เพื่อน ๆ อาจจะเคยคิดกันว่า หากเรามองไม่เห็น หรือมีความบกพร่องทางด้านสายตา ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและทำอะไรหลาย ๆ อย่างไม่ได้ด้วย แต่สำหรับ พลอย สโรชา กิตติสิริพันธุ์ เจ้าของผลผงานหนังสือ จนกว่าเด็กปิดตาจะโต และบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง (เกรดเฉลี่ย 3.62) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย
พลอย สโรชา สาวผู้พิการทางสายตา บัณฑิตเกียรตินิยม จุฬาฯ
ถึงแม้ว่าน้องพลอยจะมีความพิการทางด้านสายตา แต่เธอก็ไม่เคยคิดโทษโชคชะตา หรือจมอยู่กับความเศร้าเลย เพราะทุกอย่างที่เป็นทำให้น้องพลอยได้เรียนรู้และเข้าใจถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับน้องพลอยสาวเก่งคนนี้กันให้มากยิ่งขึ้น และยังมีเคล็ดลับการเรียนในรั้วมหาวิยาลัยมาฝากกันด้วยจ๊ะ
ภาพจาก FB : สโรชา กิตติสิริพันธุ์
การใช้ชีวิตในแบบฉบับน้องพลอย
สำหรับ น้องพลอย สโรชา ถึงแม้ว่าจะมีดวงตาที่มองไม่เห็นเนื่องจากโรงมะเร็งจอประสาทตา แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของน้องพลอยเลย โดยน้องพลอยได้เข้าโรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่มองไม่เห็น เพื่อให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ด้านครอบครัวก็เข้าใจและมอบความรักความอบอุ่นให้น้องพลอยเสมอ ส่งเสริมให้น้องพลอยได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน และในชั้นมัธยมศึกษาน้องพลอยก็ได้เข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
หลังจากที่น้องได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมที่โรงเรียนปกติแล้ว น้องพลอยก็ต้องมีการปรับตัวหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อการเรียนการสอน การใช้ชีวิตประจำวัน โดยยังรวมถึงเรื่องเพื่อน ๆ และคุณครูที่โรงเรียนอีกด้วย ซึ่งในช่วงแรก ๆ ถึงแม้ว่าน้องพลอยมีความกดดันเป็นอย่างมาก เพราะต้องเจอทั้งสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ แต่ในความกดดันเหล่านี้ก็ยังมีเรื่องสนุก ๆ และความตื่นเต้นปนอยู่ด้วย ทำให้น้องพลอยมีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้ออกมาดีที่สุด
ภาพจาก : https://goodlifeupdate.com/
ชีวิตการเรียนในคณะที่ใช่
เมื่อขึ้นชั้น ม.ปลาย น้องพลอยก็ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า อยากจะเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและตั้งใจเรียน ทั้งฝึกทำข้อสอบย้อนหลัง ฝึกภาษาอังกฤษ เข้าร่วมการประกวดผลงานเพื่อให้ได้เกียรติบัตร และในที่สุดน้องพลอยก็สามารถสอบติดเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้สำเร็จ และประสบการณ์ที่ได้รับขณะที่เรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ น้องพลอยกล่าวว่ามีหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ การได้เรียนสาขาวิชาที่หลากหลาย การฟังความคิดเห็นของเพื่อน ๆ การทำกิจกรรมชมรม ล้วนช่วยทำให้น้องพลอยได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การรับผิดชอบงานของตนเอง การแบ่งเวลา การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คณะอักษรศาสตร์เปรียบเสมือนสถานที่สำคัญที่ช่วยทำให้น้องพลอยเติบโตอย่างเข้มแข็งมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าที่คณะอักษรศาสตร์เป็นสถานที่แห่งแรกที่เธอได้เข้าไปเรียน โดยไม่มีเพื่อนที่มองไม่เห็นเหมือนกันเข้ามาเรียนด้วย ทำให้น้องพลอยได้รู้จักตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น
