงทั้งในที่มา จุดประสงค์ และการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพครู เหมือนกับกรมการฝึกหัดครู จากนั้นจึงได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่างๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพฯ ที่บางเขน (27 มีนาคม 2512)

วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม บุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาไทยท่านหนึ่ง คืออาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 – 2513) อีกทั้งมีภูมิลำเนากำเนิดอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามซึ่งได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาตอนนั้นว่า ต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยต้องรีบผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ โดยการศึกษาฝึกหัดครูจะต้องเป็นขั้นๆ โดยลำดับจนถึงขั้นปริญญา ขณะเดียวกันก็ค่อยลดการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรลงจนเลิกไปในที่สุด และผลิตครูขั้นปริญญาเพิ่มขึ้นๆ และเมื่อถึงโอกาสอันสมควร สถานศึกษาฝึกหัดครู สถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถาบันขั้นปริญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน และจังหวัดใกล้เคียง ก็จะรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค ทั้งนี้อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร ได้มีแนวคิดและเหตุผลที่เลือกจังหวัดมหาสารคามให้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัย

ในส่วนของวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคามในช่วงระยะแรกของการก่อตั้งนั้นต้องประสบปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานอันเกิด จากความไม่พร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาคารสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ครุภัณฑ์ประกอบการเรียนการสอน จึงต้องอาศัยวิทยาลัยครูมหาสารคามในเบื้องต้นเกือบทั้งหมดที่กล่าวมาช่วยพยุง และเป็นพี่เลี้ยงในช่วงก่อร่างสร้างตัวซึ่งปัญหาดังกล่าว วิทยาลัยวิชาการศึกษาอื่นที่ไปตั้งในแต่ละภูมิภาคต่างประสบเช่นกัน และแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา

หลักสูตรที่เปิดสอนในปีการศึกษาแรก พ.ศ. 2511 มี 2 วิชาเอกคือ วิชาเอกภาษาอังกฤษและชีววิทยา โดยสามารถเปิดรับนิสิตได้ทั้งสิ้น 134 คน ซึ่งนิสิตที่มาเรียนในระยะแรก ปีการศึกษา 2511 – 2515 เป็นนิสิต ที่คัดเลือกจากนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศมาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี

ในปีการศึกษา 2512 อาคารของวิทยาลัยได้สร้างเสร็จและสามารถเปิดใช้ได้ คือ อาคารเรียน 1 หอสมุด หอศิลป์ โรงอาหาร หอพักชาย และหอพักหญิง จากนั้นวิทยาลัยจึงได้มีการพัฒนามาตามลำดับ

โดยในปี 2514 ได้มีการดำเนินการขอพื้นที่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นที่ราช พัสดุ ของกองทัพ อากาศ ซึ่งได้ใช้เป็นสนามแข่งม้าและสนามบินจากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักเพิ่มเติมขึ้นมา

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ณ วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 112 ดังนั้น ในวันที่ 29 มิถุนายน 2517 โดยรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมดเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แล้วโอนไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเรียกชื่อมหาวิทยาลัย และชื่อวิทยาเขตตามสถานที่ตั้งของวิทยาเขตต่อท้าย ยกเว้นวิทยาเขตพระนครให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้นั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร เข้าดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเห็นว่าการบริหารงานของวิทยาลัยนั้นขาดความคล่องตัวอยู่มาก เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการอันจะเป็นปัญหาระยะยาวในการขยายผลด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป ท่านจึงได้ร่างพระราชบัญญัติเพื่อขอยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร ได้ออกเอกสารที่ช่วงนั้นเรียกว่า “เอกสารปกขาว” เพื่อชี้แจงหลักการ และเหตุผลดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจรับทราบ

โดยได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามลำดับ โดยเป็นการดำเนินการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้ติดชะงักไปในช่วงหนึ่ง อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515

จากการที่วิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์ และนิสิตได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอ และด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ขึ้นมา

ชื่อมหาวิทยาลัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นมงคลนาม และพระราชทานความหมายว่า “มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร” โดย ‘วิโรฒ’ มาจาก ‘วิรูฒ’ (ภาษาสันสกฤต) ‘วิรุฬห์’ (ภาษาบาลี) ซึ่งแปลว่า “เจริญ งอกงาม” ซึ่งก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินการมาตามขั้นตอน และลำดับ โดยได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 และเป็นการดำเนินการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้ติดชะงักไปในช่วงหนึ่ง อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของ กระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515

