ทัตนเเพทย์ หมอฟัน เฟรชชี่

รู้จักกับ “ภัทร-ภูมิ” ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / รู้จักกับ “ภัทร-ภูมิ” ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

มาทำความรู้จักนิสิตหมอฟันรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง หนุ่มน่ารัก สาวสดใส ที่เพื่อนๆ โหวตให้เป็นขวัญใจแก๊งค์เฟรชชี่   ปี 1 ภัทร-ภัทร สุทธาภิรมย์ และภูมิ-ภูวิศ ลุยะพันธุ์ กับการต้องมาปรับตัวในสังคมใหม่ของชาวทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิสิตหมอหน้าใส ขวัญใจเเก๊งค์เฟรชชี่ปี 1

เหตุผลที่เลือกมาเรียนในคณะนี้

ภัทร : ตอนนั้นที่โรงเรียนเก่าหนูที่เตรียมอุดมฯ อยากสอบเข้าหมอกันเยอะ แต่หนูไม่ค่อยอยากเป็นหมอ เพราะรู้สึกว่าทำงานไม่ค่อยเป็นเวลา แล้วคุณพ่อก็เห็นด้วยไม่อยากให้เป็นเพราะกลัวเหนื่อย ก็เลยเลือกสายรองลงมาอย่างทันตแพทย์ ที่ทำงานตรงเวลาได้ และงานน่าจะเบากว่าค่ะ

ภูมิ : ผมก็มาจากโรงเรียนเดียวกับภัทรเลย ตอนม.ต้นเคยได้ศึกษาด้านนี้จากวิชาแนะแนวบ้าง ก็ชอบ ผมรู้สึกว่าการเป็นคุณหมอฟันมันเท่ดีด้วย

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

ด่านสัมภาษณ์ ก่อนจะมาเป็นคุณหมอเฟรชชี่

ภัทร :  สอบสัมภาษณ์ไม่ได้ยากมาก อาจารย์แค่อยากรู้ทัศนคติของเรา ก็เป็นการชวนคุยมากกว่า แล้วก็มีสอบทักษะการใช้เครื่องมือหัตถการวันเดียวกันเลย เขาจะมีเครื่องมือสองสามอย่างให้เรามา แต่ไม่บอกว่าใช้ยังไง แล้วก็ให้เหลาชอล์กเป็นรูปต่างๆ ซึ่งก็ยากเพราะว่าชอล์กมันเล็ก แล้วก็บาง กลัวว่ามันจะหัก จะเปราะมั้ย แต่จริงๆ คือเขาจะดูความตั้งใจของเรามากกว่า

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

กิจกรรมรับน้องอบอุ่นของรุ่นพี่รุ่นน้อง

ภัทร : ในรุ่นมีประมาณ 97 คน ไม่เยอะมาก เข้ามาครั้งแรกก็ตกใจ อาจารย์เรียกตัวเองว่า พี่ จะไม่เรียกครูหรืออาจารย์ แล้วแทนตัวนิสิตว่า น้อง ก็รู้สึกอบอุ่น ในคณะก็รู้จักกันทุกคน รับน้องก็น่ารักๆ พี่เอาใจน้อง อย่างวันแรกรวมจุฬาฯ แต่ละคณะก็แยกกันไป ของเพื่อนคณะอื่นไปเจอรุ่นพี่แล้วแยกย้ายกลับบ้าน แต่ของคณะเราเต็มเวลาเลย เสร็จแล้วมีไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนๆ ต่อ แล้วก็จะมีจัดกิจกรรมสามค่ายใหญ่ๆ คือรับใน กิจกรรมภายในคณะ แล้วก็เด็กฝึกแคมป์ ไปต่างจังหวัด ไปกันหมดทุกชั้นปี ก็จะมีกิจกรรมครึ่งวันเป็นการทดลองเอาแล็ปต่างๆ มาให้น้องทำ

อย่างเอาลวดดัดฟันมาดัดเป็นรูปดาว รูปต่างๆ บางเบอร์ก็แข็งมาก ก็ได้แผลกันมานิดหน่อย (หัวเราะ) หรือเอาขี้ผึ้งมาตัดลนไฟทำเป็นอะนาโตมีของฟัน หลังจากนั้นก็เป็นสันทนาการ ชอบเกมสุดท้าย ที่เอาผ้าไวนิลมาปูทำเป็นลานกว้างๆ ราดสบู่ให้ลื่นๆ แล้วไถลแข่งกันค่ะ ส่วนกิจกรรมสุดท้ายเป็นรับนอก เฉลยสายรหัส ของหนูตอนแรกนึกว่า พี่รหัสเป็นผู้หญิง เห็นพี่เขาชวนคุยเป็นเรื่องยาสระผมอย่างโง้น อย่างงี้ดีเนอะ คุยเหมือนผู้หญิงเลย สุดท้ายเฉลยมาเป็นผู้ชาย แอบเซอร์ไพรส์นิดหนึ่ง

