คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์สาขาวิชาเคมี โชว์ผลงาน “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” นวัตกรรมสเปรย์จากสารเคลือบมหัศจรรย์จากกากรำข้าว ยืดอายุดอกไม้ ผลไม้ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ให้คงสภาพสดใหม่ สวยงามต้านกาลเวลา
โดยพัฒนามาจากการนำกากรำข้าวที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติในการช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ ผลไม้ หรือพืชผักต่าง ๆ ให้ยังคงความสดใหม่ ชะลออายุของผลิตผลให้เน่าเสียช้าลงได้ยาวนานถึง 14 วัน ตอบโจทย์เทศกาลทางศาสนา เตรียมต่อยอดส่งเสริมธุรกิจดอกไม้
วิทยาศาสตร์ฯ มธ. โชว์ “เมโลดี้ เฟรช” นวัตกรรมสเปรย์ยืดพวงมาลัย ฉ่ำนาน 14 วัน
นวัตกรรม “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” สเปรย์ธรรมชาติยืดอายุพวงมาลัยจากสารเคลือบจากกากรำข้าว” ผลงานของนักศึกษา คณะวิทย์ฯ มธ. สาขาวิชาเคมี ย้ำไอเดีย “SCI+BUSINESS” แก้ปัญหาธุรกิจการันตีผลงานด้วยการกวาดรางวัลมากมายการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นางสาวพรรณวดี จันทร์ทอง นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเคมี กล่าวว่า
สำหรับ “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” เป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยยืดอายุดอกไม้ ผลไม้สด และผลผลิตทางการเกษตร ได้ยาวนานมากกว่า 14 วัน โดยพัฒนาและต่อยอดมาจากกากรำข้าวที่เหลือทิ้ง จากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสารเคลือบดังกล่าวนี้มี ส่วนผสมหลักคือผลึกนาโนเซลลูโลส (Nanocellulose) ที่สกัดมาจากกากรำข้าว มีคุณสมบัติในการช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ ผลไม้ หรือผักต่าง ๆ ให้ยังคงความสดใหม่ ช่วยชะลออายุของผลิตผลให้เน่าเสียช้าลงได้

ทั้งนี้ “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” เป็นผลงานวิจัยร่วมกับ นางสาวธมนวรรณ อังกุรทิพากร นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาเคมี โดยมี รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวได้จดอนุสิทธิบัตร และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไป
สำหรับขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต เริ่มจากการสกัดผลึกนาโนเซลลูโลสจากกากรำข้าว ซึ่งเป็นการนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการสีข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากนั้นเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลึกนาโนเซลลูโลส (Nanocellulose) ด้วยการนำมาทำสารเคลือบโดยให้อยู่ในรูปของระบบอิมัลชั่น (emulsion) ที่สามารถควบคุมความชื้น การแลกเปลี่ยนก๊าซต่าง ๆ และการเกิดออกซิเดชัน ซึ่งส่งผลต่อการยืดอายุผลไม้หรือดอกไม้ ลดอัตราการเกิดก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์จากการหายใจ จึงช่วยรักษาคงสภาพของผลผลิตได้เป็นอย่างดี
ส่วนวิธีการใช้สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายในรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทา ชุบ หรือฉีด และปล่อยทิ้งให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
เมโลดี้ เฟรช (Melody Fresh)
กระบวนการดังกล่าวจะไม่ทิ้งสารตกค้างในผลผลิต โดยปริมาณสารขนาด 100 มิลลิลิตร สามารถใช้ทาผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น ผลกล้วยหอมดิบ ได้ถึง 25-30 ลูก เป็นต้น เรียกได้ว่าตอบโจทย์เรื่องปัญหาการเน่าเสียของผลผลิตของภาคการเกษตร ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก
นอกจากนี้ผู้บริโภคทั่วไปให้สามารถนำสารดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ใช้เคลือบดอกไม้ที่ใช้ไหว้พระ หรือดอกไม้ที่ใช้มอบเป็นของขวัญในช่วงโอกาสสำคัญต่าง ๆ ให้ดูสดใหม่ เหี่ยวเฉาช้าลง ตลอดจนพืชผักผลไม้ที่ต้องการให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นกว่าปกติได้อีกด้วยเช่นกัน

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีกว่าประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิต ไม่ว่าจะเป็น พืช ผัก และผลไม้สด เป็นสินค้าที่ใช้บริโภครวมถึงยังส่งออกที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล แต่จากข้อจำกัดของผลผลิตส่วนใหญ่เหล่านี้ คือจะมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน จึงทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค รวมถึงการส่งออกเป็นอย่างมาก ซึ่ง “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” นวัตกรรมสเปรย์จากสารเคลือบมหัศจรรย์จากกากรำข้าวชิ้นนี้ ถือเป็นหนึ่งในผลงานการประดิษฐ์ของนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ที่จะมาช่วยตอบโจทย์ปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
