เรียกได้ว่า ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง เริ่มที่จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน หรือเปิดหลักสูตร/สาขาวิชาใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงไปของโลก ที่มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในการทำงานมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงส่งผลให้ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
หลักสูตร/สาขาเปิดใหม่ เลือกเรียนอะไรดี?
และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวมหลักสูตร/สาขาวิชาเปิดใหม่ของ 5 สถาบันการศึกษาที่น่าสนใจมาฝากกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใหม่ด้านสังคม วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และการบริหารธุรกิจ เป็นต้น จะมีหลักสูตร/สาขาวิชาใหม่อะไรบ้าง? มาดูกันเลย… (น้อง ๆ #dek63 คนไหนที่กำลังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกเรียนต่อด้านไหนดี ลองมาอ่านบทความนี้กันได้เลย เพราะมันอาจจะช่วยทำให้น้อง ๆ ค้นหาในสิ่งที่ตนเองชอบได้นะจ๊ะ)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
1. คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม
มาเริ่มกันที่คณะน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กันเลยค่ะ นั่นก็คือ คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม ที่ได้มีการยกมาตรฐานการเรียนการสอนจาก ภาควิชาบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์ ขึ้นมาเป็นคณะใหม่
ซึ่งจะเป็นการนำความรู้จากสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงานในแต่ละธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น หลักการทางบัญชี หลักการตลาด หลักการบริหารจัดการ กฎหมายธุรกิจ อังกฤษธุรกิจ การวิจัยเชิงธุรกิจเพื่อสังคม นวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น
2. สาขาวิชากฎหมายเพื่อสังคม
กฎหมายเพื่อสังคม เป็นสาขาวิชาในหลักสูตรนิติศาสตร์ (เพื่อสังคม) ซึ่งเป็นหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านกฎหมายที่เน้นการไกล่เกลี่ย การเจรจาความ ฯลฯ โดยได้มีการเปิดรับสมัครนิสิตใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยเปิดรับสมัครทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรพิเศษ
ข้อมูลเพิ่มเติม : มศว เปิดตัว สาขาใหม่กฎหมายเพื่อสังคม + คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม
3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
สำหรับ คณะคณะวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ได้มีการเปิด 4 สาขาวิชาใหม่ ได้แก่
– สาขาวิชาวิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย
ปัจจุบันตลาดแรงงานกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ด้านการจัดคอนเสิร์ต ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมเวที มีความรู้ด้านโครงสร้าง และการอพยพคนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยการเรียนรู้ในสาขาวิชานี้จะเป็นการผสมผสานระหว่างวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมเครื่องกลเข้าด้วยกัน ในชั้นปีที่ 3-4 นิสิตต้องเดินทางไปศึกษาต่อและฝึกปฏิบัติงานจริงที่ บีบีซี ประเทศอังกฤษ
– สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
น้อง ๆ ที่สมัครเรียนในสาขาวิชานี้ ในชั้นปีที่ 1-2 จะเรียนภาคทฤษฎีที่ มศว ประสานมิตร และเรียนภาคปฏิบัติที่ มศว องครักษ์ ส่วนชั้นปีที่ 3-4 น้อง ๆ จะต้องเดินไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย (UNSW)
– สาขาวิชาวิศวกรรมการบิน/นักบิน
โดยที่สาขาวิชาวิศวกรรมการบิน/นักบิน จะเรียนที่ มศว องครักษ์ (ตลอดหลักสูตร) โดยมีอัตราค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อภาคเรียน และมีค่าธรรมเนียมการเรียนด้านการบินอีกคนละประมาณ 200,000 บาท
– สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน
ในชั้นปีที่ 1-2 เรียนภาคทฤษฎีที่ มศว ประสานมิตร และเรียนภาคปฏิบัติที่ มศว องครักษ์ และในชั้นปีที่ 3-4 เรียนที่ มหาวิทยาลัยเดอมอนต์ฟอร์ต ประเทศอังกฤษ (DMU)
ข้อมูลเพิ่มเติม : มศว เปิด 4 สาขาวิชาใหม่ คณะวิศวะ – รองรับเทรนด์อาชีพในอนาคต
พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง (สจล.)