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

เข้ามาเจอการเรียนประสบการณ์ใหม่เรื่องทันตกรรม

ภัทร : เทอมแรกส่วนใหญ่จะเป็นวิชานอกคณะอยู่ แต่ก็มีวิชาหินอยู่ตัวหนึ่งตอนนี้ คือ CHEMMED หรือ Chemistry for Medical Student เป็นเคมีที่คณะแพทย์ ทันตะ กับสัตวแพทย์จะเรียนด้วยกัน เป็นเคมีอินทรีย์เริ่มต้นที่ยากกว่าตอนม.ปลาย แต่ตอนนี้จบออกมาแล้วก็ได้เกรด A (ยิ้ม) แต่พอขึ้นเทอม 2 จะเริ่มหนักขึ้น เห็นรุ่นพี่บอกว่าจะมีเป็นบล็อกวิชาเรียน คือเรียนสามสี่ตัวทับกันในเวลาเดิม เรียนแล้วก็สอบ แล้วก็เปลี่ยนวิชาใหม่ ทำให้ต้องอ่านหนังสือกันตลอดเวลา

แล้วก็ปีที่ต้องอ่านหนังสือหนักสุดที่ต้องเตรียมตัวไว้เลยเป็นปี 3 ที่ได้ยินว่ามีสอบเกือบ 20 ตัว แล้วก็ทำแล็ปกันจนห้องแล็ปปิดสองทุ่มเลย เพราะว่าเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นคลินิกครั้งแรกในปี 4 ค่ะ

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากมาเป็นนิสิตคณะทันตแพทย์

ภูมิ : เข้ามาก็ได้เรียนชีววิทยาเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพ ได้รู้กระบวนการในร่างกายที่ลึกซึ้งขึ้น แล้วก็การดูแลรักษาฟันที่ตั้งแต่ตอนเข้าค่ายก็ได้ความรู้เบื้องต้นมาบ้างแล้วเรื่องการแปรงฟันที่ถูกต้อง อย่างของผมจะมีปัญหาฟันเขี้ยวอยู่ในมุมหนึ่งของเหงือก ก็แปรงผิดวิธีมาตลอด

ก็ได้มารู้วิธีการแปรงที่ถูกต้องที่นี่แหละ มันทำให้เราต้องเริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะว่าโตไปอนาคตเราก็ต้องไปบอกคนไข้ว่าควรจะดูแลรักษาฟันยังไง ถ้าเราเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี คำพูดเราก็ไม่น่าเชื่อถือ อย่างเรื่องไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ฟันเหลือง เราเองที่จะเป็นคุณหมอต่อไป ก็ต้องไม่ทำอย่างนั้นด้วย

ภัทร-ภูมิ ขวัญใจชาวแก๊งค์เฟรชชี่ ทันตะ จุฬาฯ

เทรนด์สไตล์หนุ่มสาวทันตะ

ภัทร : โดยรวมๆ ผู้หญิงทันตะก็จะเรียบร้อยค่ะ แต่ก็ไม่ถึงกับตั้งใจเรียนขนาดนั้น ก็มีไปคลายเครียดรีแล็กซ์ ไปเที่ยวโน่นนี่บ้าง แต่พอถึงเวลาสอบก็ชวนกันอ่านหนังสือ หนูว่าความเป็นเด็กทันตะ สำคัญที่สุดคือต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ เพราะเราต้องรับผิดชอบชีวิตคนๆ หนึ่งที่เป็นคนไข้ของเรา

อย่างอาจารย์เคยบอกว่า บางทีเราเห็นคนไข้ปวดฟัน คางบวม แล้วคิดว่าเป็นฟันคุด แต่จริงๆ แล้วเขาอาจจะติดเชื้อบางอย่างมาที่ทำให้ตายได้เลย เราก็ต้องมีความรอบรู้เพียงพอเพื่อที่จะวิเคราะห์โรคได้ถูกต้อง

ชวนน้องๆ มาร่วมในกระบวนการหมอฟันรุ่นใหม่

ภัทร-ภูมิ : ก่อนอื่นอยากให้เตรียมตัวกันมาดีๆ ก่อนจะสมัครเรียน น้องๆ ควรจะมาดูงาน OPEN HOUSE ของคณะก่อน ช่วงวันที่ 15-19 มี.ค. นี้จะมีจัดจุฬาวิชาการ ครบร้อยปี แต่ละคณะจะมีนิทรรศการของตัวเอง อย่างคณะเราก็จะมีให้ทดลองทำทุกอย่างดูว่า ชีวิตทันตแพทย์ตอนเรียนแล้วก็จบไปจะต้องเจออะไรบ้าง มีแล็ปมาให้ทดลองทำว่า เราชอบทางนี้จริงๆ มั้ย แล้วสามารถเรียนได้มั้ย ถ้าเราสนใจจริงๆ ก็ขอให้ตั้งใจมุ่งมั่นแล้วทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ

ติดตามในคอลัมน์ about campus นิตยสาร campus star no.46

www.facebook.com/campusstars