สวัสดีครับ… พี่ต้นกลับมาให้ความรู้กันอีกแล้ว ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึง 3 ประเด็นหลักด้วยกันว่า ทำไมเราจึงควรหาโอกาสไปเรียนและพัฒนาภาษาในต่างประเทศ, ปัจจัยที่ใช้ในการเลือกเมืองและเลือกประเทศ และสุดท้ายก็คือ เรื่องค่านิยมของคนไทยส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับสำเนียงมากกว่าการนำไปใช้ให้เป็น
ข้อมูลการเรียนภาษาในต่างประเทศ
1. ระยะเวลาที่ควรไปเรียน
ส่วนในวันนี้พี่จะมาว่าด้วยเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมในการไปเรียน รูปแบบที่พักต่างๆ และที่สำคัญคือเรื่องค่าใช้จ่ายครับ อย่าลืมนะน้องๆ ใครสนใจอยากปรึกษาเรื่องเรียนต่างประเทศ ติดต่อ Tony Education นะครับ
ต้องเรียนนานแค่ไหนถึงจะได้ผล?
มีคนถามเยอะมากว่าต้องไปเรียนนานเท่าไหร่ ถึงจะได้ผล? อันนี้ตอบลำบาก เพราะว่าขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน และการตั้งเป้าในผลลัพธ์ที่ต้องการบวกกับความตั้งใจ (จริงๆ) ครับ
พื้นฐานของแต่ละคน..
ขอสมมุตินะครับ .. น้องคนหนึ่งเรียนจบมัธยมระดับกลางๆ ไม่ได้เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษด้วย เรียนปานกลาง วิชาภาษาอังกฤษได้เกรดกลางๆ เรียนต่อมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลักสูตรภาษาไทยด้วย และว่างสองเดือนช่วงปิดเทอมอยากไปเรียนภาษาในต่างประเทศ พี่ว่าพื้นฐานของน้องคนนี้ ไม่ด้อยกว่านักเรียนในห้องที่เค้าจะไปเจอที่นั่นเลย เพราะบ้านเราเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่อนุบาล ในขณะที่มีหลายประเทศที่เค้าจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันตอนมัธยม (พักเรื่องนี้ก่อน ไว้จะมาต่อครับ)
ผลลัพธ์..
ต่อมาเรื่องของผลลัพธ์ สำหรับน้องคนที่เรากำลังพูดถึงนะครับ พี่คิดว่าถ้าเค้าตั้งเป้าประมาณว่า “สนทนากับชาวต่างชาติได้ตลอด 2 เดือนที่อยู่” พี่ว่าประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าน้องไม่ได้เป็นอัจฉริยะ ไอคิวแบบ 140 อัพ ไม่มีนะครับเรียนภาษาให้เก่งภายใน 2 เดือน แม้เราจะเห็นที่เรียนพิเศษบ้านเราโปรโมทประหนึ่งนักเรียนไทยทุกคนเป็นจีเนียส “เก่งภาษาอังกฤษภายใน 1 เดือน”, “การันตีสอบไอเอลผ่านภายใน 2 อาทิตย์” เราต้องไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดนะครับ
ความตั้งใจ..
