TCAS คณะน่าเรียน คณะแพทยศาสตร์ ทหาร แนะแนวการศึกษา แพทย์ทหาร

อยากเรียน แพทย์ทหาร ต้องทำอย่างไร – เรียนต่างจากแพทย์ (ทั่วไป) อย่างไรบ้าง?

Home / ข่าวการศึกษา / อยากเรียน แพทย์ทหาร ต้องทำอย่างไร – เรียนต่างจากแพทย์ (ทั่วไป) อย่างไรบ้าง?

เชื่อว่าน้อง ๆ ที่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็น “คุณหมอ” ต้องรู้กันดีอยู่แล้ว่าการเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ต้องใช้เวลาในการเรียนถึง 6 ปี แต่สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็น “แพทย์ทหาร” แต่ไม่รู้ว่าใช้คะแนนอะไรในการสอบเข้า และเมื่อเข้าไปเรียนแล้วจะต้องเรียนอะไรบ้าง ใช้เวลาในการเรียนกี่ปี และวิชาที่เรียนมีความแตกต่างจากการเรียนแพทย์ธรรมดาอย่างไร ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ มีคำตอบเหล่านี้มาบอกกันด้วยค่ะ

แพทย์ทหาร เปิดรับสมัครรอบไหนบ้าง?

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเรียนด้านแพทย์ทหารสามารถสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันด้านการแพทย์ลำดับที่ 7 ของไทย จากกระแสพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และดำรงสถานะเป็นสถาบันสมทบของ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ภาพจาก FB : Born to Be Medical Cadet Camp ค่ายตะกายฝัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (ภาพโดย : บินไปบินมา) 

ช่องทางการรับบุคคลเข้าศึกษา

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า จะเปิดรับสมัครผ่านระบบ TCAS รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน และรอบที่ 4 แอดมิชชัน รายละเอียดการรับสมัคร TCAS63 : คลิกที่นี่ โดยได้มีการแยกการรับสมัครระหว่างเพศชายและเพศหญิง มีรายละเอียดดังนี้

รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน #TCAS63

  • ประเภททุน กองทัพบก จำนวน 20 นาย เฉพาะเพศชาย มีสภาพเป็น นักเรียนแพทย์ทหาร
  • ประเภททุน โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 35 นาย เพศชาย 37 นาย และเพศหญิง 38 นาย มีสภาพเป็น นักเรียนแพทย์

** รวมจำนวนรับรอบนี้ทั้งหมด 95 นาย

รอบที่ 4 แอดมิชชัน #TCAS63

  • ประเภททุน โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 5 นาย เพศชาย 3 นาย และเพศหญิง 2 นาย มีสภาพเป็น นักเรียนแพทย์

** ทั้งนี้ จำนวการรับสมัคร และรอบที่เปิดรับสมัครผ่านระบบ TCAS ในแต่ละปีการศึกษาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ดังนั้นน้อง ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : www.pcm.ac.th

เกณฑ์การรับสมัคร

  • ต้องมีคุณสมบัติ ตามเกณฑ์การรับสมัคร ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท)
  • มีอายุไม่เกิน 20 ปี (เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป)
  • มีผลคะแนนสอบ วิชาความถนัดแพทย์ ซึ่งข้อสอบออกโดย กสพท
  • ต้องมีผลคะแนนสอบ O-NET ซึ่งข้อสอบออกโดย สทศ. หรือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • มีผลคะแนนสอบ 9 วิชาสามัญ ซึ่งข้อสอบออกโดย สทศ. หรือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามเกณฑ์การเป็นนักเรียนแพทย์ทหาร หรือนักศึกษาแพทย์ (นพท.) ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
  • เพศชาย ต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม
  • เพศหญิง ต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม

ภาควิชาที่เปิดสอน

ในปัจจุบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้มีการเปิดสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แบ่งออกเป็น 21 ภาควิชา มีรายละเอียดดังนี้

1. ชั้นปรีคลินิก แบ่งออกเป็น ภาควิชากายวิภาคศาสตร์, ภาควิชาชีวเคมี, ภาควิชาสรีรวิทยา, ภาควิชาเภสัชวิทยา, ภาควิชาจุลชีววิทยา, ภาควิชาพยาธิวิทยา, ภาควิชาปรสิตวิทยา และภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน

2. ชั้นคลินิก แบ่งออกเป็น ภาควิชาอายุรศาสตร์, ภาควิชาศัลยศาสตร์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์, ภาควิชาจิตเวชและประสาทวิทยา, ภาควิชาวิสัญญีวิทยา, ภาควิชารังสีวิทยา, ภาควิชาจักษุวิทยา, ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา, ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู และภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ภาพจาก FB : Born to Be Medical Cadet Camp ค่ายตะกายฝัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

นพท. ใน 6 ปี ต้องเรียนอะไรบ้าง?