ภาพจาก FB : สโรชา กิตติสิริพันธุ์
จุดเริ่มต้นของการเขียนบันทึก
การเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา ในภาคการเรียนที่ 2 ของชั้นปีที่ 3 ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นนักเขียนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากอาจารย์ที่สอนวิชานี้ ได้มอบหมายงานให้นิสิตเขียนบันทึกทุกวันตลอดภาคการศึกษา ถึงแม้ว่าเธอจะไม่เคยเขียนบันทึกมาก่อน แต่เมื่อต้องทำเป็นการบ้านก็ตั้งใจทำให้ออกมาดีที่สุด โดยเรื่องที่บันทึกลงไปนั้น น้องพลอยได้หยิบเรื่องใกล้ตัวมาเขียนในแต่ลวัน พร้อมบันทึกในส่วนของความคิดของตนเองลงไปด้วย และตรงนี้เองที่ทำให้น้องพลอยสังเกตเห็นความคิดของตนเองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน บางวันดี บางวันอาจจะสับสนบ้าง หรือสงสัยในสิ่งที่ตนเองเคยเชื่ออีกด้วย
เมื่อได้ย้อนกลับมาอ่านอีกครั้งก็ทำให้เหมือนเป็นการทบทวนตนเอง เข้าไปกอดตัวเองในวันที่เศร้าแล้วมองตัวเองว่าวันนี้เราดีขึ้นแล้วนะ เราผ่านมาได้แล้ว ทำให้เรารู้จักตัวเองมาขึ้นและมีกำลังใจในการใช้ชีวิตในวันต่อ ๆ ไป
ภาพจาก FB : สโรชา กิตติสิริพันธุ์
หนักสือ “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต”
จากบันทึกประจำวัน การบ้านที่น้องพลอยเขียนอย่างสม่ำเสมอมาเกือบ 2 ปี ได้กลายมาเป็น หนังสือเล่มแรกในชีวิตที่มีชื่อว่า จนกว่าเด็กปิดตาจะโต นอกจากเนื้อความในเล่มน้องพลอยจะเขียนเองทั้งหมดแล้ว ภาพประกอบในเล่มยังเป็นฝีมือของเธอทั้งหมด หนังสือเล่มนี้นอกจากจะได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดีแล้ว ยังได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี (สารคดี) ในการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2559 อีกด้วย และหลังจากที่น้องพลอยเรียนจบแล้วก็ได้เข้าทำงานเป็นบรรณาธิการอยู่ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ข้อคิดดี ๆ จากน้องพลอยในก้าวผ่านอุปสรรค
วิธีคิดของที่ช่วยให้น้องพลอยสามารถก้าวผ่านอุปสรรคและช่วงเวลาที่ท้อได้ คือ คนเราเศร้าได้ แต่อย่านาน ความคิดนี้ช่วยทำให้เรายอมรับความรู้สึกเศร้าได้ กระทั่งเมื่อเรารู้สึกเสียใจพอแล้ว ก็จะเริ่มคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรเพื่อให้หายจากอาการเศร้าเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เราเริ่มต้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปได้ในที่สุด จากปัญหาใหญ่ก็จะเล็กลง และในที่สุดก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนั้นเกิดขึ้นอีกเลย ทำให้เราสามารถก้าวผ่านไปได้อย่างไม่ต้องกลับมากังวลใจอีกแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.arts.chula.ac.th, FB : สโรชา กิตติสิริพันธุ์, https://goodlifeupdate.com/
บทความที่น่าสนใจ
- 6 คนเก่ง ที่ถึงแม้ว่าจะมีความผิดปกติด้านร่างกาย แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ ทำตามความฝันได้สำเร็จ
- 2 บัณฑิตเก่ง หัวใจสู้ พิการร่างกาย แต่ไม่เคยท้อ มุ่งมั่นคว้าใบปริญญาบัตรได้สำเร็จ
- ใจเกินร้อย จ๊ะจ๋า จิณจุฑา บัณฑิตสาวผู้ไม่ยอมแพ้ ถึงแม้จะป่วยเป็นโรคกระดูกเปราะ
- สวยเก่ง ความคิดดีเลิศ วัน-ปาณิสรา ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวสาวทุพพลภาพ คนแรกของจุฬาฯ