เรียกได้ว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำหคัญที่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศที่กำลังเริ่มพัฒนาระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้มีการปรับเปลี่ยนคะแนนที่ใช้ ระบบการสอบหรือการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และยังรวมถึงการแบ่งรอบในการรับสมัครอีกด้วย แต่ทั้งนี้ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนก็ยังคงต้องเจอปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่
4 ประเทศ ที่มี ระบบสอบเข้ามหาลัย ดีที่สุดระดับโลก
และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็จะพาทุกคนไปดูประเทศอื่น ๆ กันว่านอกจากพวกเขาจะมีระบบการเรียนการสอนที่ดีแล้ว ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเขายังมีการจัดการที่ดี อีกด้วย จะมีประเทศไหนบ้างที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกบ้าง ตามมาดูกันเลย…
ประเทศฟินแลนด์
มาเริ่มกันที่ ฟินแลนด์ ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก และไม่ใช่เพียงแค่ระบบการเรียนการสอนที่ดีเท่านั้น เพราะระบบการเรียนการสอนของที่นี่ยังมีความยืดหยุ่นและเอื้อให้กับเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจอีกด้วย ในส่วนของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยนั้น ฟินแลนด์มีระบบแอดมิชชันที่มีชื่อว่า The Finnish Matriculation Examination หรือ การสอบเข้าเป็นนักศึกษา
จุดเด่นของระบบการคัดเลือกนี้ เป็นทั้งการสอบจบ ม.6 และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในครั้งเดียว ซึ่งคนที่จะสามารถสอบได้นั้นจะต้องเรียนให้ครบทุกวิชาและทำคะแนนให้ผ่านเกณฑ์ของรายวิชานั้น ๆ ให้ได้เสียก่อน จากนั้นก็สามารถเอาเกรดเฉลี่ยไปยื่นเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้เลย
โดยจะไม่นำเกรดทุกวิชามาคิดเฉลี่ยรวมเป็น GPAX เพราะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศฟินแลนด์ จะใช้แค่คะแนนเกรดในวิชาของสาขาวิชาที่น้อง ๆ ต้องการเข้าศึกษาต่อเท่านั้น และในส่วนของ GPAX ที่จะนำมาใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะใช้คะแนนเฉพาะของ ม.6 เท่านั้น
หรือกล่าวได้ว่า คะแนนของชั้น ม.4-ม.5 แทบไม่ต้องนำมาใช้เลยก็ได้ (แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยด้วยนะจ๊ะ) ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็ก ๆ ที่ฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเคร่งเครียดกับเรื่องเกรดกันมากจนเกินไป แต่พวกเขาจะตั้งใจทำเกรดในเฉพาะวิชาที่พวกเขาต้องการนำมาใช้สอบเข้าเรียนต่อเป็นส่วนใหญ่
Matriculation Examination
โดยจะมีการจัดสอบ 2 ครั้งต่อปี คือ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (กุมภาพันธ์ – มีนาคม) และใบไม้ร่วง (กรกฎาคม – กันยายน) มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะใช้คะแนนสอบนี้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก แต่ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการจัดสอบเพิ่มเติมหรือแยกออกไปอีกรอบ และวิชาที่ใช้ในการสอบมีเพียง 4 วิชาเท่านั้น ได้แก่
1. Second Domestic Language ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีภาษาพูด 2 ภาษา คือ ภาษาฟินแลนด์และภาษาสวีเดน โดยวิชานี้เป็นวิชาบังคับที่เด็ก ๆ ทุกคนต้องสอบ
2. Foreign Language นอกจากภาษาแม่ที่น้อง ๆ จะต้องสอบแล้ว เด็กฟินด์แลนด์ยังจะต้องเลือกสอบวิชาภาษาต่างประเทศ โดยเลือกมา 1 วิชาตามความถนัดของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเลือกสอบเป็นวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาเลียน ฯลฯ และยังรวมถึงภาษาถิ่นพื้นเมือง อีกด้วย ในการสอบจะมีให้เลือกทำข้อสอบระดับ Advance สำหรับคนที่เชี่ยวชาญมาก ๆ กับระดับ Immediate สำหรับคนที่มีพื้นฐานปานกลาง
