cu คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ หนุ่มหน้าใส อิน-สาริน รณเกียรติ เคล็ดลับการเรียน

เคล็ดลับการเรียนของ อิน-สาริน รณเกียรติ หนุ่มสถาปัตย์หน้าใสขวัญใจสาวๆ

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / เคล็ดลับการเรียนของ อิน-สาริน รณเกียรติ หนุ่มสถาปัตย์หน้าใสขวัญใจสาวๆ

เขาว่ากันว่าหนุ่มนิสิตนักออกแบบหัวใจศิลป์มักจะเต็มไปด้วยเสน่ห์ ว่าแล้วเราไปตามติดชีวิตนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันดีกว่า หนุ่ม CUTE BOY หน้าใส อิน-สาริน รณเกียรติ ที่จะมาแนะทริกการเป็นนักออกแบบสุดติสท์อย่างมีสไตล์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ อย่างแน่นอน

เคล็ดลับการเรียนของ อิน-สาริน รณเกียรติ

หนุ่มสถาปัตย์หน้าใสขวัญใจสาวๆ

แนะนำตัวหน่อย

สวัสดีครับ อิน-สาริน รณเกียรติ ตอนนี้เรียนอยู่ปี 2 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ที่เลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะว่าที่บ้านก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรียลเอสเตทอยู่แล้ว และชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ ส่วนที่อยากจะเรียนเป็นอินเตอร์ด้วย เพราะทางอินเตอร์ที่นี่ จะเน้นทั้งดีไซน์และแมเนจเม้นท์ ซึ่งก็น่าจะนำไปใช้งานในอนาคตได้มากกว่า

การเตรียมตัวก่อนสอบเข้า

ก็มีไปเรียนคอร์สติววาดรูป แต่ว่าคอร์สติววาดรูปไม่เหมือนติววิชาการ เรียนเยอะยังไงก็แฮปปี้สำหรับเรานะ แต่ตอนสัมภาษณ์ค่อนข้างยากหน่อย เพราะว่าต้องสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ มีอาจารย์ฝรั่งนั่งเรียงกัน 4 คนเลย จำได้ว่าต้องใช้วิธีเกร็งคำถามในกระดาษประมาณ 8 หน้า A4 ได้ แล้วท่องอยู่เกือบ 4 วัน แต่พอไปสัมภาษณ์จริงๆ ก็ตอบได้ถูกหมดนะ ก็เกร็งได้หมดเกือบ 100% เลย

สไตล์การเรียนการสอนด้านออกแบบอินเตอร์

การเรียนอินเตอร์จะต่างกับภาคปกติหน่อยก็คือ จะเป็นระบบเรียน 4 ปี แล้วก็เขาจะไม่มีการมาเลกเชอร์ ไม่มีการสอน แต่ว่าจะให้เราไปทำการบ้านข้างนอก แล้วกลับมาพรีเซ้นท์ให้อาจารย์ดู ในขณะที่ของไทยเราจะเน้นด้าน Construction เยอะหน่อย แต่อินเตอร์คือ จะเน้นการครีเอทีฟ Thinking เน้นการคิดมากกว่าทำ เพราะว่าสถาปัตยฯ คือการสร้างสิ่งๆ หนึ่งที่มันไม่มีบนโลกให้เกิดขึ้นมาบนโลก การครีเอทีฟก็เลยจะสำคัญมาก แล้วในห้องเรียนก็มีนักเรียน 8 คนต่อครูหนึ่งคน ครูจะสามารถดูแลเราได้ทั่วถึง ให้เราได้มีโอกาสเสนอผลงาน โชว์ความเป็นตัวเองออกมา แต่เวลาพรีเซ้นท์ก็มีหลุดบ้างเหมือนกัน เพราะว่าอย่างที่บอกว่าทุกคนจะต้องไปคิดเอง ทำเอง แล้วมาพรีเซ้นท์พร้อมกัน เพราะฉะนั้น จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าของเพื่อนเป็นยังไง แล้วบางทีศัพท์เฉพาะทางก็มีความหมายได้หลายอย่าง บางทีเราก็อาจเข้าใจผิดได้บ้าง เวลาพรีเซ้นท์ก็เป็นเรื่องโจ๊กขำๆ ไปบ้าง

เรื่องโหดขึ้นชื่อสำหรับเด็กถาปัดฯ

เรื่องงานเยอะ ขึ้นชื่อสำหรับเด็กถาปัดฯ อยู่แล้ว เรียกว่าผมต้องทำตลอดเวลาที่ลืมตาขึ้นมา จนกระทั่งหลับตาลงไป 55 แต่ชอบทำกับเพื่อนมากกว่าครับ เพราะจะได้แลกเปลี่ยนไอเดียกันได้ ก็จะมีรวมกลุ่มไปทำที่หอเพื่อนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะทำกัน 24 ชั่วโมงเลยแหละ มีสองช่วงคือมิดเทอมกับไฟนอล ที่จะทำติดต่อกัน 3-4 วันเลย ส่วนวิชาโหดก็คงเป็นวิชาหลักคือดีไซน์ เพราะการให้คะแนนขึ้นกับอาจารย์ของเรา สไตล์ที่เราชอบอาจไม่ใช่สไตล์ที่อาจารย์ชอบ เพราะว่าอาจารย์ก็ติสท์แตกเหมือนกัน บางคนเปรี้ยวกว่าเด็กอีก นึกจะใส่เสื้อสีชมพูเรืองแสงทั้งตัวก็ยังใส่มาเลย 55

