ปรบมือให้รัว ๆ เลย น้องติ๊ก อรัญวา ชาวพนาไพร ชาวเผ่ามละบริที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเธอเป็นคนแรกของเผ่าที่สามารถเรียนจบปริญญาตรีมาได้สำเร็จ จากสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ติ๊ก อรัญวา ชาวมละบริคนแรกของโลก เรียนจบ ป.ตรี มสธ.
และด้วยสำนึกในน้ำพระทัยของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานที่อยู่ที่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ชาวมละบริ จึงทำให้เธอมีความพยายามที่จะพัฒนาหมู่บ้านของตนเองให้ได้ยามที่ออกมาจากป่าแล้ว ทำให้ชาวมละบริ เริ่มที่จะเรียนรู้และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน
ปฏิบัติงานตามพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
แรกเริ่มเลยนั้น ชาวมละบริมีวิถีชีวิตอยู่ในป่า เก็บของป่า ล่าสัตว์และย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ โดยที่ผ่านมาผู้ที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่านี้ มักจะเรียกพวกเขาว่า “ผีตองเหลือง” ซึ่งเป็นคำเรียกที่คนชนเผ่านี้ไม่ชอบ เพราะรู้สึกเป็นคำเรียกที่สื่อไปในเชิงลบ ในปัจจุบันชนเผ่านี้ได้มีการเปิดตัวออกสู่สังคมโลกภายนอกเพิ่มขึ้น และชาวเผ่ามละบริบางคนก็ได้มาพักอาศัยอยู่ที่ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปฏิบัติงานตามพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเข้าไปส่งเสริมและร่วมเรียนรู้การสร้างความสามารถในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประกอบอาชีพเสริม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวมละบริที่ออกจากป่ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าให้พัฒนาไปในทุกด้าน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันได้อย่างเท่าเทียมกัน
น้องติ๊ก คว้าใบปริญญามาได้สำเร็จ
เมื่อไม่นานมานี้ น้องติ๊ก อรัญวา ชาวพนาไพร (อายุ 29 ปี) เป็นชาวมละบริคนแรกของโลก ที่สามารถเรียนจบในระดับปริญญาตรีได้สำเร็จ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนอกจากนี้เธอยังเป็นประธานหมู่บ้านชาวมละบริที่อาศัยอยู่ในศูนย์ภูฟ้าพัฒนาแห่งนี้อีกด้วย
โดยในปัจจุบันมีชาวละบริอาศัยอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้าประมาณ 20 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ 76 คน ทำการเกษตร หาของป่าไปขาย ทำอาชีพรับจ้างในกรมป่าไม้ และงานต่าง ๆ ในศูนย์
ติ๊ก อรัญวา ยังกล่าวว่า “เพราะติ๊กเป็นประธานหมู่บ้าน ก็อยากให้คนในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้ โดยที่ผ่านมาอาจารย์และพี่ ๆ จาก มจธ. คอยให้คำปรึกษาและตอกย้ำมาตลอดว่าหมู่บ้านจะเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากคนในหมู่บ้านเอง ไม่ใช่จากคนภายนอก
อาวุธที่สำคัญที่สามารถชีวยพัฒนาตัวเองและคนในหมู่บ้านได้นั้นก็คือความรู้ ดังนั้นจึงได้เลือกเรียนเกษตร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด การเรียนเกษตรเหมาะกับคนที่อยากจะฝึกอาชีพเพื่อที่จะพึ่งพาตัวเองให้ได้ และในตอนนี้มีชาวมละบริเรียนปริญญาตรีแล้ว 6 คน ส่วนเด็กเล็ก ๆ ในหมู่บ้านก็เริ่มเรียนหนังสือกันทุกคนแล้ว และที่สำคัญนอกจากการทำให้หมู่บ้านเราพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ติ๊กอยากทำให้ชาวเผ่ามละบริที่อยู่ในพื้นที่อื่นเห็นว่าเราทำได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เพราะเราอยู่รวมกัน สามัคคีกัน และเรียนรู้ไปด้วยกัน”
ข้อมูลจาก : www.pr.kmutt.ac.th, www.komchadluek.net, www.dailynews.co.th
** ข้อมูลเมื่อ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2017