3. Maths หรือ วิชาคณิตศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งวิชาบังคับสอบ แต่ก็สามารถเลือกระดับในการสอบได้เหมือนกับการเลือกสอบภาษาต่างประเทศ คือ น้อง ๆ สามารถเลือกทำข้อสอบระดับง่ายหรือยากได้ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเราเลือกทำข้อสอบภาษาต่างประเทศระดับปานกลาง ก็ต้องเลือกสอบคณิตศาสตร์ในระดับยาก หรือถ้าเลือกสอบภาษาต่างประเทศระดับยาก ก็สามารถเลือกสอบคณิตศาสตร์ระดับง่ายได้
4. วิชาอื่น ๆ เป็นวิชาที่สามารถเลือกสอบวิชาไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำคะแนนไปยื่นสมัครเข้าคณะ/สาขาไหน โดยจะมีวิชาให้เลือก 13 วิชาด้วย เช่น สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จริยศาสตร์ ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้น ทั้งนี้สามารถเลือกสอบได้ตั้งแต่ 1 วิชาเป็นต้นไป
ในปัจจุบันฟินแลนด์มีการสอบแอดมิชชันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเรียกว่า Digital Matriculation Exam ซึ่งจะช่วยทำให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กฟินแลนด์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
สอบไม่ผ่าน สอบแก้ตัวได้
สำหรับน้อง ๆ ที่สอบได้คะแนนไม่ดี หรือไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถทำการสอบแก้ตัวได้ แต่ต้องสอบให้ครบทุกวิชาที่ตนเองต้องการ ให้ครบภายใน 3 ฤดูกาล กล่าวคือ สมมติว่าเราสอบครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 2018 แต่ผลการสอบออกมาไม่ผ่านเกณฑ์ ก็สามารถทำการสอบใหม่ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ครั้งที่จัดสอบ ภายในฤดูใบไม้ร่วง 2018 และฤดูใบไม้ผลิ 2018 นอกจากนี้น้อง ๆ สามารถรีเกรด หรือสอบซ้ำได้จนกว่าจะได้เกรดที่พอใจได้อีกด้วย
** สำหรับน้อง ๆ สายอาชีพหรือสายอาชีวศึกษาไม่ต้องสอบ Matriculation Examination เมื่อเรียนจบแล้วสามารถสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย (สอบกับมหาวิทยาลัยโดยตรง)
ประเทศอังกฤษ
สำหรับ ประเทศอังกฤษจะมีระบบการสัมครเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีส่วนกลางที่มีชื่อว่า Universities and Colleges Admissions Service หรือมักจะเรียกย่อ ๆ ว่า UCAS โดยขั้นตอนการสมัครจะคล้าย ๆ กับการสมัครแอดมิชชันในประเทศไทย ที่เราสามารถเลือกคณะ สาขาวิชา มหาวิทยาลัยที่อยากเรียนได้ 5 อันดับ และคนที่สมัครส่วนใหญ่จะต้องเรียนจบการหลักสูตร A-Level โดยสิ่งที่น้อง ๆ จะต้องเตรียม มีดังนี้
1. Transcript (ใบรับรองผลการเรียน )
2. ใบรับรองจากสถาบันการศึกษา
3. ผลคะแนน IELTS/TOEFL เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
4. Letter of Recommendation จดหมายแนะนำจากอาจารย์หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือได้
5. Statement of Purpose หรือ เรียงความที่จะทำให้กรรมการผู้คัดใบสมัครรู้จักเรามากขึ้น
6. Resume
ยื่นสมัครผ่านระบบ UCAS
หลังจากนั้น น้อง ๆ จะต้องทำการอัปโหลดเอกสารเหล่านี้ลงไปยังเว็บไซต์ www.ucas.com เมื่ออัปโหลดเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็ต้องรอว่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่ตอบรับการสมัครเข้าเรียนของเรา โดยการสมัครผ่านระบบ UCAS น้อง ๆ คนไหนที่สอบติดทั้ง 5 อันดับที่เลือกไป ก็สามารถเลือกได้เองว่าจะเข้าเรียนที่ไหน หรือบางคนอาจจะได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย แต่ทางมหาวิทยาลัยยังเห็นว่าน้องขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการยื่นข้อเสนอให้น้อง ๆ เรียนคอร์สภาษาอังกฤษ 1 ปีของมหาวิทยาลัยก่อน
