ประวัติจุฬาฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาลัยไทย มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก

26 มีนาคม วันครบรอบกำเนิด จุฬาฯ “มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก” – ย้อนอ่านประวัติ

Home / วาไรตี้ / 26 มีนาคม วันครบรอบกำเนิด จุฬาฯ “มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก” – ย้อนอ่านประวัติ

ในอดีต เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (นับแบบเก่า) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประดิษฐาน “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นับเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ในวันนี้ครบรอบ (102 ปี)  (ตามปฏิทินสากล) ย้อนอ่านประวัติความเป็นมา จุฬาฯ “มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรก”

ประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถือกำเนิดจากโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ.2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2445

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.2425 ต่อมาทั้งภาคราชการและเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโช บายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ “ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยาม” พอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนิน ไปได้ดีในระดับหนึ่งแล้วสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า“โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อ 1 มกราคม 2459

ต่อมาทรงเห็นว่าควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นพระ บรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชพระองค์จึงได้ พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุ สาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและ เป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการ ของโรงเรียนต่อไปทั้งนี้ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ 3 มกราคม พ.ศ.2453

พระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์แน่ชัดในการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในอนาคตเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานในวันก่อศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ทรงดำรัสไว้ว่า

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม…ตัวเราเป็นรัชทายาท จึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์…เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้เห็นแลความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้”

บรรยากาศการเรียนช่วงก่อนปี 2500

ในอดีตเปิดสอน 8 แผนกวิชา

ในครั้งนั้นมีการเปิดสอน 8 แผนกวิชา ได้แก่ การปกครอง กฎหมาย การฑูต การคลัง การแพทย์การช่าง การเกษตร และวิชาครู จัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) คือโรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังโรงเรียนฝึกหัด อาจารย์ตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาโรงเรียนราชแพทยาลัยตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชโรงเรียนเนติศึกษาตั้งอยู่ ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และโรงเรียนยันตรศึกษาตั้งที่วังใหม่หรือวังกลางทุ่งหรือวังวินเซอร์ (เคยเป็นวังของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ)

26 มีนาคม พ.ศ.2459 (นับแบบเก่า)  ใช้ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 (นับแบบเก่า) เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาล และมิรู้เสื่อมสูญ จากอดีตถึงปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้บัญชาการและอธิการบดีมาแล้ว 17 คน อธิการบดีคนปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

เรียงไทม์ไลน์การพัฒนาหลังจากใช้ชื่อจุฬา ฯ

พ.ศ. 2459 – 2465
มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการเตรียมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ เพื่อให้ช่วยเหลือการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2466 – 2480
เริ่มรับผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ และมีการปรับปรุงหลักสูตรและรับนักเรียนผู้จบประโยคมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนอีก 4 คณะ

พ.ศ. 2481 – 2490
เริ่มเน้นการเรียนการสอนพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัยคือนักเรียนจะต้องเลือกเรียนตามคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนทำให้เกิดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น

พ.ศ. 2491 – 2503
เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไป โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก

พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน
เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรี และเริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม และการบริการทางวิชาการให้แก่สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัย สถาบันบริการ ศูนย์ และสำนัก เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทาง ให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป

อธิบายเพิ่มเติม …

จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษา 4 คณะ

ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยในระหว่าง พ.ศ.2459 – 2465 มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการเตรียมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ เพื่อให้ช่วยเหลือการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ จากนั้นระหว่าง พ.ศ.2466 – 2480 เริ่มรับผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ขณะเดียว กันก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรและรับนักเรียนผู้จบประโยคมัธยมบริบูรณ์เข้า เรียนอีก 4 คณะ และในระหว่างปี พ.ศ.2481 – 2490 เริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัยคือนักเรียนจะต้องเลือกเรียนตามคณะต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนทำให้มีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยขึ้น

หลังจากนั้น ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2491 – 2503 เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไปในศาสตร์และศิลปวิทยาการต่างๆ โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น และ เริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมและการบริการทางวิชาการให้แก่สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยสถาบันบริการ และศูนย์ เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาตนเอง ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทางให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป

ปัจจุบันมีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 506 สาขาวิชา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเรียนและสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 19 คณะ 1 สำนักวิชา 3 วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย สถาบัน 2 สถาบัน และยังมีสถาบันสมทบอีก 2 สถาบัน ในปีการศึกษา 2556 เปิดสอนด้วยจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 506 สาขาวิชา โดยจำแนกเป็นระดับปริญญาตรี 113 สาขาวิชา, หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 9 สาขาวิชา หลักสูตรระดับปริญญาโท 230 สาขาวิชา หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง 39 สาขาวิชา และหลักสูตรระดับปริญญาเอก 115 สาขาวิชา ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ 87 หลักสูตร

ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ในอดีต

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่จุฬาฯ

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ถือเป็นพิธีสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีขึ้นครั้งแรกในประเทศ บุคคลสำคัญจากหลายสาขาอาชีพได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เช่น เอกอัครราชทูตจากนานาประเทศ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ทำให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการหน้าที่นั่งของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นับแต่นั้นเป็นต้นมา กล่าวคือหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถเสด็จได้ ก็จะเป็นการถวายปฏิญญาต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์ ธรรมเนียมนี้ได้ใช้ปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผลทางกฎหมายก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477  ถึง 4 ปี เพราะมีพระบรมราชโองการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2459 เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิและอำนาจอันชอบธรรมแก่มหาวิทยาลัย ในการประสาทปริญญาแก่นิสิตผู้สำเร็จการศึกษาอยู่ก่อนแล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก: memocent.chula.ac.th

ภาพจาก: อภินิหารตำนาน “จุฬาฯ”, chula

บทความแนะนำ