การประกวด ผลงานนักศึกษา ม.มหาสารคาม มมส หุ่นฟาง

หนอนหุ่นฟางยักษ์ – ผลงานชนะเลิศ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มมส งานเทศกาลหุ่นฟางโคราช

Home / กิจกรรม / หนอนหุ่นฟางยักษ์ – ผลงานชนะเลิศ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มมส งานเทศกาลหุ่นฟางโคราช

สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จัดเทศกาลหุ่นฟางโคราช ณ ศูนย์หนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเมืองศิลปวัฒนธรรม Art and Culture สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Thailand Biennale Korat 2020

งานเทศกาลหุ่นฟางโคราช – หนอนหุ่นฟางยักษ์

ที่ระดมประชาชน ช่างฝีมือ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จาก 8 สถาบันทั่วประเทศ มาโชว์ฝีมือเชิงประติมากรรมประดิษฐ์หุ่นฟางเชิงศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ โคราชดินแดนบรรพชีวิน มีผลงานส่งเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 20 ตัว แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประชาชนทั่วไป และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จัดระหว่างวันที่ 1 -10 กันยายน 2562 ชิงเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท

สำหรับการประกวดในครั้งนี้ นิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งประกวดในชื่อทีม “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ชื่อผลงาน “หนอน” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ คว้าเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

โดยทีม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ ชั้น ปีที่ 2 และ ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งหมด 9 คน ได้แก่ นาย ณัฐพงษ์ พิมพ์กลาง นาย ยุทธศาสตร์ บุญจวง นาย ปริญญา ศรีเทพ นาย ธนาธิป กสิบุตร นาย ชญานนท์ แสงพันธ์ นาย คฑายุทธ แฝงพิมาย นายเอกนรินทร์ พงทะวงษ์ นายธีรพล สีอิ่น และนายนนทวัฒน์ ป้องศรี

แนวคิดในการออกแบบ

แนวคิดในการออกแบบผลงานหุ่นฟางยักษ์ “หนอน” คือ หนอนไหมในรูปแบบการ์ตูน เพื่อให้เป็นขวัญใจของเด็กๆ และดึงดูดให้คนทั่วไปให้หันมาสนใจที่มา และชีวิตของหนอนไหมมากขึ้น เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจจะคุ้นเตยกับผ้าไหม หรือเครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม แต่อาจจะไม่ได้รู้จักหรือให้ความสนใจตัวหนอนไหมนี้มากนัก เพราะอาจเป็นเพราะรูปลักษณ์ที่น่าเกลียดในความรู้สึกของคนทั่วไป เมืองโคราชหลายพื้นที่ก็นิยมเลี้ยงไหมกัน โดยเฉพาะอำเภอปะทาย หนอนตัวนี้อาจจะทำให้คนรู้จักอำเภอปะทาย และเมืองโคราชมากยิ่งขึ้นด้วย

ลักษณะรูปทรง ต้องการให้รูปทรงรู้สึกเคลื่อนไหว ด้วยเส้นโค้ง และจังหวะของปล้องลำตัว เน้นความน่ารัก สร้างสีสันด้วยวัสดุในท้องถิ่น(กะลา)ผสมผสานกับวัสดุสำเร็จรูปตามยุคสมัย หาได้ตามท้องตลาด รูปใบหน้าเป็นเด็กหญิงเพื่อดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ และผู้คน จังหวะโค้งกลางลำตัวหนอนมีชิงช้า เพื่อให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งในผลงานประติมากรรม

ทั้งนี้ ประติมากรรมหนอนไหมในรูปแบบการ์ตูนนี้จะทำให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น และจะทำให้คนได้หันมาสนใจวงจรชีวิต ความสำคัญในตัวเขา และพื้นที่ที่เลี้ยงหม่อนไหมในจังหวัดนครราชสีมา