ภายหลังทางวิทยาลัย โดยความร่วมมือทั้งอาจารย์ และนิสิต ได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับ ทั้งนี้โดยตระหนักจากการพิจารณาองค์ ประกอบความพร้อมในด้านต่างๆ ของวิทยาลัย และประโยชน์อันจะเกิดขึ้นต่อ วิทยาลัย และในวงกว้างทางการศึกษา และประเทศชาติต่อไป ทางวิทยาลัย จึงได้มีการชี้แจงเหตุผล และความจำเป็นในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้ดังนี้
1. วิทยาลัยวิชาการศึกษามีความพร้อมโดยสมบูรณ์ที่จะเติบโต เป็นมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทางวิทยาลัยมีความพร้อมของอุปกรณ์ประกอบการสอน อาจารย์ และอาคารสถานที่เพียงพอที่จะเปิดสอนสาขาอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
2. ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
3. ความคล่องตัวในการบริหารงาน
4. ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการความหลากหลายทางการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง
5. ในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย จากการดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอ และด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะ วิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ดังกล่าวมาข้างต้น หลังจากที่ได้ยกฐานะแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้นำวิธีสอบคัดเลือกนิสิต เข้าศึกษาใน 2 ระดับ คือชั้นปีที่ 1 และ 3 ซึ่งในปีการศึกษานี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคามยังคงรับนิสิตภาคปกติที่จบป.กศ. สูงเข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวิธีการสอบคัดเลือกเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือได้เปิดรับสมัครสอบนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี เป็นปีแรกโดยใช้ วิธีการสอบผ่านทบวงมหาวิทยาลัย โดยรับทั้งสิ้น 63 คน สำหรับวิชาเอกที่เปิดในปีการศึกษา 2517 มีดังนี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และการประถมศึกษาซึ่งได้ใช้วิธีการสอบแข่งขันในการคัดเลือกผู้มาเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังได้ยกฐานะหน่วยงานสำคัญขึ้นมา 2 หน่วย งานใน ปีพ.ศ. 2529 พร้อมกับ คณะเทคโนโลยี คือ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9 -10 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 สำนักวิทยบริการ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 36 – 42 เล่มที่ 103 ตอนที่ 139 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2529 และ สถาบันวิจัยรุกขเวช ตามประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีพัฒนาการมาตามลำดับ โดยอาศัยเงื่อนไขของเวลาในการสร้างความพร้อมต่างๆ กระทั่งสามารถดำเนินการแยกเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศสำเร็จภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 54 ก นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 22 ของประเทศไทย สำหรับแนวคิดในการแยกตัวเป็นเอกเทศนั้นได้เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 โดย ดร.ถวิล ลดาวัลย์รองอธิการบดีเวลานั้นได้มีแนวความคิดที่จะรวมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลักๆ ของจังหวัดมหาสารคามเข้าเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่แนวคิดดังกล่าวได้ติดขัดปัญหาบางประการจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น ปัญหาของต้นสังกัดเดิมของแต่ละสถาบัน เป็นต้น ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2531 รองศาสตราจารย์ ดร. วีระ บุญยกาญจนะเป็นรองอธิการบดีจึงได้มีการเสนอให้แยกออกจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอีกครั้ง โดยให้ลักษณะเป็นสถาบันในนามของสถาบันบัณฑิตศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท แต่ให้มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย หากแต่ไม่อาจดำเนินต่อไปให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นกัน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2535 เมื่อรองศาสตราจารย์ ดร. จรูญ คูณมีเป็นรองอธิการบดี จึงได้มีสืบสานแนวคิดที่จะแยกตัวออกอีกครั้ง และเริ่มปรากฏผลชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ประกอบกับในช่วงเวลานั้น นายสุเทพ อัตถากร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งโดยส่วนตัวท่านเองได้ให้สนใจและความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในการสนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในจังหวัดมหาสารคาม การดำเนินงานจึงได้เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคามและคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 จากนั้นจึงได้ดำเนินงานมาตามขั้นตอนจนสามารถยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้สำเร็จดังที่กล่าวข้างต้นในช่วงรองศาสตราจารย์ ดร. บุญชม ศรีสะอาด เป็นรองอธิการบดี ซึ่งได้สืบสานแนวคิดและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นและจริงจังจากทุกท่านทุกฝ่าย ทั้งบุคคลภายในและภายนอกในสายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก  ในระหว่างที่มีการดำเนินการเพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศนั้นได้มีการทบทวนเรื่องชื่อของมหาวิทยาลัยเพื่อหาความเหมาะสมและเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย โดยการดำเนินการสำรวจประชามติให้เป็นเอกฉันท์ ซึ่งชื่อที่เสนอในครั้งนั้นมีความหลากหลายของที่มาและแนวคิด ตั้งแต่ชื่อมหาวิทยาลัยอีสาน มหาวิทยาลัยภัทรินธร มหาวิทยาลัยศรีเจริญราชเดช มหาวิทยาลัยศรีมหาชัย มหาวิทยาลัยศรีมหาสารคาม จนกระทั่งได้มาเห็นชอบพร้อมกันต่อชื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในเบื้องท้ายดังปรากฏในปัจจุบัน