เทคนิคการหาไอเดียสุดครีเอท

ส่วนใหญ่เราต้องหา Reference เก็บข้อมูลหลายๆ อย่าง อ่านหนังสือเยอะๆ เพื่อเอามาอะแดปใช้กับโปรเจคของเราให้ได้ หรือไม่ก็ถ้าต้องหาไอเดียใหม่ๆ ส่วนใหญ่ผมจะชอบไปเที่ยวนะ คือให้หลุดจากงานไปเลย ไม่ต้องไปคิดถึงงาน แล้วสักพักมันก็จะเจอแรงบันดาลใจหรือไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาเอง บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองข้ามไป สิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี่แหละ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้

แก๊งค์เด็กศิลป์สุดติสท์

ผมว่าที่บางคนมองว่าเด็กถาปัดดูติสท์เข้าไม่ถึง เพราะว่าพวกเราไม่มีเวลาออกไปพบปะผู้คนมากกว่า 55 คือแค่เวลาทำงานก็หมดแล้ว เลยไม่ค่อยได้สุงสิงกับใครเท่าไหร่ เราก็จะสนิทกันเฉพาะในคณะนี่แหละ อย่างกลุ่มผมก็มีกัน 4-5 คน ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำคือทำงาน ทำโมเดลกันในโรงอาหารซึ่งเราจะเรียกว่าถ้ำเสือกับโถงแสงอรุณ ส่วนคำเรียกกันเฉพาะแก๊งค์กลุ่มผมตอนนี้จะฮิตคำว่า “เจน” เอามาจากชื่อเพื่อน คือถ้าพูดถึง “เจน” จะหมายถึงเพื่อนผู้หญิงตัวใหญ่ แล้วเวลาใครจะด่าอะไร จะด่าด้วยคำนี้กัน 55

กิจกรรมประทับใจ

มีหลายกิจกรรม ตั้งแต่รับน้อง แล้วก็ไปเชิญธงในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 ที่ผ่านมาครับ และล่าสุด ก็ไปถ่ายเบื้องหลังโฆษณาเชิญชวนให้คนไปดูละครของถาปัดฯ เรื่อง “PETER PAN” ก็อย่าลืมไปดูกันนะครับ เป็นละครที่ดีมาก ส่วนงานด้านบันเทิงข้างนอก ตอนนี้กำลังเตรียมตัวจะเป็นดีเจที่ CLICK 98.5 ครับ

อิน-สาริน รณเกียรติ

ความประทับใจที่มีต่อคณะและมหาวิทยาลัย

ผมว่าคณะนี้เปรียบเหมือนเป็นครอบครัว เพราะเราสนิทกันมาก เราอยู่ด้วยกันเหมือนเซเว่น 55 อยู่ด้วยกันตลอด 7 วันเลย เพราะต้องทำโปรเจคด้วยกัน มันก็เลยผูกพันกัน เรียนที่นี่ปีเดียวเหมือนเรียนคณะอื่น 4 ปี ก็คิดว่าเป็นข้อดีของคณะนี้จริงๆ ส่วนมหาวิทยาลัย ผมภูมิใจในความเป็นจุฬาฯ คำว่า “จุฬาฯ” มันเหมือนเป็นชื่อติดหลังเราตลอดเวลา ทำอะไรเราก็ต้องคิดถึงมหา’ลัยไว้ก่อน แล้วเราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากมหา’ลัยนี้มาก เราก็อยากจะมีโอกาสตอบแทนหรือทำกิจกรรมให้กับมหา’ลัยด้วย

ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นเด็กออกแบบแบบอินบ้าง

อันดับแรกคงต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบด้านนี้จริงๆ หรือเปล่า อย่าเรียนตามเทรนด์ หรือเรียนเพราะคิดว่ามันง่าย เพราะว่าถาปัดฯ ไม่เหมือนวิศวะหรือวิชาเลขที่จะมีคำตอบที่ถูกต้อง แต่มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่าว่าชอบแบบไหน ไม่มีเกณฑ์ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่จะชอบงานของเรา อันนี้แหละมันคือความยาก แต่ถ้าคิดว่าชอบ ก็อยากให้ทุ่มเทกับมันจริงๆ เพราะคณะไม่ได้สอนแค่ในหลักสูตร แต่เรายังได้เรียนเรื่องระบบการจัดการชีวิต ทำให้เรารู้จักแบ่งเวลามากขึ้น เข้ากับคนมากขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คณะนี้สอนให้เราได้เจอกับประสบการณ์ในชีวิตจริงๆ ที่เราสามารถจะนำไปใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคตได้

ข้อมูลจาก นิตยสาร Campus star V.26 (สิงหาคม 2015)

บทความแนะนำ