1. คณะแพทยศาสตร์ (หลักสูตรแพทย์วิจัย อินเตอร์)
เป็นหนึ่งในหลักสูตรแพทยศาสตร์ฟิวชั่นแนวใหม่แห่งแรกของไทย ที่ได้มีการปรับให้ก้าวทันเทคโนโลยีโลก ที่มุ่งเน้นผลิตแพทย์ที่เป็นมากกว่าการหมอรักษาโรค แต่ต้องมีไอเดียในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้ด้วยตนเอง และการอัพสกิลการสื่อสารกับคนไข้ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
วิชาที่เราจะได้เรียนรู้กัน อาทิ Creative thinking and innovation เป็นการบูรณาการศาสตร์ทางด้านการออกแบบสู่วิชาแพทย์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และวิชา Arts and sciences of clinical diagnosis การศึกษาศาสตร์และศิลป์ในการวินิจฉัยโรค ปรัชญาทางการแพทย์ และกลยุทธ์การวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : สจล. เปิด หลักสูตรแพทย์ อินเตอร์ ที่เรียนมากกว่าการเป็นหมอรักษาโรค
2. หลักสูตรเชฟนักวิทยาศาสตร์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดหลักสูตรใหม่วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การประกอบอาหารและการจัดการการบริการอาหาร (Culinary Science and Foodservice Management) หรือ เชฟนักวิทยาศาสตร์ (Scientific Chef) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ ที่บูรณาการเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ด้านศิลปะของการปรุงอาหารเข้าไว้ด้วยกัน
และยังได้ร่วมมือกับ สถาบันการจัดการธุรกิจและโรงแรม (Business and Hotel Management School – BHMS) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบัน BHMS เป็นเวลา 1 ปี พร้อมกับการฝึกงาน 1,000 ชั่วโมง และยังได้ค่าตอบแทนในการฝึกงานอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม : สจล. เปิดหลักสูตร เชฟนักวิทย์ เรียน 4 ปี ปริญญา 3 สถาบัน | ไทย-สวิตซ์-อังกฤษ
…..
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สาขาวิชาเลขานุการทางการแพทย์
สาขาวิชาเลขานุการทางการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งของ คณะวิทยาการจัดการ โดยจะเน้นการเรียนการสอนให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารจัดการและด้านเลขานุการให้เข้ากับความรู้ทางการแพทย์ และยังมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดี เพื่อนำไปใช้สื่อสารทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีอัตราค่าเล่าเรียนอยู่ที่ประมาณ 17, 350 บาท/เทอม หรือรวมตลอดหลักสูตรประมาณ 138, 800 บาท
ข้อมูลเพิ่มเติม : ม.สวนดุสิต เปิดสอนที่แรก เลขานุการทางการแพทย์ – จบแล้วทำงานด้านไหน?
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
สาขาวิชาการจัดการอีสปอร์ต
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอีสปอร์ต (E-Sport) เป็นสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับวิชาการบริหารจัดการทั่วไป อาทิ วิชาเศรษฐศาสตร์ การตลาด บัญชีและการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้น้อง ๆ ยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอีสปอร์ต ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบกราฟิก การฝึกนักกีฬาอีสปอร์ต และการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตขั้นสูง เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : มรภ.สวนสุนันทา เปิดสาขาใหม่หลักสูตร การจัดการ E-Sport
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
1. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล
เป็นหลักสูตรในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผู้เรียนจะได้ร่วมหาประสบการณ์จากปัญหาและความต้องการของธุรกิจในองค์กรชั้นนำด้านข้อมูล อาทิ กลุ่มบริษัทในสมาคมประกันวินาศภัยและกรมบังคับคดี ฯลฯ โดยจะเน้นให้ผู้เรียนจบออกมาแล้ว เข้ามาทำงานเป็น นักบิ๊กเดต้า หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล ที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ และนวัตกรรม ที่สามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
2. หลักสูตรนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล
เป็นหลักสูตรใหม่จากวิทยาลัยนวัตกรรม มธ. โดยนักศึกษาจะได้ศึกษาจริงในสถาประกอบการจริงกับบริษัทชั้นนำ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพ มีความเข้าใจในกระบวนการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของการพัฒนาทางเทคโนโลยี สามารถเป็นผู้รักษาความปลอดภัยระบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ
หลักสูตรใหม่จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากการประยุกต์เอาความรู้ในหลาย ๆ ศาสตร์มารวมกัน ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และวิศวกรรม รวมถึงการได้ไปฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการจริง กับองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อีกด้วย
4. หลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์
เป็นหลักสูตรใหม่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ อาทิ บริษัท สยามกลการ จำกัดและบริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จํากัด ฯลฯ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้สามารถปรับตัว ทันต่อตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
5. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร
หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร หรือ นักวิจัยอาหาร เป็นหลักสูตรใหม่จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้เรียนจะได้ฝึกปฏิบัติงานจากหน่วยงานจริง อาทิ กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานักวิจัยด้านนวัตกรรมทางอาหาร ให้สามารถผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
ข้อมูลเพิ่มเติม : 5 หลักสูตรใหม่ เรียนจบไปใคร ๆ ก็ชิงตัว – อาชีพแห่งอนาคต
บทความที่น่าสนใจ
- น่าเรียน ! 10 หลักสูตรใหม่นอกกระแส จบมาแล้วฮอตแน่นอน ทำงานไม่ซ้ำใคร
- 10 วิชาแปลกน่าเรียน ที่มีเปิดสอนจริงในมหาวิทยาลัยไทย ได้ความรู้ ประสบการณ์น่าสนใจ
- 5 หลักสูตรใหม่ รองรับตลาดแรงงานเทรนด์โลกอนาคต ไม่หวั่นหุ่นยนต์แย่งงาน : KMITL
- ม.รังสิต เปิดสอน วิชากัญชาศาสตร์ แห่งแรกของไทย – พร้อมมอบทุนเรียนฟรี 4 ปี
- ม.แม่โจ้ เปิดสอนวิชาเลือกเสรี กัญชงศาสตร์ – ความแตกต่าง กัญชง VS กัญชา