ภายหลังได้มีการขยายพื้นที่มายัง “ป่าโคกหนองไผ่” ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม บนเนื้อที่ประมาณ 1,300 ขณะนั้นของรองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามคนแรก (พ.ศ. 2538-2546) และได้ดำเนินการสร้างอาคารต่างๆตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ภายหลังจึงได้ย้ายศูนย์กลางบริหารงานมา ณ ที่ทำการแห่งใหม่ในปีการศึกษา 2542 อีกทั้งยังได้มีการเปิดสาขาวิชาและคณะใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดบริการทางการศึกษาให้มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรและสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยี คณะการบัญชีและการจัดการ คณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์- ผังเมือง-นฤมิตศิลป์ และโครงการจัดตั้งคณะใหม่อีกทะยอยเปิดในแต่ละปีการศึกษา คือ โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการสารสนเทศ โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะการโรงแรมและการท่องเที่ยว และ คณะแพทย์ศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เปิดสอนระดับประถม และมัธยมศึกษาใน ‘โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม’ โดยเปิดสอนในปีการศึกษา 2540 เป็นปีการศึกษาแรก และยังได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทไปยังวิทยาเขตนครพนม และศูนย์พัฒนาการศึกษาอุดรธานี โดยใช้สอน ระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ในเวลานี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้มีโครงการที่กำลังดำเนินการและจะดำเนินการอีกมาก ทั้งนี้เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศชาติและองค์รวมเบื้องปลายต่อไป

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ตราโรจนากร
คือ ตราประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีความหมายว่า สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นรูปใบเสมา ภายในมีภาพขององค์พระธาตุนาดูน ด้านล่างเป็นสุริยรังสีที่แผ่ขึ้นจากผ้าลายขิตซึ่งอยู่เหนือคำขวัญภาษาบาลี ” พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว ” หมายความว่า ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน
– ใบเสมา หมายถึง ภูมิปัญญา
– พระธาตุนาดูน หมายถึง คุณธรรมความดี
– สุริยรังสี หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง
– ลายขิต หมายถึง ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมแห่งอีสาน
ดังนั้น ความหมายโดยรวม คือ ความเจริญรุ่งเรืองอันเป็นผลจากความรู้และคุณธรรม ผสมผสานกับภูมิปัญญาแห่งท้องถิ่นอีสาน

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง – เทา
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความดีงาม ความอุดมสมบูรณ์
สีเทา หมายถึง ความคิด หรือ ปัญญา
ดังนั้น สีเหลือง – เทา จึงหมายถึง การมีปัญญาและความคิดที่ดีงาม อันนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

ที่ตั้ง และวิทยาเขต
เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่)

41/20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
เขตพื้นที่ในเมือง (ม.เก่า)
269/2 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000

 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : Mahasarakham University (MSU)
คติพจน์ : พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว (ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)
สถาปนา : 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 (วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม) และ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
ประเภท : มหาวิทยาลัยรัฐ
เว็บไซต์ : msu.ac.th
Facebook : www.facebook.com/msu.thailand

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

See Less