และหลังจากนั้นก็สามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้เลย นอกจากนี้หากยังมีน้อง ๆ ที่สอบไม่ผ่านก็สามารถยื่นสมัครในรอบเก็บตกที่มีชื่อว่า UCAS Clearing ได้อีกด้วย
ประเทศสิงคโปร์
หากพูดถึงประเทศในแถบเอเชียที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยม เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องนึกถึง ประเทศสิงคโปร์กันอย่างแน่นอน เพราะว่าสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการเรียนการสอนเข้มข้นทุกระดับชั้นจริง ๆ และยังรวมถึงการสอบเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาก็ยังมีความแข่งขันที่สูงมาก และสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาของที่นี่เรียนเพียง 4 ปีเท่านั้น โดยวุฒิการศึกษาที่เด็ก ๆ จะได้รับสามารถเทียบเท่ากับการเรียนจบชั้น ม.6 แต่ก่อนที่เด็ก ๆ จะสามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ จะต้องแยกเรียนต่อออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้
1. 4 Year Express คนที่สอบผ่านใหญ่จะเป็นพวกเด็กหัวกะทิ หลังจากเรียนจบ 4 ปี จะต้องสอบ O-Level เพื่อเรียนต่อในระดับ Junior College อีก 2 ปี ซึ่งการเรียนในระดับนี้จะเป็นการเรียน A-Level ที่นิยมใช้กันประเทศอังกฤษ โดยหลังเรียนจบสามารถสอบ A-Level เพื่อนำผลคะแนนไปใช้ยื่นสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้เลย
2. 4 Year Normal ส่วนใหญ่จะเป็นน้อง ๆ ที่ตั้งใจจะเรียนต่อด้านโปลิเทคนิค หรืออาชีวศึกษา หลังจากเรียนจบ 4 ปี จะต้องสอบ N-Level เพื่อเรียนต่อ 1 Year Foundation ซึ่งเป็นการเรียนปรับพื้นฐาน 1 ปี ก่อนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิค แต่ถ้าใครที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับท็อป ๆ ของประเทศ ก็อาจจะต้องเรียนและสอบ A-Level อีกที
A-Level คืออะไร ?
เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนอาจจะงงว่า A-Level คืออะไร สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้ น้อง ๆ จะต้องเลือกเรียน 3-4 วิชาจากจำนวนรายวิชาของ A-Level ที่โรงเรียนเปิดสอน และจะมีการสอบออกมาเป็น A* A B C D E จากนั้นน้อง ๆ ก็สามารถนำเกรดที่ได้ไปยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ (ทั้งนี้ใครที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ ของประเทศก็จะต้องได้เกรด 4 ในทุกวิชา และหากใครคิดว่าเกรดตัวเองยังไม่ดี ก็สามารถสอบแก้ตัวได้เพื่อให้ได้เกรดที่ต้องการ)
และถึงแม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะไม่ได้มีระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนประเทศไทย เพราะจากที่เราได้กล่าวไป สิงคโปร์ได้มีการคัดกรองนักเรียนแล้วจากการสอบเข้าเรียนต่อตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษา จึงทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าตนเองชอบอะไร อยากเรียนต่อด้านไหน ซึ่งข้อดีของการเรียนแบบนี้ช่วยทำให้เด็ก ๆ รู้ตัวว่าชอบอะไร และเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองต้องการได้
ประเทศเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ อีกหนึ่งประเทศในแถบเอเชียที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยม มีการระบบการเรียนการสอนที่เข้มข้นและค่อนข้างมีความกดดันมากเลยทีเดียว ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเด็กเกาหลีส่วนใหญ่จะตั้งใจเรียนเป็นอย่างมากเลยทีเดียว หากพูดถึงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ก็บอกได้เลยว่า โหดมาก เพราะที่นี่จะมีระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลันที่มีชื่อว่า College Scholastic Ability Test (CSAT) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่า ซูนึง (수능)