เรื่องสุดท้ายคือความตั้งใจครับ เพราะนอกจากสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่บังคับให้เราต้องได้ใช้ภาษาแล้ว ในสถาบันที่ได้มาตรฐานเค้าจะมีการสอบแยกระดับชั้นในวันแรกที่เราไปถึงอีกเพื่อแยกนักเรียนในแต่ละห้อง ตามความสามารถทางภาษา เช่น ถ้าน้องสอบออกมาแล้วอยู่ในระดับ Elementary หรือระดับเริ่มต้นนั้น ทั้งห้องเรียนก็จะมีแต่นักเรียนระดับเดียวกันอีกครับ เค้าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในการเรียนมาก ถ้าผู้เรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โอกาสในการเรียนรู้ก็ยิ่งมีประสิทธิผล
ถ้า 3 ประเด็นนี้ชัดเจนแล้ว สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมน่ะเหรอครับ…. คำตอบง่ายๆ คือยิ่งนานยิ่งดี เพราะความถนัดทางภาษา คือเรื่องของการใช้งานจริงและการฝึกฝนบ่อยๆ เหมือนการว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน เมื่อเป็นแล้วจะไม่ลืม แต่ถ้าไม่ใช้นานๆ จะไม่คล่องแคล้ว และ fix-cost บางอย่าง เช่น ตั๋วเครื่องบิน คือเราจ่ายครั้งเดียวไปตามระยะเวลาที่อยู่ เพราะฉะนั้น อยู่ระยะสั้นหรือยาว เราก็จ่ายเท่าเดิม
ที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ
เรามาพูดถึงค่าใช้จ่ายกันบ้าง… โดยปัจจัยหลักๆ ที่มีผลกับค่าใช้จ่าย คือ “ที่พัก” ประเภทของที่พักที่ได้รับความนิยมมากสุดของโครงการเรียนภาษาในต่างประเทศช่วงปิดซัมเมอร์ ก็จะเป็นโฮสแฟมิลี่ (เรื่องนี้ต้องอีกหนึ่งบทความเต็มครับ รับประกันความมันส์ เป็นประเด็นที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เลย สำคัญกว่าสถาบันที่จะไปเรียนอีก) พี่เคยถูกส่งไปทำงานที่อังกฤษ แผนก accommodation (ฝ่ายจัดหาที่พักให้นักเรียน) มาช่วงหนึ่ง เข้าใจและได้เห็นอะไรเยอะมากครับ เอาไว้จะมาแชร์นะครับ กลับมาเรื่องประเภทที่พักก็จะแบ่งได้ตามนี้ครับ
2. ประเภทของที่พัก
ส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วยที่พักดังนี้คือ โฮสแฟมิลี่ โฮมแชร์ หอพักของโรงเรียน หอพักนักเรียน และหาหอพักเอง
1. โฮสแฟมิลี่
โฮสแฟมิลี่ของโครงการฯ นี้ เป็นโฮสแฟมิลี่แบบธุรกิจนะครับ คือได้เงินจากการรับเราไปดูแล ซึ่งจะแตกต่างกับโฮสแฟมิลี่ของโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของนักเรียนมัธยมที่จะเป็นแบบอาสาสมัคร พี่ไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่านะครับ แต่ผู้ปกครองและนักเรียนควรเข้าใจก่อนไป ค่าใช้จ่ายถือว่าประหยัดมากๆ จะมีห้องเดี่ยว ห้องคู่ และรับอาหารเช้าและเย็นด้วยหรือไม่ ราคาก็ต่างกันไป อาจมีแบบใกล้ไกลโรงเรียนคนละราคา หรือ En-Suite แบบห้องน้ำในตัวก็อีกราคา
2. โฮมแชร์ (สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไปนะครับ อาจมีบางที่รับ 16 ปี)
อันนี้แบบเอาบ้านทั้งหลังมาแบ่งป็นห้องๆ แล้วให้นักเรียนมาเช่า ให้เลือกอยู่ห้องเดี่ยวหรือห้องคู่ได้ ราคาแตกต่างกันและส่วนใหญ่จะเป็น Self-Catering คือไม่รวมอาหาร มีไมโครเวฟให้ ค่าใช้จ่ายโดยทั่วๆ ไปก็จะแพงกว่าโฮสแฟมิลี่ไม่มาก
3. หอพักของโรงเรียน (สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น)
ส่วนใหญ่สถาบันที่ใหญ่มาก จะมีที่พักเป็นของตัวเอง แบบห้องสี่คน สามคน ห้องคู่ ห้องเดี่ยว ราคาแตกต่างกันไป ไม่ค่อยมีแยกตึกชาย-หญิง ส่วนใหญ่จะแค่แยกชั้น แต่ทั้งตึกจะมีเฉพาะนักเรียนของสถาบันเค้าเอง มีทั้งแบบรวมอาหาร และ Self-Catering แพงกว่าสองแบบแรกแน่นอน แต่ข้อดีคือการเดินทางไป-กลับที่พักโดยส่วนใหญ่จะใกล้กว่าโฮสแฟมิลี่ครับ เพราะหอพักจะอยู่ในเมืองหรือบางแห่งอยู่ในโรงเรียน
ต้องอธิบายว่าประเทศที่เจริญแล้วแล้ว เค้าจะแบ่งพื้นที่ไว้ชัดเจนครับ ในตัวเมืองไม่ค่อยมีบ้านพักอาศัย ส่วนใหญ่จะเป็นที่ทำมาหากิน ร้านค้าร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศสำนักงาน สถาบันการศึกษาทั้งหลาย ส่วนบ้านพักจะไปอยู่รอบนอกครับ ความใกล้ไกลจะขึ้นอยู่กับเมืองที่ไปครับ
