GAT GAT/PAT PAT รับตรง สอบ แอดมิชชั่น

ศธ. จัดระบบสอบรับตรงใหม่ ย้าย GAT/PAT ไปสอบหลังจบ ม.6 ในปีการศึกษา 2561

Home / ข่าวการศึกษา / ศธ. จัดระบบสอบรับตรงใหม่ ย้าย GAT/PAT ไปสอบหลังจบ ม.6 ในปีการศึกษา 2561

น้องๆ นักเรียน ม.5 เตรียมตัวเฮ!! กันได้เลย เพราะล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้ทำการประชุมปรึกษาหารือกับ สกอ. และ ทปอ. เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ในปีการศึกษา 2561 จะมีการปรับระบบรับตรงใหม่ โดยจะมีการสอบเพียงครั้งเดียว สามารถนำคะแนนไปยื่นได้ทุกมหาวิทยาลัยเลย รวมถึงยังปรับการสอบ GAT/PAT ใหม่อีกด้วย โดยจะย้ายไปสอบหลังที่น้องๆ เรียนจบชั้น ม.6 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสความเท่าเทียมในการเข้ามหาวิทยาลัยของน้องๆ

เตรียมลุ้นกันได้เลย ม.5 ปีการศึกษา 2561 ศธ. จ่อเลิกแอดมิชชั่น

โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เปิดเผยหลังการประชุมหารือกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานในการประชุม มีการอภิปรายถึงระบบรับตรง การสอบ GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญในปัจุบัน ที่ทำให้ต้องวิ่งรอกสอบ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเด็กที่มีฐานะดีจะมีโอกาสสูงกว่าเด็กที่มีฐานะด้อยกว่า

ซึ่งในที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะต้องมีการปรับระบบการรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2561 เพราะว่าในปีการศึกษา 2560 มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทำการประกาศปฎิทินการจัดสอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาในการสอบ หลังที่เราเรียนจบชั้น ม.6 แล้ว เพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา จะอยู่ประมาณกลางเดือนมีนาคม และหลังจากนั้นจะเปิดมหกรรมการสอบทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการสอบวิชาสามัญ 9 วิชาซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาในการจัดสอบวิชาต่างๆ ประมาณ 6 สัปดาห์ หรือประมาณ 2 เดือน โดยที่จะไม่ยอมให้มีการเปิดสอบรับตรงในช่วงเวลานี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาการวิ่งรอกสอบนั่นเอง

และ นพ.กำจร ได้กล่าวต่อว่า หลังจากที่เราทราบคะแนนของตนเองแล้ว จะเปิดระบบให้เราได้เลือกคณะ/สาขาวิชาที่ต้องเข้าเรียน สามารถเลือกได้ 4 อันดับ หลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยจะทำการคัดเลือกตามลำดับคะแนน และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลาง เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 รอบด้วยกัน โดยรอบแรกเมื่อเรายื่นคะแนนไปยังมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะส่งชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ จะทำการแจ้งกลับไปว่าได้รับการคัดเลือกกี่แห่ง และจะเลือกเรียนตามลำดับที่สอบได้หรือไม่ ซึ่งหากเรายังไม่พอใจในคณะ/สาขาที่สอบได้ ก็สามารถนำคะแนนไปเข้าในระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ได้

ทั้งนี้ หากเราเลือกเข้าเรียนในคณะที่สอบได้ในรอบแรกแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ทันที และหากเดินหน้าใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกัน จะไม่อนุญาตให้ทางมหาวิทยาลัยไปเปิดรับตรงเองเด็ดขาด หากจะให้เปิดรับก็ต้องมีเหตุผลที่ดีมาชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบเสียก่อน

สุดท้าย นพ.กำจร ได้กล่าวปิดท้ายว่า การรับเด็กในระบบนี้จะเรียกว่า “การรับตรงกลางร่วมกัน” ซึ่งเป็นการสอบเพียงรอบเดียว แต่สามารถนำคะแนนมาเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ได้ทั้ง 2 รอบ สามารถทำให้รับนักเรียนได้ประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เราสามารถไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่ว่างได้อีกครั้ง ดังนั้น อนาคตก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่นกลางอีกต่อไป ซึ่งอาจจะดูเหมือนการกลับไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์ แต่ว่าระบบนี้เราสามารถรู้คะแนนล่วงหน้าได้ ทำให้เรารู้ถึงคะแนนของตนเอง ว่าควรที่จะเลือกคณะ/สาขาวิชาใดได้บ้าง

ปล. จะไม่มีการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง (Admissions)

——————————————–

ข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th/news/262637
ภาพประกอบ เป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ campus-star.com