มหาวิทยาลัยเอกชน หลักสูตรที่มีปัญหา ไร้มาตรฐาน

เผย 10 รายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา ไร้มาตรฐาน

Home / ข่าวการศึกษา / เผย 10 รายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา ไร้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่มีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ.เป็นประธาน ได้พิจารณามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีผู้ร้องเรียนว่าจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา โดยมีมติให้เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับทราบ เพราะถ้าเลือกเรียนแล้วอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

(อ่าน กระทรวงศึกษาฯ ให้โอกาสแก้ตัว! 10 มหา’ลัยหลักสูตรไร้มาตรฐาน)

10 รายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา ไร้มาตรฐาน

โดยมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหา 10 แห่ง ใน 98 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร และหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  2. มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
  3. มหาวิทยาลัยปทุมธานี
  4. มหาวิทยาลัยพิษณุโลก
  5. มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี
  6. วิทยาลัยทองสุข
  7. วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
  8. สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
  9. สถาบันรัชต์ภาคย์
  10. มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี

“ข้อมูลดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตรวจสอบตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามที่กำหนด และรับนักศึกษาเกินจำนวนที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ ในบางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ปิดจริง ดังนั้น กกอ.มีมติให้ สกอ.ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง เช่น เปิดเพราะมีนักศึกษาค้างท่อหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานให้ สกอ.แจ้งความดำเนินคดี” นายสุภัทร กล่าว

นายสุภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยราชธานี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยส่งข้อมูลใดๆ ให้ สกอ. ดังนั้น กกอ.จึงมีมติให้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยให้ส่งข้อมูลมาให้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยประสานว่า จะจัดส่งข้อมูลแก่ สกอ.โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สกอ.จะรายงานมติดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบ และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งต่อไป

สำหรับ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง พบปัญหาใน 8 มหาวิทยาลัย ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  6 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2553) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2550) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) ,หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554)

2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)

3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์และการแสดง (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557)

4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)

5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557)

6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)

7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2555) และ

8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร

ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)

สำหรับหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร

พบปัญหาใน 5 มหาวิทยาลัย ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร
  2. มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร
  3. วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร
  4. สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร
  5. สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร

ที่มา มติชน ออนไลน์