การคิดค้นนวัตกรรมเหล่านี้ สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของคณะวิทย์ฯ ที่ต้องการมุ่งเน้นผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้กล้าคิด กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ กับแนวคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial mindset) เข้าด้วยกัน จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพ ในการต่อยอดเป็นธุรกิจหรือแก้ปัญหาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน พระสุวิมลธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กล่าวว่า
หากพูดถึงการใช้ดอกไม้ในสังคมไทย นอกจากการนำดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มาใช้ประกอบอาหาร การนำดอกไม้จากธรรมชาติมาประดิษฐ์ถักร้อยเป็นเครื่องตกแต่งต่างๆ แล้วนั้น ยังจะได้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของดอกไม้กับคติความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของผู้คนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในสังคมไทยให้ความเคารพนับถือ โดยเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ต่างพากันเข้าวัดทำบุญ เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ตัวเอง
นอกจากอาหาร หรือเครื่องสังฆทานที่นำมาถวายพระแล้ว ยังมีดอกไม้ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะดอกไม้เป็นเครื่องหมายแห่งความสดชื่นแจ่มใส และรุ่งเรือง
ซึ่งการที่นำดอกไม้ไปบูชาพระหรือถวายพระนั้น มีความเชื่อว่า ดอกไม้ที่เลือกใช้บูชาพระ จะต้องเป็นดอกไม้ที่สดใหม่ และสวยงาม จึงต้องมีความพิถีพิถันในการเลือกดอกที่งดงามเป็นพิเศษเพื่อมาถวายหรือบูชา เพื่อที่จะช่วยให้ชีวิตเราสวยงามตามไปด้วยดั่งดอกไม้ หากเลือกดอกไม้ที่เหี่ยวเฉามา ชีวิตก็โรยราตามดอกไม้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงได้เห็นการเลือกใช้ดอกไม้สดใหม่ในการไหว้หรือถวายพระมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน
และเนื่องด้วยในวันอาสาฬหบูชาปี 2562 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม นอกจากพิธีกรรมโดยทั่วไปที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นิยมกระทำในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์แล้วนั้น
พุทธศาสนิกชนควรตระหนักถึงหัวใจสำคัญจากวันอาสาฬหบูชา ด้วยการทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนอยู่เสมอ รวมถึงควรปฏิบัติตนตามหลักธรรมในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติสายกลาง คือ อริยมรรค 8 อันสรุปได้ว่า ควรปฏิบัติตนให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ตลอดจนอย่าลืมการละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการตั้งกุศลจิตในการคิดดี ทำดี พูดดี การทำความดีให้เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ไม่จำเป็นต้องเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
“เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลไม้และดอกไม้ โดยสารเคลือบนี้มีส่วนผสมหลักคือ ผลึกนาโนเซลลูโลส ที่สกัดมาจากกากรำข้าว ซึ่งเป็นของเสียที่มาจากกระบวนการสีข้าว สารเคลือบจากกากรำข้าว มีความสามารถในการช่วยให้ผลไม้ยังมีความสดใหม่ ช่วยชะลอการสุกของผลไม้ ทำให้ยืดอายุของผลไม้ให้สุกช้าลงได้ ไม่เน่าเสียก่อนการขายออกตลาด
โดยขั้นตอนการผลิตจะเริ่มจากการสกัดผลึกนาโนเซลลูโลสจากกากรำข้าว ซึ่งเป็นการนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการสีข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จากนั้นเป็นการเพิ่มคุณค่าของผลึกนาโนเซลลูโลสนี้ด้วยการนำมาทำสารเคลือบโดยให้อยู่ในรูปของ Water-based emulsion system ที่สามารถควบคุมความชื้น การแลกเปลี่ยนก๊าซต่างๆ และการเกิดออกซิเดชัน ซึ่งส่งผลต่อการยืดอายุผลไม้หรือดอกไม้
Features of Melody fresh
– มีความเป็นพิษต่ำ
– มีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพ
– ใช้เทคนิคการเคลือบผลไม้ด้วย Water-based emulsion system
– สามารถลดอัตราการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอัตราการหายใจ ทำให้ชะลอการสุกของผลไม้และยืดอายุของผลไม้ได้
Benefits of Melody fresh
– ทำให้สามารถขยายตลาดสำหรับการขายผลไม้และดอกไม้สด
– ทำให้การส่งออกผลไม้เมืองร้อนแบบสดใหม่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
– ทำให้การใช้ประโยชน์จากดอกไม้สดเป็นไปได้ง่ายขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจนวัตกรรม “เมโลดี้ เฟรช” (Melody Fresh) หรือ “สารเคลือบจากกากรำข้าว” สามารถขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. 0-2564-4440-59 ต่อ 2409 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045
เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat