มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ยึดมั่นในการกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางด้านการศึกษาให้ถ้วนทั่วทุกกลุ่มชน จากการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการสอนต่าง ๆ โดยไม่มีอุปสรรคด้านเวลาและสถานที่ที่ใช้ในการเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษาได้เข้ามาศึกษาเพิ่มพูนความรู้ พัฒนาทักษะทางด้านวิชาการและวิชาชีพของตนเอง
สมัครเรียนได้ไม่จำกัดวุฒิฯ มสธ.
ถึงแม้ว่าจะยังไม่สำเร็จการศึกษาในระดับใดก็ตาม (ไม่จำจำกัดวุฒิในการสมัครเข้าเรียน) ก็สามารถที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในโครงการเรียนล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสัมฤทธิบัตร (มีระยะเวลาในการเรียน 4 เดือน) ที่มุ่งให้บริการทางการศึกษาแก่นักเรียนได้เพิ่มพูนความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปเป็นองค์ความรู้ในชั้นเรียน และยังถือว่าเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
โครงการสัมฤทธิบัตร
สำหรับการเรียนในโครงการสัมฤทธิบัตร จะเป็นการเรียนรายวิชาของหลักสูตรปริญญาตรี โดยไม่คำนึงถึงปริญญา ซึ่งเราสามารถเลือกลงเรียนเป็นชุดวิชาตามที่ต้องการได้เลยและเวลาเรียนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาเรียนในชั้นเรียนด้วย สามารถเรียนได้ด้วยตนเอง เมื่อสอบผ่านแล้วจะได้รับใบสัมฤทธิบัตรรับรองความรู้ในชุดวิชาหรือรายวิชานั้น ๆ
ซึ่งใบสัมฤทธิบัตรสามารถนำมาเทียบโอนหน่วยกิตได้ เมื่อเรามีสถานะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีของ มสธ. โดยเราสามารถเทียบโอนหน่วยกิตจากใบสัมฤทธิบัตรที่เคยเรียนผ่านมาได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นวิชาในหลักสูตรปริญญาตรีที่เรากำลังศึกษาอยู่เท่านั้น ถ้าไม่ใช่รายวิชาในหลักสูตรจะไม่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้
หน้าเว็บไซต์โครงการสัมฤทธิบัตร มสธ. : คลิกที่นี่
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)
วิธีการเรียนโครงการสัมฤทธิบัตร
ผู้เรียนในโครงการสัมฤทธิบัตรจะต้องเรียนด้วยตนเองตามระบบการสอนทางไกล ซึ่งเป็นวิธีการให้การศึกษาถึงบ้านและบริการถึงตัวผู้เรียนและเข้าสอบในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง โดยอาศัยสื่อการสอนประเภทต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ได้แก่ เอกสารการสอน แบบฝึกปฏิบัติ ซีดีเสียง (MP3) ดีวีดี (DVD) และซีดีมัลติมีเดียประจำชุดวิชาที่ได้เตรียมเอาไว้ เรียกว่า ชุดวิชา โดยในแต่ละชุดวิชามีค่าไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิตทวิภาคของหลักสูตรอุดมศึกษาทั่วไป
ระยะเวลาในการเรียน แบ่งออกเป็นดังนี้
- รุ่นที่ 101 รหัสรุ่น 602 เรียนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2561
- รุ่นที่ 102 รหัสรุ่น 603 เรียนในช่วงเดือนมเมษายน-กรกฎาคม 2561
- รุ่นที่ 103 รหัสรุ่น 604 เรียนในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2561
- รุ่นที่ 104 รหัสรุ่น 611 เรียนในช่วงเดือนตุลาคม 2561-มกราคม 2562
- รุ่นที่ 105 รหัสรุ่น 612 เรียนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2562
โดยรวมแล้วการเรียนในโครงการสัมฤทธิบัตร มสธ. จะใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 4 เดือน และใน 1 ปีก็จะเปิดรับสมัครทั้งหมด 5 รอบด้วยกัน
ดูรายละเอียดโครงการสัมฤทธิบัตร มสธ. : คลิกที่นี่
งบประมาณที่ต้องเตรียมสำหรับการทำการตลาดออนไลน์..
