เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาดำเนินการข้อมูลเพื่อตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอกชนที่ถูกร้องเรียนทั้ง 10 แห่ง พบว่ามี 98 หลักสูตร ใน 9 มหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานหลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเป็นหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร และหลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร ส่วนอีก 1 แห่งไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเสนอให้งดรับนักศึกษาใน 98 หลักสูตร ว่า ..
ตรวจสอบมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ถูกร้องเรียน
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามแนวทางปกติ โดยให้ กกอ.เสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใช้อำนาจตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด หรือไม่ใช้คำว่ามหาวิทยาลัย สถาบัน หรือวิทยาลัย เป็นอักษรไทยนำหน้าชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือใช้ชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นอักษรต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการเตือนเป็นหนังสือให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนด
ถ้าหากสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้นไม่ดำเนินการตาม ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของ กกอ.มีอำนาจสั่งการตามควรแก่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
- สั่งให้งดรับนักศึกษาในสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งหรือทุกสาขาวิชา
- เพิกถอนการรับรองวิทยฐานะ และเพิกถอนใบอนุญาต
โดยจากนี้ กกอ.จะต้องไปหารือร่วมกันว่าจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย
เพราะคิดว่าไม่ยุติธรรม
รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือ กรณีการเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งที่ถูกร้องเรียน โดยที่ประชุมมีมติว่าจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าไม่ยุติธรรมกับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เท่ากับเราไปตัดสินว่าเขาทำผิด โดยที่ยังไม่ได้ให้โอกาสเขาแก้ไข และหากตรวจสอบแล้วว่า เขาไม่ได้ผิดจริงหรือสุดท้ายเขาสามารถแก้ปัญหาได้ ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้
“เรื่องนี้มีการใช้มาตรา 44 เข้าไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งนายกฯได้มีการท้วงติงเรื่องการใช้มาตรา 44 ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ แต่เป็นทุกเรื่อง เพราะนายกฯไม่อยากให้ใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อไม่เช่นนั้นจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายปกติจะต้องมี ไม่ใช่อะไรๆ ก็มาตรา 44 ผมถามจริงๆ ว่าเรื่องการจัดการหลักสูตรไม่มีกลไกรัฐที่จะจัดการ จนต้องใช้มาตรา 44 เลยหรือ ถ้าเรื่องนี้ใช้กฎหมายปกติจัดการไม่ได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องตลก” นพ.ธีระเกียรติกล่าว
นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า กกอ.จะมีการนัดหารือกันโดยเร็วที่สุด เชื่อแม้เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งก็จะไม่เกิดผลกระทบกับนักศึกษา เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน ส่วนมหาวิทยาลัย 1 แห่งที่ไม่ให้ความร่วมมือส่งข้อมูลนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยดังกล่าว เพื่อขอให้ส่งข้อมูลชี้แจงมายัง สกอ.ภายใน 30 วัน
เว็บไซต์ กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th
> เผยแล้ว!! รายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา ไร้มาตรฐาน 12 เมษายน 2560