เมื่อน้อง ๆ ได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า แล้วนั้น การเรียนการสอนที่น้อง ๆ จะเจอก็คือ การเรียนวิชาการด้านแพทย์ เหมือนกับการเรียนแพทย์ทั่วไปในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่การเรียนแพทย์ทหารไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะน้อง ๆ ยังจะได้เรียนเกี่ยวกับการฝึกวิชาทหารและเวชศาสตร์ทหาร อีกด้วย

ชั้นปีที่ 1 ชั้นเตรียมแพทย์

โดยนิสิตเตรียมแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จะได้เข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไป อาทิ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี และคณิตศาสตร์ ฯลฯ

ชั้นปีที่ 2 ชั้นปรีคลินิก

จะมีการจัดการเรียนการสอนที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยในชั้นปีที่ 2 นอกจากน้อง ๆ จะต้องเรียนวิชาด้านการแพทย์แล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนความเป็นทหารมากยิ่งขึ้น (ปรับสภาพจากพลเรือนเป็นทหาร) ด้วยการฝึกวินัยขั้นพื้นฐานทางการทหาร

ชั้นปีที่ 3 ชั้นปรีคลินิก

ยังคงทำการเรียนการสอนที่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โดยในปีนี้น้อง ๆ จะเริ่มเป็นทหารเต็มตัวแล้ว ออกไปฝึกทหารเสนารักษ์ การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บในสนามรบ ฝึกการซุ่มโจมตีและเล็ดลอดหลบหนี รวมถึงวิธีการดูแลผู้ป่วย และการส่งกลับผู้บาดเจ็บในสนามรบ ทั้งการใช้เปลสนาม รถพยาบาล และการส่งกลับทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ สิ่งที่น้อง ๆ จะต้องฝึกและเรียนรู้ เช่น การเรียนกระโดดร่ม หรือการขึ้นเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่มีสองใบพัด เป็นต้น

ชั้นปีที่ 4 ชั้นคลินิก

สำหรับสถานที่การเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 น้อง ๆ จะได้ย้ายมาเรียนที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยในระดับคลินิกจะเป็นการนำความรู้ที่ได้เรียนมาทั้งหมดมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งน้อง ๆ จะได้ขึ้นวอร์ด และได้ฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง ๆ อาทิ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ สูติศาสตร์  และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นต้น

ชั้นปีที่ 5 ชั้นคลินิก

น้อง ๆ ยังคงฝึกปฏิบัติงานจริงอยู่ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยจะได้เริ่มทำงานจริงกับผู้ป่วย ทั้งการวินิจฉัยโรค เข้าห้องผ่าตัด อยู่เวรทั้งคืน ซึ่งในปีนี้น้อง ๆ ไม่ต้องฝึกหนักเหมือนในช่วงปีแรก ๆ ที่ผ่านมาแล้ว เพราะจะต้องเตรียมตัวสอบก่อนที่จะจบเป็นแพทย์

ชั้นปีที่ 6 ชั้นคลินิก

มาถึงในชั้นปีที่ 6 ก็ยังคงฝึกปฏิบัติงานจริงอยู่ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยจะมีการหมุนเวียนการฝึกปฏิบัติงานในภาควิชาคลินิกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทหารในค่าย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเรียนจบเป็นแพทย์เต็มตัวนั่นเอง

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ภาพจาก FB : Born to Be Medical Cadet Camp ค่ายตะกายฝัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

สิ่งที่จะได้รับ ขณะกำลังศึกษาและเรียนจบ

  • นักเรียนแพทย์ทหาร (นพท.) มีสภาพเป็นนักเรียนทหารของกองทัพบก มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่านักเรียนนายร้อย (นนร.) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  • นักเรียนแพทย์ทหารชาย จะได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ส่วนนักเรียนแพทย์ทหารหญิง จะได้รับการบรรจุรับราชการตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 หากได้รับบรรจุเข้าสังกัดกองทัพ
  • นักเรียนแพทย์ทหาร จะได้รับสถานที่พัก เครื่องนอน เครื่องแต่งกาย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง อุปกรณ์การเรียน การรักษาพยาบาล และสิทธิอื่น ๆ ตามที่ทางราชการกำหนด
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนแพทย์ทหารที่มีผลการเรียนดี หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านการเงิน
  • ผู้ที่มีผลการเรียนดีตลอดหลักสูตร มีทุนกองทัพบกสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ
  • นักเรียนแพทย์ทหารเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และค่าหน่วยกิตใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 จนจบการศึกษา (แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าที่ได้กำหนดเอาไว้ในแต่ละปี)
  • เมื่อจบการศึกษาจะได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในกรณีสำเร็จการศึกษาและบรรจุเข้ารับราชการทหาร จะได้รับพระราชทานกระบี่พร้อมกับ นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (เฉพาะเพศชาย)
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนกองทัพบกจะได้รับพระราชทานยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร (ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี) และบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือกองบัญชาการทหารสูงสุด
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนสาธารณสุข หากไม่ได้รับบรรจุเป็นแพทย์ทหารเข้าสังกัดกองทัพ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับแพทย์ที่จบจากสถาบันพลเรือนอื่น ๆ

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ : www.pcm.ac.th หรือ น้อง ๆ คนไหนอยากลองเข้าค่ายก่อนสมัครเรียนต่อ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ FB : Born to Be Medical Cadet Camp ค่ายตะกายฝัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

อ้างอิงข้อมูลจาก : www.tcaster.net, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.pcm.ac.th

บทความที่น่าสนใจ