ม.มหาสารคาม มมส

มมส ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิด “เส้นทางการเรียนรู้ : มหาสารคาม DNA”

Home / วาไรตี้ / มมส ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิด “เส้นทางการเรียนรู้ : มหาสารคาม DNA”

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการพิพิธภัณฑ์กินได้ ขับเคลื่อนการเรียนรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตักสิลานคร โดยมี นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมนำเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์นิทรรศการภายในงาน ก่อนที่จะออกเดินทางสำรวจแหล่งเรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม และ แหล่งเรียนรู้ใน “เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA”

เส้นทางการเรียนรู้ : มหาสารคาม DNA

อาจารย์ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า “เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA” เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพิพิธภัณฑ์กินได้ ขับเคลื่อนการเรียนรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตักสิลานคร  ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ได้แก่ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ และคณะการบัญชีและการจัดการ ร่วมกับ เทศบาลเมืองมหาสารคาม และ YEC หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้ กรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)”

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการ ในการใช้แนวคิดพิพิธภัณฑ์กินได้ อันได้แก่ การสร้างการเรียนรู้ (กินความรู้) การปลุกจิตสำนึกในคุณค่าและความสำคัญ (กินใจ) และการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม (เกิดรายได้) เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจฐานรากของเมืองมหาสารคาม

โดยมีพระเอกหรือนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ นักเรียนและครูสังกัดโรงเรียนเทศบาลเมืองมหาสารคาม ผู้รู้และผู้นำชุมชนของเทศบาลเมืองมหาสารคาม และนิสิตสาขาประวัติศาสตร์และสาขาสถาปัตยกรรมภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จำนวน 14 แห่ง

“เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA” ประกอบด้วย แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จำนวน 14 แห่งในจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม, ศาลหลักเมือง, หอนาฬิกา, ตึกโค้ง, ถนนนครสวรรค์, สมาคมชาวจังหวัดมหาสารคาม, วัดมหาชัย, โฮงเจ้าเมือง คนที่ 1 , ข้าวเม่า: ชุมชนโพธิ์ศรี , ตึกดิน, วัดอุทัยทิศ,วั ดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น), พระพุทธกันทรวิชัยอภิสมัยธรรมนายก และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

มหาวิทยาลัยมหาสารคามซึ่งเปรียบเสมือนเป็นดีเอ็นเอ หรือ ลักษณะทางพันธุกรรม ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองมหาสารคาม ที่มีการสืบค้นและนำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญ พร้อม ๆ กับการพัฒนาดีเอ็นเอเหล่านั้นในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อสร้าง Soft Power ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจฐานรากต่อไป

เส้นทางการเรียนรู้: มหาสารคาม DNA ในครั้งนี้ จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาจังหวัด ทั้งด้านการส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจฐานรากจากมรดกวัฒนธรรมของบรรพชนชาวมหาสารคาม รวมทั้ง เป็นต้นทุนในการขับเคลื่อนสู่การสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลก ด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ในอนาคต

บทความแนะนำ