tu ธรรมศาสตร์โมเดล

ธรรมศาสตร์โมเดล เรียนรู้จากการเป็นผู้ให้ ในห้องเรียนขนาดใหญ่ไร้ผนังกั้น – ที่คุ้งบางกระเจ้า

Home / กิจกรรม / ธรรมศาสตร์โมเดล เรียนรู้จากการเป็นผู้ให้ ในห้องเรียนขนาดใหญ่ไร้ผนังกั้น – ที่คุ้งบางกระเจ้า

แม้ความรู้ที่ได้จากการนั่งเรียนในห้องเรียน ฟังสิ่งที่อาจารย์บรรยาย จะยังคงเป็นแบบแผนการเรียนรู้ที่นักเรียน นักศึกษาจากทั่วโลกยังคงต้องพบเจอ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้รูปแบบนี้เป็นต้นทางของการได้รับความรู้เพื่อนำมาต่อยอด แต่การเรียนรู้แบบดังกล่าว ก็อาจมิใช่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับทุกวิชาความรู้ ลองนึกถึงวิชาการเกษตร หากนักเรียนได้แต่นั่งฟังอาจารย์สอนว่าการพรวนดินที่ดีต้องทำอย่างไร โดยไม่เคยได้ลองลงมือทำ นักเรียนกลุ่มนี้ก็คงเป็นเพียงเกษตรกรเจ้าทฤษฎี ที่พรวนดินไม่เป็น การเปิดโอกาสให้เหล่านักเรียนได้ลองพรวนดิน ได้มีประสบการณ์ลงมือทำ จึงอาจเป็นหนทางการสอนที่ดีกว่าการนั่งฟังบรรยาย วาทกรรมนี้อาจสะท้อนได้จาก 2 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงพื้นที่พัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ธรรมศาสตร์โมเดล เรียนรู้จากการเป็นผู้ให้ ในห้องเรียนขนาดใหญ่ไร้ผนังกั้น

โมเดลสร้างประสบการณ์จริง เพื่อส่งเสริมชุมชนอย่างยั่งยืน

จาก 0 เป็น 30,000 “ชะมวง” พืชไร้ค่า สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้

นายสุทธิชัย ภัทรโสภาคย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนตำบลเนินพระ จังหวัดระยอง จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและนำรายได้ดังกล่าวมาเป็นกองทุนในการรักษาผืนป่าในพื้นที่ โดยมีน้ำชะมวง ยี่ห้อ ”รสชะมวง” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ออกขายสู่ท้องตลาด เพราะชะมวงคือพืชท้องถิ่นที่สามารถหาได้ง่าย รวมทั้งมีสรรพคุณและรสชาติที่ดี แต่การขายน้ำชะมวงของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้นั้น ไม่ราบรื่นนัก เพราะต้องพบเจอกับอุปสรรคในหลากหลายด้าน ทั้งตัวผลิตภัณฑ์น้ำชะมวงเองไม่มีมาตรฐานด้านรสชาติ จากการผลิตที่ไม่มีมาตรฐาน ความไม่โดดเด่นจากบรรจุภัณฑ์ ยอดขายน้อยเพราะเป็นที่รู้จักในวงแคบ รวมทั้งไม่มีการวางแผนทิศทางธุรกิจที่ชัดเจน ตลอดจนไม่มีการจัดการระบบหลังบ้าน อาทิ การทำบัญชี ที่เป็นระบบจนไม่สามารถแสดงตัวเลขยอดขาย ต้นทุน กำไรหรือขาดทุนที่ชัดเจน

การลงพื้นที่-คุ้งบางกระเจ้า

นายสุทธิชัย กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ตนและเพื่อนสมาชิกกลุ่มรวม 9 คน ได้มีโอกาสลงพื้นที่ พร้อมโจทย์การพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรใบชะมวงของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนตำบลเนินพระอย่างยั่งยืน จึงเริ่มวิเคราะห์ตลาด สำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและวางแผนธุรกิจใหม่ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการผลิต โดยนำเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ เครื่องวัดความเป็นกรดและเครื่องบรรจุร้อน ช่วยให้รสชาติและสีของน้ำชะมวงคงที่เท่ากันทุกขวด และยังสามารถเก็บได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสูตรให้ถูกปากและกินง่ายขึ้น 2) ด้านบรรจุภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ดึงดูดและโดดเด่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และ 3) ด้านการสื่อสารการตลาด ได้ทำการเสนอผลิตภัณฑ์น้ำชะมวงที่ร้านอาหารและร้านขายของฝาก และเปิดเฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage) เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าจากทั่วประเทศ รวมทั้งไปเปิดบูธตามเทศกาลของกิน นอกจากนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ “แยมสดใบชะมวง” และ “ชะมวงไซรัป” อีกด้วย สุดท้ายได้ช่วยให้ความรู้ในการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ยอดขายน้ำชะมวงยี่ห้อ “รสชะมวง” จากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนตำบลเนินพระถูกขายไปแล้วกว่า 1,000 ขวด หรือราว 30,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้

Gallery

ปัญหาน่ากังวลของ “คุ้งบางกระเจ้า”

นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่รายได้ในชุมชนไม่เพิ่มตาม

ด้าน นายกาญจน์ ภูมิสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่มนักศึกษาที่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาของชุมชน ได้บอกเล่าถึงปัญหาที่พบเจอในชุมชนคุ้งบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการว่า การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในสถานที่หนึ่ง ย่อมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและคนในบริเวณนั้น นี่อาจเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้กับแหล่งชุมชนและสถานที่เที่ยวยอดนิยมอย่างคุ้งบางกระเจ้า เพราะหลังจากการลงพื้นที่สำรวจ พบว่า ชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ไม่ได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว มีจำนวนขยะเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นและลอยเกลื่อนแหล่งน้ำในที่พื้นที่แทน อีกทั้งยังมีปัญหาอยู่อีกจำนวนไม่น้อยที่พบเจอ อาทิ การโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวบนออนไลน์ที่ยังไม่น่าสนใจ และขาดการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดี ฯลฯ

จากการปัญหาที่พบตนและเพื่อนสมาชิก จึงได้ออกแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบ One Day Trip ที่คุ้งบางกระเจ้า เพื่อสร้างจิตสำนึกรักธรรมชาติแก่นักท่องเที่ยว พร้อมมัคคุเทศก์ที่เป็นคนในชุมชน ทำหน้าที่พานักท่องเที่ยวไปเชี่ยวชมธรรมชาติและร้านค้าต่าง ๆ ในแหล่งชุมชน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเกิดกระจายรายได้แก่คนในชุมชนอย่างทั่วถึงจากการซื้ออาหารและของฝาก ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ได้ทำการโปรโมทผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจบน เฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage) และไลน์แอด (Line@) ตลอดจนพาคนในชุมชนไปออกบูธและจัดโปรโมชันการท่องเที่ยวที่คุ้งบางกระเจ้าในเทศกาลการท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งนี้หลังจากการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่าชุมชนคุ้งบางกระเจ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 28,000 บาท ต่อเดือน และเมื่อชุมชนเริ่มมีรายได้ การทำบัญชีที่ถูกต้อง เป็นระบบและโปร่งใส จึงเป็นอีกสิ่งที่จำเป็น ด้วยตระหนักถึงข้อนี้กลุ่มของตนจึงเข้าไปให้ความรู้ในการทำบัญชีที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน นายกาญจน์ กล่าว

ธรรมศาสตร์โมเดล ห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ให้มากกว่าความรู้

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า กิจกรรมการพัฒนาชุมชนของทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการ “ธรรมศาสตร์โมเดล” โครงการที่ มธ. ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย นำกลุ่มนักศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชน ผ่านการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ โดยการต่อยอดภูมิปัญญา วัตถุดิบและทรัพยากรที่มีในชุมชน มาพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ รวมทั้งมีการเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม นอกจากนี้ยังคงช่วยวางแผนการดำเนินธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วยการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ หาช่องทางการขายที่มีศักยภาพโดยเฉพาะการขายของผ่านช่องทางออนไลน์และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า และยังคงให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งช่วยเหลือการดูแลจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ อาทิ การสอนทำบัญชีรายรับ รายจ่ายและการตั้งราคาที่เหมาะสม

ทั้งแรงกาย แรงใจและองค์ความรู้ ที่นักศึกษา มธ. ได้ทุ่มเทให้กับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ นั้น ผลลัพธ์หนึ่งที่สามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือการสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับคนในชุมชนดังกล่าว แต่ใช่ว่ากลุ่มนักศึกษา มธ. จะเป็นผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว เพราะการลงชุมชนในแต่ละครั้ง เหล่านักศึกษา มธ. ล้วนได้รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าและไม่สามารถประเมินค่าได้ด้วยเงินสกุลใด นั่นคือ “ประสบการณ์” ในการได้ลงมือทำจริงและเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเอง จากการออกแบบและวางแผนพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และประสบการณ์ที่ได้รับเหล่านี้ คือใบเบิกทางที่ทรงคุณค่า สำหรับการก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพที่มั่นคง ตลอดจนพร้อมเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติในอนาคต รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ กล่าว

การลงพื้นที่ คุ้งบางกระเจ้า
การลงพื้นที่ คุ้งบางกระเจ้า

มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

84 ปีที่ผ่านมา จนอีกกว่า 100 ปี ที่จะมาถึง ธรรมศาสตร์จะยังคงยืนหยัดเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน”

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ. ส่งเสริมให้บุคลากร ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ นักวิจัย คณาจารย์และนักศึกษา ได้นำองค์ความรู้ที่มีไปบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพสังคมในทุกมิติอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การคมนาคม เศรษฐกิจและธุรกิจ ผ่านการคิดค้นงานวิจัย นวัตกรรม ตลอดจนการลงพื้นที่เข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง โดยที่ผ่านมา มธ. มีการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือชุมชนในหลากหลายพื้นที่เป็นจำนวนหลายโครงการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการลงมือทำจริงและพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพแล้วนั้น ทุกกิจกรรมยังคงเป็นการปลูกฝังให้นักศึกษาทุกคนเป็นบัณฑิตที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการมีคุณธรรมและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญที่ มธ. ยึดมั่นมาตลอด 84 ปี นั่นคือการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th/news