4. หอพักนักเรียน (สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น)
ก็คือสถาบันไม่ได้เป็นเจ้าของตึกแต่มีดีลกันไว้ บางแห่งก็ไปเช่าหมดชั้นไว้ แล้วมาปล่อยให้นักเรียนเช่ากันต่อ ราคาก็แล้วแต่เราเลือก ห้องรวม ห้องเดี่ยว ห้องน้ำในตัวด้วยมั้ย รวมอาหารมั้ย ในส่วนนี้บางโรงเรียนก็จะมีให้เลือกเป็นอพาร์ทเมนท์เช่า หรือไปจนช่วยจองโรงแรมเลยก็มี
5. แบบไม่เอาที่พักกับทางโรงเรียนก็คือ ไปหาหอพักนอกเอง (สำหรับอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น)
อันนี้ก็ได้รับความนิยมมาก อัดกันเข้าไปห้องนึงก็เคยได้ยินว่าเป็นสิบคนก็มี ประหยัดกันจัด อาจจะเป็นพวกคนไทยด้วยกันที่ไปทำงานหรือไปเรียนกันยาวๆ หรือไม่ก็ต้องรู้จักกันมานานถึงชวนกันมาแชร์ค่าห้อง อันนี้ไม่แนะนำสำหรับไปเรียนสั้นๆนะครับ เพราะนานๆ ไปที ไปแบบมีความสุขและประหยัดให้ถูกเรื่องดีกว่า
3. ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
“ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ” เป็นหนึ่งปัจจัยหลักในเรื่องของค่าใช้จ่ายรวม ยกตัวอย่างไประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่สายการบินที่บินตรงก็เช่น Thai Airways กับ British Airway ราคาก็สามหมื่นต้นๆ ถึงเกือบห้าหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ไปและช่วงที่เราจองตั๋ว ส่วนสายการบินแบบแวะพัก 1 จุด ที่ได้รับความนิยมมากๆ ก็พวกสายการบินกลุ่มประเทศอาหรับ อย่างเช่น Emirates Airline, Qatar Airways หรือ Etihad Airways พวกนี้ดีนะครับ ราคาก็ตั้งแต่ประมาณสองหมื่นปลายๆ ถึงไม่น่าเกินสามหมื่นปลายๆ ครับ แล้วก็จะมีแบบประหยัดจัดเลย อารมณ์บินไปอังกฤษรวมเกือบ 20 ชั่วโมง ในขณะที่ทั่วๆ ไปเค้าบินกันประมาณ 11-12 ชั่วโมง อันนี้ก็ตั้งแต่สองหมื่นต้นๆ ครับ อยู่ที่ใครอึดกว่า แต่ของพี่โดยส่วนตัวถ้าบิน 10 ชั่วโมงขึ้นไป ชอบแบบมีแวะยืดเส้นยืดสายครับ แต่แวะจุดเดียวพอแล้ว แวะเต็มที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
สรุปเรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวม
กรณีไปเรียน 1 เดือน
ดังนั้น เรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวม เฉพาะในประเทศอย่าง อเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ หลักสูตรเรียนภาษาในต่างประเทศ 1 เดือน รวมเฉพาะสิ่งที่จำเป็นคือ ค่าเรียน, ค่าที่พัก, ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับชั้นประหยัด, ค่าวีซ่า, ค่าประกัน (จำเป็นนะครับ), ค่าสมัครทางโรงเรียนบวกบางที่เก็บค่าบริการจัดหาที่พักด้วย เฉลี่ยเป็นเงินบาทมีตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท เดือนถัดๆ ไปก็จะถูกลงเพราะค่าใช้จ่ายบางอย่าง fix ไปแล้ว
กรณีไปเรียนมากกว่า 2 เดือน
ถ้า 2 เดือนจะประมาณ หนึ่งแสนสามหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนแปดหมื่นบาท และ 3 เดือนจะประมาณ สองแสนบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาท และถ้ายาวกว่านี้อย่าง 6 เดือนก็จะมีตั้งแต่สี่แสนบาทขึ้นไป อันนี้ไม่นับโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือพวกโรงเรียนห้องแถวนะครับ
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นอกจากค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ว่าไปแล้วก็จะมี ค่าบริการรถรับ-ส่งสนามบิน ที่ทุกโรงเรียนจะมีขายบริการนี้เป็น option เสริมอยู่แล้ว, เรื่องค่าเดินทางภายในประเทศ และค่าอาหารก็ควรเผื่อไว้อาทิตย์ละสามถึงห้าพันบาท ส่วนค่าช็อปปิ้งอันนี้ตัวใครตัวมัน เบ็ดเสร็จแบบสยายๆ นะครับ 1 เดือนรวมทุกอย่างแล้วก็ 130,000 – 150,000 บาท ถ้าสองเดือนก็ 150,000 – 180,000 บาทครับ
4. ทำงานเสริมได้มั้ย?
ถ้าประเทศอเมริกา คุณจะถือวีซ่าประเภท F-1 คือทำงานไม่ได้ ผิดกฎหมายแน่แท้ ในส่วนประเภท J-1 ของโครงการ Work&Travel, Work&Study แล้วก็ออแพร์ ไว้จะมาให้ข้อมูลครับ ของอังกฤษจะเป็นวีซ่าประเภทไปเรียนภาษา (เรียกอย่างนี้แล้วกัน) ผิดกฎหมายเหมือนกัน จะได้ก็คือต้องถือเป็นวีซ่านักเรียนเท่านั้นที่จะทำงานได้ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เช่นเดียวกับของแคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ฝากไว้ให้คิด…
สุดท้ายของบทความนี้ก็ฝากไปคิดกันดูนะครับ การเรียนภาษาที่นั่น ไม่เหมือนเรียนที่โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่เค้าไม่ได้แยกระดับชั้น ที่นักเรียนเก่งกับไม่เก่งก็ปนๆ กันไป อาจารย์สอนก็เอาเนื้อหากลางๆ มาสอน ซึ่งอาจจะง่ายไปสำหรับคนเก่ง ยากไปสำหรับคนไม่เก่ง แต่ที่สำหรับสถาบันสอนภาษาที่ได้มาตรฐานนั้นไม่ใช่ครับ เค้าจะแบ่งระดับ เพราะจะได้จัดอาจารย์และเนื้อหาที่เหมาะสมกับนักเรียนทั้งห้อง และการเรียนการสอนก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญที่อยากให้น้องทุกคนที่ไปมีก็คือ ความกล้า ที่จะพูดแบบผิดๆ โดยไม่อาย เราคนไทยเติบโตมากับระบบปรนัย มีคำตอบที่ถูกเพียงข้อเดียว ทำให้เรากลัวที่จะพูดเพราะมัวแต่เรียบเรียงอยู่ในหัว ประธาน กริยา กรรม กับเอ๊ะกริยาช่องไหนนะ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ควรเติม – ing มั้ย หรือโน่นเลยโดนเข้าไป past perfect continuous tense เชื่อพี่นะครับ พี่ว่าน้องที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ว่าจะระบบไทยหรืออินเตอร์ ฟังออกครับ ถ้าฟังออกไม่หมดทุกคำ พี่ก็เชื่อว่าเราเดาได้ครับ อารมณ์เจอฝรั่งพยายามพูดไทย เราก็พอเดาๆ ได้ครับ ถ้าไม่เชื่อ…
วันไหนเดินเจอฝรั่งนะ ลองพูดดูดิ “He is a girl” หรือ “I am eat lunch” ฝรั่งก็จะงงๆ หน่อยแต่เค้ารู้เรื่องครับ การเรียนภาษาของนักเรียนไทยนะครับอันดับแรก mind-set ว่าต้องกล้าพูดก่อน เมื่อพูดบ่อยๆ เราจะสังเกตตัวเองได้เองว่าเราบกพร่องตรงไหน พูดตรงไหนผิดและจะแก้ไขได้ในคราวต่อๆ ไปได้ครับ ความสนุกของการไปเรียนภาษาในต่างประเทศคือเมื่อคนสองคนสนทนากัน และต่างฝ่ายต่างรู้ว่าอีกคนใช้คำผิด, พูดผิดหรือผิด grammar อะไรก็แล้วแต่……. แต่สองคนคุยกันรู้เรื่องครับ
เขียนโดยพี่ต้น จาก บริษัท โทนี่ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
ข้อความจาก Facebook Page : Tony Education
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือแนะนำว่าอยากให้ช่วยเขียนเรื่องอะไรมาได้ที่ : IB Facebook Page หรือ Line ID : ton_chavanit นะครับ