Link : https://seeme.me/ch/taokaemaischool/93gP89?pl=zWkJOz
10 ชุดวิชา ที่มีผู้สมัครเรียนมากที่สุด
- 10111 ชุดวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- 10121 ชุดวิชาอารยธรรมมนุษย์
- 10151 ชุดวิชาไทยศึกษา
- 32204 ชุดวิชาการบัญชีขั้นต้น
- 40101 ชุดวิชาความรู้เบื้งต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป
- 41201 ชุดวิชากฎหมายมหาชน
- 41211 ชุดวิชากฎหมายแพ่ง : บุคคล นิติกรรม สัญญา
- 41451 ชุดวิชากฎหมายระหว่างประเทศ
- 81427 ชุดวิชากฎหมายอาญาสำหรับรัฐศาสตร์
- 81428 ชุดวิชาพิจารณาความอาญาและพยานหลักฐานสำหรับรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ ผู้เรียนโครงการสัมฤทธิบัตรที่ได้ทำการเลือกสมัคเรียนในชุดวิชาใดแล้ว ไม่สามารถขอเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มชุดวิชาในภายหลังได้
ค่าลงทะเบียนเรียน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้มีการแบ่งวิธีการสมัครและค่าลงทะเบียนเรียนในโครงการสัมฤทธิบัตรออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ สำหรับผู้เรียนที่อยู่ในประเทศไทย และสำหรับผู้เรียนที่เป็นคนไทยแต่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ผู้สมัครเรียนที่อยู่ในประเทศไทย
สำหรับผู้สมัครเรียนในประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ซึ่งได้รวมค่าวัสดุการศึกษาและอื่น ๆ ไว้ด้วยแล้ว ชุดวิชาละ 1,100 บาท ยกเว้น ชุดวิชาที่มีสื่อโสตทัศน์ เช่น ดีวีดี MP3 และซีดีมัลติมีเดีย ประกอบชุดวิชาจะต้องชำระค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,100 บาทขึ้นไป
ดูรายละเอียดชุดวิชาที่เปิดสอน + ค่าลงทะเบียน : คลิกที่นี่
วิธีการชำระค่าสมัครเรียน
เมื่อผู้สมัครกรอกใบสมัครและระเบียนประวัติผู้เรียนโครงการสัมฤทธิบัตร พร้อมจัดเตรียมหลักฐานการสมัครและค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเรียบร้อยแล้ว ให้ชำระเงินโดยเลือกวิธีการชำระเงินได้ดังนี้
1. ชำระด้วยบริการ Pay at Post
เลือกชำระด้วยบริการ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ของรัฐ โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์จะเป็นผู้นำส่งเอกสารการสมัครให้กับท่านทางไปรษณีย์ ยื่นใบสมัครและบัตร ปชช. ของผู้สมัครให้กับเจ้าพนักงานไปรษณีย์ เพื่อทำการบันทึกรหัสบาร์โค้ดและเลขบัตร ปชช. ของผู้สมัครเป็นหลักฐานการชำระเงิน หลังจากนั้นส่งใบเสร็จรับเงินที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์ออกมาให้ใส่ในซองเอกสารการสมัครจัดส่งมาที่ มสธ.
2. เคาน์เตอร์เซอร์วิส
เลือกชำระเงิน ณ จุดรับชำระเงินด้วยบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ โดยการยื่นใบสมัครและบัตร ปชช. ของผู้สมัครให้กับพนักงานของจุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อทำการบันทึกรหัสบาร์โค้ดและเลขบัตร ปชช. ของผู้สมัครเข้าสู่ระบบรับชำระเงินค่าสมัคร
และใส่ใบเสร็จรับเงินลงในซองเอกสาร พร้อมเอกสารการสมัครที่เขียนถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ส่งมาที่ มสธ. (ติดแสตมป์มูลค่า 5 บาท ที่หน้าซองเอกสารก่อนใส่ตู้ไปรษณีย์)
3. สมัครและชำระด้วยตนเอง
ผู้สมัครสามารถยื่นเอกสารการสมัครและชำระค่าสมัครได้ด้วยตนเองเป็นเงินสดได้ 2 สถานที่ คือ
- ศูนย์บริการร่วมครบวงจร (ONE STOP SERVICE) อาคารบริการ 1 (ตึกหน้าเสาธง) ชั้น 1 ที่ทำการของ มสธ. ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.
- ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. ทั้ง 10 ศูนย์ ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย นครสวรรค์ อุบลราชธานี อุดรธานี นครนายก เพชรบุรี จันทบุรี นครศรีธรรมราช และยะลา ในวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.
การสมัครเรียนชุดวิชาเดิม (สอบไม่ผ่าน)
กรณีสอบไม่ผ่านหรือไม่ได้เข้าสอบ (ประเมินผลการศึกษาลำดับขั้น U สอบไม่ผ่าน) มีความประสงค์ที่จะสมัครเรียนในชุดวิชาเดิมจะต้องเสียค่าชุดวิชาละ 400 บาท โดยเสียค่าใช้จ่ายครั้งเดียวและจะไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ พร้อมทั้งแนบผลการสอบมาเป็นหลักฐานประกอบการสมัครเรียนใหม่ด้วย
การสมัครเรียนสำหรับคนไทยในต่างประเทศ
มสธ. จัดบริการรับสมัครโครงการสัมฤทธิบัตรสำหรับคนไทยในต่างประเทศไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1
การจัดการศึกษาให้กับคนไทยและผู้สนใจเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน บรูไน ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ
โดยผู้สมัครสามารถยื่นเอกสารการสมัครได้ที่สถานกงสุล หรือสำนักงานแรงงาน ซึ่งสถานกงสุล/สำนักงานแรงงานจะเป็นผู้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการรับสมัคร การส่งวัสดุการศึกษาและเอกสารอื่นให้ผู้เรียน และรวมถึงเรื่องการจัดสถานที่สอบด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายในการสมัครเรียนโครงการสัมฤทธิบัตรของผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยคิดค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาจ่ายตามจำนวนชุดวิชาที่สมัคร ซึ่งในแต่ละรุ่นของโครงการสัมฤทธิบัตรสามารถสมัครเรียนได้ไม่เกิน 3 ชุดวิชา
- 1 ชุดวิชา/รายวิชา มีอัตราค่าสมัครอยู่ที่ 5,000 บาท
- 2 ชุดวิชา/รายวิชา มีอัตราค่าสมัครอยู่ที่ 6,000 บาท
- 3 ชุดวิชา/รายวิชา มีอัตราค่าสมัครอยู่ที่ 7,000 บาท
ประเภทที่ 2
สำหรับคนไทยในประเทศอื่นนอกเหนือจาก 7 ประเทศที่ได้กล่าวมาในประเภทที่ 1 ให้ดำเนินการสมัครเรียนและชำระเงินค่าชุดวิชารวมค่าวัสดุการศึกษาในอัตราเดียวกับที่กำหนดไว้ในแต่ละชุดวิชา/รายวิชา เช่นเดียวกับผู้สมัครในประเทศไทยทุกประการ
การระบุที่อยู่ลงในใบสมัคร ผู้เรียนโครงการสัมฤทธิบัตรที่พำนักอยู่ในต่างประเทศในประเภทที่ 2 ผู้สมัครต้องระบุที่อยู่ภายในประเทศไทยที่ใช้ในการติดต่อ รับเอกสารการสอน และเอกสารอื่น ๆ ลงในใบสมัคร โดยจะต้องมอบหมายให้ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ภายในประเทศไทยรับเอกสารแทน
ทั้งนี้ หากผู้สมัครไม่แจ้งความจำนงขอใช้บริการจัดสอบในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจะจัดให้เข้าสอบ ณ สนามสอบในประเทศไทยตามรหัสไปรษณีย์ที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ในใบสมัครโครงการสัมฤทธิบัตร การชำระเงินของผู้สมัครที่ต้องการขอใช้บริการจัดสอบในต่างประเทศร่วมด้วย ต้องชำระเงินค่าขอใช้บริการจัดสอบในต่างประเทศในอัตราเหมาจ่ายเพิ่มเติมจากค่าชุดวิชารวมค่าวัสดุการศึกษาอีกจำนวน 6,500 บาท
โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด ( มหาชน) สาขานนทบุรี ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 140-0-96697-2 ชื่อบัญชีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และบรรจุใบ Pay in มาในซองเอกสารการสมัครก่อนส่งมายังมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้สมัครต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการโอนเงินค่าขอใช้บริการจัดสอบในต่างประเทศเอง
ดาวน์โหลดใบสมัครโครงการสัมฤทธิบัตร : คลิกที่นี่
ดูรายละเอียดการสมัครเรียน ชำระเงิน และการลงทะเบียนเรียนชุดวิชาเดิม : คลิกที่นี่
เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : คลิกที่นี่
ความแตกต่างระหว่าง มสธ. และ ม.รามฯ
การเรียนโครงการสัมฤทธิบัตร มสธ.
เป็นการเรียนเก็บหน่วยกิตรายวิชาล่วงหน้า (โครงการเรียนล่วงหน้า) โดยมีหลักการคือ เป็นการเรียนรายวิชาของหลักสูตรปริญญาตรีเป็นรายวิชา โดยไม่คำนึงถึงปริญญา สามารถเรียนวิชาอะไรก็ได้ของทุกสาขา ใครเรียนก็ได้ไม่จำกัดวุฒิ เมื่อเรียนจบรายวิชาและสอบผ่านแล้วจะได้รับใบสัมฤทธิบัตรเฉพาะของรายวิชานั้น ๆ
และสามารถนำใบสัมฤทธิบัตรมาเทียบโอนหน่วยกิตได้ เมื่อมีสถานะเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของ มสธ. แต่ต้องเป็นวิชาในหลักสูตรที่เรากำลังศึกษาอยู่เท่านั้น ถ้าไม่ใช่รายวิชาในหลักสูตรจะเทียบโอนหน่วยกิตไม่ได้
การเรียน Pre-Degree ม.รามคำแหง
เป็นการเรียนเก็บหน่วยกิตรายวิชาล่วงหน้าสะสมเอาไว้ ทั้งนี้น้อง ๆ จะต้องสมัครเป็นนักศึกษา Pre-degree ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยจะต้องใช้วุฒิ ม.3 ในการสมัครเข้าเรียน และจะต้องกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย ปวช. ปวส. หรือ กศน.
พอเรียนจบ ม.ปลาย หรือ เทียบเท่า ก็ต้องสมัครเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของ ม.รามฯ จากนั้นจึงจะสามารถทำการเทียบโอนหน่วยกิตที่เรียนล่วงหน้า Pre-degree มาได้เลย
อ่านเพิ่มเติม : การเรียน Pre-degree คืออะไร? ใครสามารถเรียนได้บ้าง? ม.รามคำแหง
Written by : Toey
บทความที่น่าสนใจ
- 5 อันดับ มหาวิทยาลัยในเมืองไทย ที่มีค่าเทอมถูกที่สุด
- ติ๊ก อรัญวา ชาวมละบริคนแรกของโลก ที่เรียนจบปริญญาตรี มสธ.
- เจ๋งจริง! น้องใบบัว เด็ก ป.5 สอบผ่านกฎหมายมหาชน เทียบเท่าปี 2
- พลอยชมพู ญานนีน ภารวี ไวเกล สาวน้อยมหัศจรรย์ กับการเรียนแบบ Homeschool
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเปิดสอนคณะและสาขาวิชาอะไรบ้าง?
- เรื่องน่ารู้ วิธีการเรียนใน ม.สุโขทัย เรียนทางไกล สัมฤทธิบัตร คืออะไร?
- เลือกไม่ได้ ม.ไหนดี? 7 ความแตกต่างระหว่าง มสธ. กับ ม.ราม