ปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมาก ส่งผลต่อชีวิตประจำวันคนทุกเพศ ทุกวัย ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งในด้านที่ดี และไม่ดี ตัวอย่างแง่ดีของการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตก็ทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น มีระบบการเรียน มีทางเลือกเพิ่มขึ้น แทนที่จะไปเรียนที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ก็เรียนอยู่บ้านผ่านการเรียนออนไลน์ก็ได้
จำนวนนักศึกษาสมัครเรียน มหาวิทยาลัยเอกชนลดฮวบ !!
และจากประโยชน์ของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กสามารถเรียนได้ง่ายขึ้น แต่มหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ก็จะต้องเจอกับปัญหาจำนวนเด็กลดลง อันเป็นปัญหาที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเครือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ลดลงไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่มีผลกระทบ แต่มหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ก็เริ่มหันมาตื่นตัวเรื่องปริมาณเด็กสอบเข้า มรภ. ลดลงแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องมีการปรับตัว ปรับหลักสูตรกันไป
และสิ่งที่วิกฤติหนักสุดก็หนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะมุมมองที่คนทั่วไปมีต่อมหาวิทยาลัยเอกชนในหลายๆ ครั้งก็เป็นสถาบันที่เป็นตัวเลือกสำรอง ถ้าสอบมหาวิทยาลัยรัฐบาลไม่ติด ถึงจะเลือกเข้ามหาวิทยาลัยเอกชน อีกทั้งปัญหาเรื่องค่าเทอมที่ค่อนข้างสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐในบางคณะ เพราะในมหาวิทยาลัยของรัฐ บางคณะค่าเทอมก็แพงมาก ไม่ค่อยต่างกับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนเสียเท่าไหร่
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้คาดการณ์ว่าจำนวนการนักศึกษาที่รับเข้าไปของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีโอกาสลดลง 10-15 % เพราะอัตราการเกิดลดลง และจำนวนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเปิดรับนั้นมีมากขึ้น เด็กก็เลยมีทางเลือกมากขึ้น ทำให้กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในต่างจังหวัดบางแห่งคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนเด็กลดลงมากถึง 30 % และเมื่อจำนวนเด็กลดลง ก็จะทำให้รายได้ของมหาวิทยาลัยลดลง ทางมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องลดพนักงาน เจ้าหน้าที่ และอาจจะต้องปิดการเรียนการสอนในบางสาขาที่คนเรียนน้อย
แนวทางแก้ไขปัญหา
นพ. อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ยังย้ำเตือนว่า มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ไม่จำเป็นต้องมีคณะต่างๆ มากมาย แต่ต้องมีจุดแข็งดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีแค่ 2 – 3 คณะก็ได้ และการจัดการศึกษาไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายเพียงแค่เด็กนักเรียนเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งอย่างคนวัยทำงาน ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของเอกชนอีกด้วย
ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้ง โลกที่มีเทคโนโลยยีใหม่ๆ เข้ามา การรับเด็กเพิ่มมากขึ้นของมหาวิทยาลัยรัฐบาล จำนวนเด็กที่เกิดก็น้อยลง แถมในปัจจุบันนี้มีทุนเรียนต่อต่างประเทศจำนวนมาก ทุนบางทุนก็ได้เงินสนับสนุนเยอะมาก ทำให้เด็กได้ไปเรียนต่างประเทศในราคาที่ถูกลงกว่าเมื่อก่อนเยอะก็มี แล้วก็ยังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง
ดังนั้นมหาวิทยาลัยทุกแห่งคงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น และมหาวิทยาลัยเอกชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็คงจะต้องปรับตัวมากหน่อย แต่เชื่อว่าถ้ามหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีแนวทางปรับตัวที่ชัดเจน ก็คงอยู่รอดได้อย่างแน่นอน
ที่มา : www.matichon.co.th