โดยผลสอบซูนึงสามารถนำไปยื่นเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ทั้งมหาวิทยาลันรัฐบาลและเอกชน และใน 1 ปีก็จะมีการสอบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยจะมีการจัดสอบทุกวิชาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการจัดสอบก็จะตรงกับเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ปัจจุบันวิชาที่ใช้ในการสอบซูนึงหลัก ๆ แล้ว มีดังนี้
1. ภาษาประจำชาติ (วิชาบังคับ)
2. คณิตศาสตร์ (วิชาบังคับ)
3. ภาษาอังกฤษ (วิชาบังคับ)
4. ประวัติศาสตร์เกาหลี (วิชาบังคับ)
5. สังคมศึกษา / วิทยาศาสตร์ (เป็นวิชาเลือก สามารถเลือกสอบได้มากที่สุดหมวดละ 2 วิชา)
6. ภาษาต่างประเทศ (เลือกสอบ 1 วิชา)
โดยส่วนใหญ่แล้ววิชาที่น้อง ๆ จะเลือกสอบนั้น จะเป็นวิชาที่ดูมาแล้วว่าในแต่ละคณะ/สาขาวิชาของมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ต้องการเข้าต้องใช้คะแนนวิชาอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละที่มีเกณฑ์การใช้คะแนนที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งคณะเดียวกัน/สาขาเดียวกัน แต่คนละมหาวิทยาลัยก็ใช้คะแนนที่ต่างกัน ดังนั้นเด็ก ๆ ที่เกาหลีจำเป็นที่ต้องรู้ว่าตนเองต้องการเข้าเรียนต่อคณะ/สาขาอะไร และมหาวิทยาลัยไหน เพื่อที่จะได้เลือกสอบได้ถูกวิชา
นอกจากจะจัดสอบเพียงวัดเดียวแล้ว หลังจากที่สอบเสร็จน้อง ๆ สามารถรู้คะแนนของตนเองได้เลย เพราะว่ากระดาษคำตอบที่ถูกต้องจะถูกเปิดเผยออกมาทันทีหลังสอบเสร็จ และเมื่อคะแนนของน้อง ๆ ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็สามารถนำคะแนนไปยื่นที่มหาวิทยาลัยได้เลย แน่นอนกว่ามีทั้งคนสอบได้และไม่ได้ สำหรับน้อง ๆ ที่สอบไม่ผ่านก็ต้องทำการสอบใหม่ในปีถัดไป และการสอบซูนึงก็ไม่มีการจำกัดอายุผู้สอบอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยที่ในทุก ๆ ปีเราจะได้เห็นผู้เข้าสอบตั้งแต่วัยเด็กนักเรียนไปจนถึงเหล่าอาจุมม่าเข้ามาสอบด้วย
การสอบซูนึง : วาระแห่งชาติ
ประเทศเกาหลีได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสอบซูนึงเป็นอย่างมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ โดยหลาย ๆ ภาคส่วนจะให้ความร่วมมือกับการสอบในวันนี้ เช่น ห้างสรรพสินค้าและตลาดหลักทรัพย์จะเปิดช้ากว่าปกติประมาณ 1 ชั่วโมง และในช่วงการทดสอบการฟังภาษาอังกฤษ จะห้ามไม่ให้เครื่องบินบินผ่านศูนย์สอบโดยเด็กขาด เพราะเสียงเครื่องบินอาจจะรบกวนการสอบได้
รวมถึงระบบการขนส่งมวลชนในประเทศยังมีการบริการรับ-ส่งนักเรียนถึงสนามสอบ อีกด้วย (ซึ่งถือได้ว่าทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันอาจจะเป็นวันกำหนดชะตาชีวิตของน้อง ๆ หลายคนเลยทีเดียว)
จากข้อความที่ได้กล่าวมาข้างต้นนอกจากน้อง ๆ จะเห็นถึงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศต่าง ๆ แล้ว น้อง ๆ ยังจะได้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของแต่ละประเทศด้วยว่า เขาได้มีการร่วมมือกันเพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนสามารถเข้าสอบได้ และยังมีการวางแผนที่ดี มีความยุติธรรมกับผู้สมัครสุด ๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่ทั้ง 4 ประเทศจะได้รับการจัดอันดับว่ามีระบบการศึกษาดีเยี่ยมระดับโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.ylioppilastutkinto.fi, www.dek-d.com, www.reddit.com, www.ucas.com
บทความที่น่าสนใจ
- ส่องระบบแอดมิชชั่น ของประเทศที่การศึกษาดีที่สุดในโลก ฟินแลนด์
- วันสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กเกาหลี จัดขึ้นในเดือน 11 ของทุกปี | วันซูนึง การสอบชีวิต
- 10 เรื่องน่ารู้ วันสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของนักเรียนเกาหลีใต้ | การทดสอบ CSAT
- จะตอบว่าอะไรดี “ใส่เสื้อไม่ตรงสีวันเกิด” ข้อสอบ PAT5
- บุกรุก-ทำลายทรัพย์สินทางราชการ และทำร้ายผู้อื่น โดนโทษอะไรบ้าง?